วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

แปรรูปโรงพยาบาลรัฐ / โดย ณ สันมหาพล

On September 5, 2016

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

เดือนที่แล้วผู้เขียนได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาค ต้องชมเชยการรักษาและการบริการว่าดีเลิศจนคิดว่าน่าจะพัฒนาให้อยู่ในระดับโลกได้ คือพูดในฐานะที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลรัฐในประเทศมานาน ทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ยังไม่รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนทั้งที่หรูหราและไม่หรูหรา

ที่ยกนิ้วให้โรงพยาบาลรัฐแห่งนี้ เพราะมีหน่วยงานของตัวเองไม่ขึ้นตรงกับส่วนกลางที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ รวมทั้งการดูแลตัวเองแก่ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป โดยทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนถึงระดับคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคประจำตัวให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่เรียนประถมศึกษาทุกโรงเรียนในพื้นที่

นอกจากการให้ความรู้ต่างๆแล้ว ผู้เขียนยังทึ่งกับการให้บริการและการดูแลผู้ป่วย เพราะไม่นึกว่าสังคมไทยที่ไม่รู้จักการเข้าแถวและการรอคอย แต่ที่โรงพยาบาลกลับเห็นคนเข้าแถวและรอคอย ซึ่งไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่มายืนควบคุม เพราะโรงพยาบาลมีการจัดระเบียบผู้มาใช้บริการอย่างดีและมีการปรับปรุงแก้ไขตลอดเวลา

ปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลทำได้สะดวกจากสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลผิดๆได้หากไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการ

การให้ความรู้และบริการที่ดีถือเป็นงานหลักของโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลก อย่างโรงพยาบาลที่คนทั่วโลกพูดถึงคือ Mayo และ Mount Sinai ในสหรัฐอเมริกา ยิ่งยุคนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาคนสูงอายุ ถ้าไม่มีการให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง โรงพยาบาลก็จะเต็มไปด้วยคนไข้ที่นอนติดเตียง

ผู้เขียนเคยอ่านข้อเขียนชาวต่างชาติถึงบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและพยาบาลว่ามีจิตใจที่ดีต่อผู้มาใช้บริการ ทั้งที่มีฐานะสูงทางสังคมก็ไม่แสดงความหยิ่ง ซึ่งการมีจิตใจที่ดีเช่นนี้เป็นที่ทราบกันนานแล้วในหมู่ชาวต่างชาติกรณีที่แพทย์และพยาบาลไทยออกไปทำงานในต่างประเทศมาก จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมชาวต่างชาติถึงนิยมมาใช้บริการการแพทย์ในไทย

ผู้เขียนจึงคิดว่าทำไมไม่ใช้โรงพยาบาลรัฐเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล นอกจากทำให้มีรายได้เข้าประเทศแล้ว ยังทำให้ประเทศมีชื่อเสียงและอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย วิธีง่ายๆวิธีหนึ่งคือ นำโรงพยาบาลรัฐเข้าตลาดหลักทรัพย์ แปรรูปให้เป็นโรงพยาบาลที่บริหารโดยบริษัทมหาชนที่ให้การรักษาพยาบาลประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

การให้บริการสามารถแบ่งระดับผู้มารักษา ทั้งผู้ที่มีฐานะพอจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลจนถึงผู้ยากจนที่ไม่เสียค่ารักษา ซึ่งอาจรวมถึงเงินชดเชยรายได้และค่าเดินทาง เพราะหลายพื้นที่ของไทยยังมีชุมชนที่อยู่ห่างไกลและประชาชนไม่มีเงินพอจะเดินทางเพื่อเข้าไปรับบริการทางการแพทย์ในพื้นที่เจริญ ยังไม่รวมครอบครัวที่ต้องเป็นภาระ ซึ่งคนเหล่านี้ยากจนจริงๆ

ภารกิจที่จะขาดไม่ได้เลยของโรงพยาบาลรัฐคือการค้นคว้าวิจัย และการประดิษฐ์คิดค้นด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งคนไทยยังไม่มีศักยภาพมากพอในด้านการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ แม้แต่แพทย์แผนไทยที่รักษาด้วยสมุนไพรก็สามารถพัฒนาเป็นผู้นำด้านการแพทย์สีเขียวที่เป็นกระแสที่มาแรงขณะนี้ได้เช่นกัน

ขณะนี้คนในประเทศตะวันตกมีอาการป่วยที่รักษาไม่หายหลายโรคและพร้อมจะพึ่งแพทย์สีเขียว เพื่อจะตายตามธรรมชาติอย่างแท้จริง ขณะที่โรงพยาบาลของไทยก็มีชื่อเสียงด้านแพทย์แผนไทยหลายแห่ง แต่ต้องมีการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันมากขึ้นด้วย

การที่คนไทยป่วยด้วยโรคหลากหลายชนิดทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง การค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในวิธีป้องกันและรักษา เช่นเดียวกับการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาค้นคว้าและพัฒนา คนไทยก็อาจมีชื่อเสียงและมั่งคั่งเหมือนบิล เกตส์ ก็ได้

การแปรรูปโรงพยาบาลรัฐย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างในอังกฤษเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว รัฐบาลประกาศแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีคนจำนวนไม่น้อยที่กลัวว่าคนจนจะไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อีกต่อไป ยิ่งในระบบทุนนิยม การบริหารในระบบทุนกับการบริการสาธารณะเป็นสิ่งที่หลายคนวิตก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวนมากก็เป็นไปด้วยดี และประเทศทั่วโลกต่างมีการแปรรูปเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

การแปรรูปโรงพยาบาลรัฐเพื่ออนาคตของประเทศไม่ใช่ทอดทิ้งคนจนหรือให้บริการแต่คนมีเงิน แต่คนจนก็ยังได้รับบริการที่ดีต่อไป เพราะไม่ว่าคนรวยหรือคนจนก็ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login