วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แก้ปัญหา‘คนเร่ร่อน’ง่ายนิดเดียว /โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On April 13, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

การปัดเป่าปัญหาคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไม่ใช่ “กำจัด” หรือไม่เห็นสิทธิมนุษยชน ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยาก อยู่ที่รัฐจะเอาจริงหรือไม่ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการสำรวจจำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร โดยมีนายนที สรวารี เป็นประธานคณะทำงานสำรวจและรายงานผลว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในปี 2559 จำนวน 3,455 คน แยกเป็นชาย 2,112 คน (61%) และหญิง 1,374 คน (39%) เขตพระนครมีมากที่สุด 604 คน (17%) รองลงมาคือ บางซื่อ 301 คน (9%) จตุจักร 249 คน (7%) ปทุมวัน 218 คน (6%) สัมพันธวงศ์ 203 คน คลองเตย 152 คน (4%) ราชเทวี 149 คน (4%) พญาไท 142 คน (6%) บางกะปิ 140 คน (4%) และบางรัก 136 คน (4%)

บุคคลเหล่านี้สามารถแยกเป็นกลุ่มที่เร่ร่อนไปมา 993 คน (29%) รองลงมาคือกลุ่มติดสุรา 858 คน (25%) นอนหลับชั่วคราว 853 คน (25%) บ้างก็เป็นผู้เพิ่งพ้นโทษ ผู้ป่วยข้างถนนที่เป็นครอบครัวและเป็นบุคคล มีชาวตะวันตกเร่ร่อนอยู่ 25 คน กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน 51 คน และผู้ให้บริการทางเพศ 28 คน

คนเร่ร่อนแตกต่างจากขอทาน ขอทานเป็นอาชีพที่ใช้ความน่ารักน่าสงสารให้มีผู้ให้เงิน ทำนองการหลอกลวงประชาชน ขอทานมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก ค่าเฉลี่ยรายได้ของขอทานคนหนึ่งประมาณ 2,000-5,000 บาทต่อวัน รายได้ต่ำสุดคือ 500 บาท ขอทานที่มีรายได้สูงจะทำตัวให้สกปรกที่สุด น่าสงสารเวทนาที่สุด หาก (แสร้ง) ทำแผลให้เหวอะหวะ (โดยใช้ถุงน่อง) ยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงพบขอทานเกลื่อนเมือง โดยเฉพาะในใจกลางกรุงเทพฯ

ส่วนคนเร่ร่อนมีลักษณะแตกต่างออกไปจากขอทานทั่วไป ซึ่งมีชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ขอทานเป็นอาชีพที่ขายความน่ารักน่าสงสาร กลายเป็นการทำบุญได้บาป แต่คนเร่ร่อนเกิดขึ้นจากปัญหาที่รุมเร้าต่างๆจนต้องออกมาเร่ร่อน เราพึงเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาและหาทางให้กลับสู่สังคมโดยเร็ว พวกเขาไม่ใช่ขอทานที่งอมืองอเท้าขอเงิน การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนจะทำให้

1.คนเร่ร่อนมีที่พักพิงแน่นอน ไม่เป็นภาระแก่สังคม และไม่ทำให้สังคมรู้สึกว่าได้รับอันตราย

2.คนเร่ร่อนไม่ต้องทรุดหนักลงเป็นบุคคลทุพพลภาพทางจิต หรือกลายเป็นปัญหาการรักษาพยาบาลที่หนักขึ้น

3.มีโอกาสพัฒนาคนเร่ร่อนให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.โอกาสที่สังคมจะเกิดคนเร่ร่อนจะน้อยลงหากสังคมได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้

การช่วยเหลือคนเร่ร่อนถือเป็นหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถปล่อยให้มนุษย์ด้วยกันเร่ร่อนเช่นเดียวกับสุนัขจรจัด ต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม การช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแบบไม่สิ้นสุด แต่เพื่อให้เขาสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปรกติสุขนั่นเอง หลักสิทธิมนุษยชนนี้ถือเป็นกฎหมาย เพราะประเทศต่างๆรวมทั้งไทยต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้

ในระดับชาติประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 ซึ่งมีสาระสำคัญในการช่วยเหลือคนเร่ร่อนในฐานะคนไร้ที่พึ่งเช่นกัน ในประเทศอื่น เช่น สหรัฐ สกอตแลนด์ ก็มีกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติ และในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาคนเร่ร่อนในหลายประเทศเช่นกัน

การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนทำได้ยาก เพราะที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดราว 2.7 ล้านล้านบาท หรือ 0.37% เท่านั้น ไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีมากกว่านี้ โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ควรแบ่งเงินมาพัฒนาสังคมมากกว่านี้

ในการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนนั้น ในกรณีกรุงเทพฯอาจมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมุติ ณ ระดับที่ 4,000 คน หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ เป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่างบประมาณปีละ 730 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของ กทม. ถ้า “เจียด” เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนจะหมดไปได้อย่างง่ายดาย

โดยสรุปแล้วการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก หากรัฐบาลจัดงบประมาณเพื่อการนี้ และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ปัญหานี้ก็สามารถได้รับการแก้ไขเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อย่าให้เกิดการบีบคั้นจนสังคมมีคนเร่ร่อนเต็มไปหมด


You must be logged in to post a comment Login