วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เป้าหมายมีไว้ชน

On September 2, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ส่งกันไปมาสองสามรอบสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับศาลรัฐธรรมนูญ โดยข่าวบอกว่ามีปัญหาเรื่องระบบเอกสารที่ไม่ครบตามระเบียบ ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาที่ กรธ.ไม่ได้แก้ไขอะไรเพิ่มเติม

น่าสงสัยเหมือนกันว่า กรธ.ที่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ทำงานด้านกฎหมายมาตลอดชีวิตทำไมถึงพลาดเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับกฎระเบียบเล็กๆน้อยๆ ในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญยังต้องรอผลการพิจารณาจากศาลฯว่า เนื้อหาที่ กรธ.เขียนไปนั้นสอดคล้องกับคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือไม่ ในทางการเมืองก็มีประเด็นใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดกับกรณี คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานเสนอต่อ กรธ. เรื่องการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส.

ข้อเสนอทั้งหมดมี 11 ส่วน 27 หน้า มีสาระสำคัญที่น่าสนใจคือ

1.ให้โอนอำนาจจัดเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับไปให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดเลือกตั้งทุกระดับรวมถึงการออกเสียงประชามติ

2.ให้มีบทลงโทษบางประการกับผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับต้องได้รับโทษมากกว่าประชาชนทั่วไปคือให้มีโทษทางวินัยเพิ่มเติมด้วย

3.ผู้ประสงค์จะลงสมัครเลือกตั้งต้องเปิดตัวให้ประชาชนรับรู้ก่อนเลือกตั้ง 1 ปี และต้องเข้ารับการอบรมจาก กกต.

4.ให้รัฐจัดงบประมาณส่วนหนึ่งสนับสนุนการหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง ให้กกต.จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับผู้สมัครแจกจ่ายประชาชนทุกครัวเรือน

5.ห้ามผู้สมัครส.ส.ใส่ซองช่วยงานศพ งานแต่ง งานบวชและให้เงินช่วยเหลืองานตามประเพณีต่างๆภายในเขตเลือกตั้งที่ลงสมัคร

6.ขายเวลาการใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งไปถึง 18.00 น. และให้พัฒนาระบบลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

7.ให้ประชาชนสามารถร้องคัดค้านผลเลือกตั้งต่อ กกต.ในฐานะผู้เสียหายได้

8.ให้ยกเลิก กกต.จังหวัดแล้วให้ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองเข้าไปทำหน้าที่แทน โดยมีกกต.เป็นผู้บังคับบัญชา

9.เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่สอบสวนของกกต.ให้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้เวลาทำสำนวน 15 วันก่อนส่งให้กกต.ยื่นฟ้องศาลภายใน 15 วัน โดยศาลต้องมีคำพิพากษาภายใน 30 วัน

10.ผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตต้องถูกถอนสิทธิ์เลือกตั้งตลอดชีวิต และให้มีมาตรการทางอาญา ทางแพ่ง และทางการเมือง อย่างรุนแรง และรวดเร็ว เช่น โทษตัดสิทธิ์ตลอดลงสมัครเลือกตั้งชีวิต โทษจำคุก 1-10 ปี ไม่รอลงอาญา และโทษปรับ 20 ล้านบาท อายุความ 20 ปี

หากพบว่าการกระทำนั้นมีหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรครู้เห็นแล้วไม่ระงับยับยั้งต้องมีความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง

11.ประชาชนที่เป็นผู้แจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้งเมื่อคดีถึงที่สุดจะได้รับรางวัลไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท

12.กำหนดบทเฉพาะกาลให้การเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2560 ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกกต.ในการควบคุมการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันข้อครหาปฏิวัติล้มเหลว

ต้องย้ำว่าทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง สปท. ทั้งหมดจะมีผลเกิดขึ้นจริงหรือไม่อยู่ที่การเขียนกฎหมายลูกของ กรธ.

ถ้าเอาตามที่เสนอมาทั้งหมดนี้ก็ต้องถือว่าเดินหน้ากันสุดตัวเพื่อไม่ให้ผลการเลือกตั้งกระทบต่อเป้าหมายที่วางไว้และที่จะทำต่อไปในวันข้างหน้า โดยเฉพาะการให้ กระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้งและให้คสช.คุมเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login