วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กคช. ทำแผนพัฒนาพื้นที่เคหะชุมชนบางพลี

On September 6, 2016

การเคหะแห่งชาติร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดประชุมเผยแพร่ผลงานวิจัย หัวข้อ “มองใหม่ เมืองใหม่บางพลี” ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณเคหะชุมชนบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายชวนินทร์ พรหมรัตนพงษ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณเคหะชุมชนบางพลีในรูปแบบใหม่ที่เหมาะสม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางสร้างสรรค์ อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต

นางพัชรวรรณ  สุวปรีชาภาส ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.)เปิดเผยว่า โครงการเมืองใหม่บางพลี      ถือเป็นเมืองใหม่แห่งแรกของการเคหะแห่งชาติ สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันสภาพพื้นที่ของโครงการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากและสภาพแวดล้อมเริ่มเสื่อมโทรมลง   การเคหะแห่งชาติจึงมีแนวคิดพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่บางพลี พร้อมฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิและท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งยังเป็นแหล่งงาน แหล่งธุรกิจ และแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ ทำให้พื้นที่มีศักยภาพสูง จึงทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตของประชากรค่อนข้างสูงและรวดเร็ว ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติยังมีพื้นที่ว่างพร้อมจะพัฒนาภายในโครงการและต้องการจะฟื้นฟูพื้นที่เดิม จึงได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทำการศึกษาวิจัยโครงการ

“ศึกษาแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณเคหะชุมชนบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ” เพื่อให้เกิดการค้นคว้าจัดทำรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ โดยผ่านการกำกับดูแลและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในนโยบายสาธารณะ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในทางสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นการกระตุ้นความเคลื่อนไหวในชุมชนและสังคมโดยรวม ซึ่งคณะผู้วิจัยฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาต่างๆ   ที่เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไข จึงนำมาสู่การจัดประชุมเผยแพร่ผลงานวิจัย หัวข้อ “มองใหม่ เมืองใหม่บางพลี” เพื่อเผยแพร่แนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงระดมความคิดเห็นจากผู้อยู่อาศัยในชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
“โครงการศึกษาวิจัยดังกล่าว จะทำให้การเคหะแห่งชาติได้ทราบถึงลำดับความสำคัญของปัญหา   รวมถึงกระบวนการพัฒนา และแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข โดยจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการศึกษา มาช่วยฟื้นฟูสภาพชุมชนให้กลับมามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการอยู่อาศัย พร้อมนำไปพัฒนาในชุมชนอื่นๆ ของการเคหะแห่งชาติต่อไป”นางพัชรวรรณกล่าว

นางมัลลิกา  จงศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงงานวิจัยว่า ได้ทำการศึกษาสถานการณ์และปัญหาในปัจจุบัน ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการปกครอง     พร้อมทั้งประเมินสภาพปัญหาการอยู่อาศัยเปรียบเทียบกับมาตรฐานของชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมของชุมชนในย่านชุมชนเดิม และส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี    ในย่านชุมชนใหม่ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รองรับศักยภาพและการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตในพื้นที่ว่าง  รอการพัฒนา โดยใช้แนวคิดหลากหลายเพื่อให้ครอบคลุมปัญหาในหลายๆ ด้าน อาทิ แนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ   มีส่วนร่วมของชุมชน แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แนวคิดเมืองน่าอยู่ แนวคิดในการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด
และแนวคิดเมืองอัจฉริยะ ซึ่งนำมาผสมผสานกันจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เคหะชุมชน    บางพลี โดยแบ่งออกเป็น แผนงานที่ 1 แผนงานพัฒนาและปรับปรุงกิจการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย, โครงการปรับปรุงระบบจัดการขยะ, โครงการปรับปรุงพื้นที่จอดรถยนต์และก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์, โครงการปรับปรุงและพัฒนาโครงข่ายการสัญจรและเชื่อมต่อ  พื้นที่, โครงการจัดตั้งสถานีตำรวจ, โครงการจัดตั้งสถานศึกษาเด็กปฐมวัย และโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลชุมชน  แผนงานที่ 2 แผนงานพัฒนาและปรับปรุงการใช้ประโยชน์พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมและ   ศูนย์ชุมชน, โครงการพัฒนาพื้นที่พักอาศัย และโครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะในชุมชน      แผนงานที่ 3 แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชน ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ว่างสาธารณะภายในชุมชน, โครงการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ริมคลอง และโครงการปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์ถนนภายในซอย โดยมีระยะเวลาการพัฒนาประมาณ 15 ปี

“โครงการศึกษาวิจัยฯ ในปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่แนวคิดที่จะช่วยจุดประกายให้หน่วยงานต่างๆ       ได้นำไปสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเดินหน้าอย่างเข้มแข็ง โดยผู้อยู่อาศัยในชุมชนต้อง    เป็นฟันเฟืองสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อน เพื่อนำชุมชนมุ่งไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า” นางมัลลิกากล่าว


You must be logged in to post a comment Login