วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พ้นกระดานอำนาจ

On September 6, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ข่าวใหญ่ ข่าวดัง ที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด เมื่อวาน (6 ก.ย.) ที่ผ่านมา คงไม่พ้นข่าวที่ศาลฎีกา มีคำพิพากษาจำคุก นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกฟ้องฐานกระทำผิด พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีสร้างหลักฐานเท็จเพื่อกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 1,078 ล้านบาท

คดีนี้นอกจากนายสนธิแล้วยังมีจำเลยร่วมประกอบด้วย นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการ บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท แมเนเจอร์ฯ และน.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ฯ

ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 จำคุกนายสนธิ และ น.ส.เสาวลักษณ์ คนละ 42 ปี 6 เดือน จำคุกนายสุรเดช 2 ปี 6 เดือน น.ส.ยุพิน 32 ปี 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม โทษที่ได้รับสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดโทษสูงสุดไว้จึงให้จำคุกจำเลยทุกคนคนละ 20 ปี

หลังศาลชั้นต้นตัดสินแล้วจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์ ยกเว้นนายสุรเดชที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์และรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน จนครบกำหนดไปแล้ว

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 คือให้จำคุกคนละ 20 ปี

ขณะที่ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่าการทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้งแต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกัน เป็นเวลา 1 ปี และ มีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลเห็นว่า บริษัทของจำเลยเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องมีหลักธรรมมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเอง ย่อมสร้างผลกระทบต่อบริษัท ขณะที่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง ส่งผลกระทบจำนวนมาก ที่จำเลยอ้างถึงคุณงามความดียังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้

ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

หลังสิ้นคำพิพากษานายสนธิและพวกก็สิ้นอิสรภาพต้องถูกนำตัวเข้าเรือนจำตามคำสั่งศาล

ถ้าพิจารณาจากคำสั่งศาลจะเห็นว่านายสนธิและพวกนั้นรู้อนาคตตัวเองก่อนที่จะเดินทางมาฟังคำสั่งศาลแล้ว เพราะในฎีกาได้อ้างคุณงามความดีที่ทำมาขอให้ศาลปราณีลงโทษสถานเบา หรือให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา)

ถ้าสงสัยว่าเมื่อนายสนธิและพวกรู้อนาคตตัวเองล่วงหน้าทำไมไม่หนี

คำตอบคือคดีนี้เป็นความผิดฐานฉ้อโกงจึงเป็นเรื่องยากที่จะหาที่หลบในประเทศอื่นเพื่อไม่ให้ถูกส่งตัวกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนตามที่ไทยทำสนธิสัญญากับหลายประเทศไว้

หลังรู้คำตัดสินของศาลมีหลายคนยกให้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา และวิเคราะห์สถานการณ์ไปต่างๆนานาถึงเหตุผลว่าทำไมนายสนธิและพวกจึงไม่หลุดพ้นจากความผิดในคดีนี้

ทั้งที่หลายคดีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมามักจะยกฟ้อง หรือไม่ก็รอลงอาญา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากพยานหลักฐานจะเห็นว่าคดีนี้รอดยาก ถ้ารอดก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด

ส่วนที่ว่าเป็นการกวาดล้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นก็มีสิทธิ์คิดวิเคราะห์กันได้

ไม่หนี ไม่รอลงอาญา รองรับความเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หากพิจารณาจากอัตราโทษ และอายุของนายสนธิ ถือว่าชีวิตของนายสนธิเดินมาสุดทางแล้ว

ถูกเขี่ยออกจากกระดานอำนาจ หมดบทบาท หมดหน้าที่ จากนี้ไปได้แต่นั่งดู ไม่มีเวทีให้เล่น


You must be logged in to post a comment Login