- ปีดับคนดังPosted 43 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ใช้‘ม.44’กระเช้าภูกระดึง / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย
เห็นนายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 พักงานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือย้ายคนโน้นคนนี้ ผมเลยอยากให้ท่านนายกฯใช้มาตรา 44 ทำสิ่งดีๆเพื่อชาติบ้างครับ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย มีมติมหาชนเป็นผู้ให้การสนับสนุน ที่สำคัญไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ผมเคยทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย (http://bit.ly/1povC3l) ปรากฏว่าประชาชนแทบทั้งหมดเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้า ซึ่งถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
ผลการสำรวจยืนยันผลการสำรวจของทางราชการ และศูนย์ข้อมูล-วิจัยอสังหาริมทรัพย์ได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนต่อการสร้างกระเช้านี้ พบว่าประชาชนถึงประมาณ 97% ต้องการให้สร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข 99% ที่ทางราชการสำรวจ
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการบางส่วนที่เข้าใจว่าโครงการนี้จะทำลายป่า โดยเฉพาะข้าราชการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ขอออกความเห็นและบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย โดยรวมแล้วข้าราชการที่มีสัดส่วนเห็นด้วยมีถึง 80% แต่จำนวนข้าราชการเป็นเพียงส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้น สัดส่วนโดยรวมของผู้เห็นด้วยกับกระเช้าไฟฟ้าจึงสูงมากเกือบ 100% เช่นเดิม
การที่ประชาชนในพื้นที่แทบทั้งหมดต้องการให้มีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า แสดงถึงมติมหาชนที่พึงเคารพและเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาของประชาชนที่ผ่านการเรียนรู้มาด้วยตนเองว่า กระเช้าไฟฟ้ามีประโยชน์จริง ไม่เฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศที่จะมาใช้บริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับทางราชการในการนำเงินมาอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้จนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ความต้องการของประชาชนต่อภูกระดึงไม่ใช่การครอบครองทรัพยากรของชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนถ่ายเดียว
ส่วนประเด็นปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการมีกระเช้านั้นก็ไม่เป็นความจริง ดังรายละเอียดดังนี้
1.ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการก่อสร้างกระเช้าที่เป็นเพียงเสาห่างๆและสถานีไม่เป็นปัญหาต่อการทำลายป่า การมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นส่วนมากเพียงขึ้นมาชมทัศนียภาพภายในครึ่งวันหรือ 1 วัน ไม่ได้ลงไปทำร้ายธรรมชาติ คงมีเพียงน้อยนิดที่จะลงไปเดินเท้าอีกนับสิบกิโลเมตร ซึ่งต้องมีการควบคุมให้เคร่งครัด หากมีรายได้จากกระเช้าย่อมมีงบประมาณในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลได้เพียงพอและมีเงินพัฒนาป่าไม้ได้อีกด้วย การท่องเที่ยวด้วยกระเช้าถือเป็นการท่องเที่ยวที่แทบไม่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อม (Low carbon tourism หรือ Carbon neutral tourism)
2.ลูกหาบ ซึ่งมีเพียง 330 คน และส่วนมากก็มีวัยวุฒิแล้ว บางคนเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพลูกหาบ ในอนาคตคงไม่มีลูกหาบเหลือ เพราะลูกหลานต่างมีการศึกษาสูงขึ้น จึงเป็นเพียงอาชีพเสริม ทำงานเดือนละไม่กี่วัน เพราะมีเพียงปีละ 2 เดือนที่มีนักท่องเที่ยวมาก เดือนอื่นๆจะมีนักท่องเที่ยวไม่กี่สิบคนต่อวัน น้อยกว่าจำนวนลูกหาบ ในแต่ละปีภูกระดึงปิด 4 เดือน ลูกหาบก็เคยร่วมทำข้อตกลงสนับสนุนการสร้างกระเช้า และทางราชการก็ยินดีจัดหางานอื่นให้ หากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นย่อมมีงานทดแทนที่ดีกว่า
3.การผูกขาดในธุรกิจด้านการบริการ การบริหารจัดการต้องดีและโปร่งใส ตั้งแต่การประมูลผู้ให้บริการด้านต่างๆ อย่างกรณีร้านค้าควรมีการประมูลและจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อร้านค้าที่เสนอบริการที่คุ้มค่าที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการคือนักท่องเที่ยว
4.เอกลักษณ์ในการท่องเที่ยวภูกระดึงไม่ได้ถูกทำลาย นักท่องเที่ยวที่สนใจเดินขึ้นภูยังทำได้ ไม่มีใครห้าม แต่การสร้างกระเช้าจะทำให้ผู้สูงวัยหรือผู้ที่ไม่แข็งแรงมีโอกาสขึ้นไปชมทัศนียภาพ ลำพังสถานีและเส้นทางกระเช้าก็เปรียบขนาดเส้นผมเส้นหนึ่ง คงไม่อาจทำลายทัศนียภาพของภูกระดึงได้
5.งบประมาณ ไม่ได้สูง เพราะใช้เงินเพียง 633 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ในปัจจุบันหากจ้างลูกหาบแบกขึ้นเที่ยวเดียวจะเสียค่าบริการประมาณ 4,000 บาท ซึ่งสูงมากหากเทียบกับค่ากระเช้าประมาณ 500 บาท ค่ารถทัวร์จากกรุงเทพฯไปภูกระดึง 500 บาท หรือค่าเครื่องบินกรุงเทพฯ-เลย 800 บาท
6.ขยะ-น้ำเสียจะไม่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันค่าจ้างหาบของขึ้นภูกระดึงกิโลกรัมละ 30 บาท โอกาสที่ขยะตกค้างเพราะต้นทุนการขนลงมาสูงมาก หากมีกระเช้าก็สามารถขนถ่ายขยะได้ง่ายขึ้น ไม่ตกค้างตามรายทางเช่นเดิม และยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการวางแผนดูแลขยะ-น้ำเสียและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ความวิตกกังวลต่างๆสามารถจัดการได้ อย่าให้ผู้ใดมาอาศัยข้ออ้างดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ส่วนการสำรวจที่พบกลุ่มต่อต้านก็เป็นคนนอกพื้นที่หรือจากภาคอื่นมาปลุกระดมให้ประชาชนสับสน แต่ประชาชนแทบทั้งหมดก็เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้า และที่ควรพิจารณาอีกคือ
1.ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตหรือป่วย ไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที หากมีกระเช้าไฟฟ้าก็คงไม่สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
2.ทุกวันนี้การท่องเที่ยวภูกระดึงมีแต่ถดถอย เพราะยังคงลักษณะเดิมๆมาตลอด 20 ปี ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ เช่น ภูทับเบิก ภูป่าเปาะ ฟูจิเมืองเลย คุนหมิงเมืองไทย มีรถยนต์เข้าถึง ยิ่งกว่านั้นภูกระดึงยังเป็นเมืองปิด โอกาสเติบโตจึงมีจำกัด
3.ประชาชนภูกระดึงต่างเฝ้าคอยจะได้โครงการกระเช้ามานับสิบปีแล้วเพื่อทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น ประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปาก ไม่เป็นภาระแก่สังคม และจ่ายภาษีจุนเจือสังคมได้ แต่หากเศรษฐกิจฝืดเคืองก็อาจต้องย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น
คสช. ควรใช้มาตรา 44 สร้างสรรค์บ้าง อย่าใช้แต่ในเรื่องการเมืองเท่านั้น
You must be logged in to post a comment Login