- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สันติสุขแอฟริกากลาง / โดย กองบรรณาธิการ
คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ
ทวีปแอฟริกา เป็นอีกทวีปที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความวุ่นวาย และผู้คนยังต้องการความสงบสุข
รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาด้วยการเจรจากับกลุ่มกบฏมุสลิมเซลากา แต่ตัวแทนกลุ่มกบฏเซเลกา ยังกังวลถึงความล่าช้าในโครงการของรัฐบาลที่ให้คำมั่นจะเปิดรับพวกเขากลับคืนสู่สังคม หลังเหล่าอดีตกบฏซึ่งยินยอมวางอาวุธไปแล้วจำนวนนับพันชีวิตยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากภายในค่ายกักกัน
โดยตอนนี้ อดีตสมาชิกกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกาจำนวนกว่า 1,000 คนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในค่ายกักกันที่เขตเบอาล ในกรุงบังกี ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ เพื่อรอคอยการกลับคืนสู่สังคม ตามโครงการของรัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกากลางที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2013
“พวกเรายอมอยู่ที่นี่เพื่อสันติภาพ เราต่างก็ต้องการให้สันติภาพกลับคืนสู่ประเทศของเรา แต่เราขอให้ทางรัฐบาลช่วยเร่งรัดโครงการนี้ที่จะเปิดโอกาสให้พวกเราได้กลับคืนสู่สังคมและมีงานทำเช่นเดียวกับพลเรือนทั่วไป” เบนี เกเตมาเล หนึ่งในอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏเซเลกา กล่าว
เกเตมาเล เพิ่มเติมอีกว่าในบรรดาอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏเหล่านี้มีทั้งพวกที่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบเยี่ยงพลเรือน กับพวกที่ต้องการเข้ารับราชการในกองทัพแอฟริกากลาง
ส่วน พลเอก คาริม มะฮามัต อดีตแม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายกบฏอย่าง กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกากลางจะต้องเร่งดำเนินการให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ ในการปล่อยสมาชิกฝ่ายกบฏที่ยอมวางอาวุธแล้วกลับคืนสู่สังคม พร้อมกับให้ความช่วยเหลือพวกเขาในการหางานทำ ซึ่งในที่นี้นับรวมถึงตำแหน่งงานภายในกองทัพ
นอกเหนือจากอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏเซเลกาในค่ายกักกันที่เบอาลแล้ว ยังมีอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏนี้อีกมากกว่า 6,000 คนที่กระจัดกระจายอยู่ตามค่ายกักกันอื่นๆของรัฐบาลเพื่อรอคอยการกลับคืนสู่สังคมเช่นเดียวกัน โดยที่พวกเขาเหล่านี้ประทังชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวันด้วยความช่วยเหลือด้านอาหารที่รัฐบาลแอฟริกากลาง และองค์กรระหว่างประเทศเป็นผู้จัดหาให้ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ถ้าจะย้อนไปถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายในแอฟริกากลางต้องย้อนไปเดือนมีนาคม ปี 2013 ภายหลังจากที่ระบอบการปกครองที่นำโดยประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โบซิเซ ซึ่งเป็นชาวคริสต์ ถูกโค่นอำนาจโดยกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกา หลังเข้ายึดอำนาจ สมาชิกกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกาได้ก่อเหตุสังหารโหดชาวคริสต์แบบไม่เลือกหน้า เป็นเหตุให้ชาวคริสต์รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลัง “แอนตี้-บาลากา” ขึ้น เพื่อสังหารหมู่ชาวมุสลิมเป็นการแก้แค้น นำไปสู่ความขัดแย้งเต็มรูปแบบระหว่างผู้นับถือศาสนาทั้งสองที่มีสัดส่วนพอๆกันในประเทศแห่งนี้
ที่ผ่านมากองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเพื่อการสร้างเสถียรภาพในแอฟริกากลาง หรือ MINUSCA สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงบังกี ที่เป็นเมืองหลวงให้กลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยไว้ได้ แต่ในพื้นที่อื่นๆนอกกรุงบังกีแล้ว มีการฆ่าล้างแค้นกันไปมาระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมเป็นรายวัน
งานนี้จึงพยายามที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น โดยมีโครงการคืนอดีตสมาชิกฝ่ายกบฏกลับคืนสู่สังคมดังที่กล่าวมา แต่ว่าก็เป็นไปได้ช้าเพราะประสบปัญหาด้านงบประมาณ โดยแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลในกรุงบังกีเปิดเผยว่า อาจต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าที่โครงการดังกล่าวนี้จะลุล่วง
ซึ่งได้แต่ภาวนาให้โครงการนี้ไปได้ดี และขอให้ความสงบในแอฟริกากลางเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางศาสนาและการเมืองในสาธารณรัฐแอฟริกากลางได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5,000 ราย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2013 เป็นต้นมา
You must be logged in to post a comment Login