- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เซตซีโร่พรรคการเมือง! / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
สถานการณ์หลังร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ผ่านประชามติต้องถือว่ายังมีเรื่องราวที่น่าติดตามและอยู่ในความสนใจอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเนื้อหาการออกกฎหมายลูกที่มักจะมีคนออกมา “โยนหินถามทาง” กันแบบรายวัน รวมถึงการชี้นำของชนชั้นปกครองที่ต้องการความมั่นใจแบบ 100% ว่ารัฐประหารครั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปตามธงและห้ามเสียของอย่างเด็ดขาด
หนึ่งในหินที่ถูกโยนทุกวันคือ การ “เซตซีโร่” พรรคการเมือง ผมค่อนข้างมั่นใจว่ามีความพยายามกันอย่างเต็มที่ในการยุบพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อเซตอัพพรรคการเมืองแต่ละฝ่ายขึ้นมาใหม่ การทำเช่นนี้ย่อมมีเหตุผลแน่นอนและคงไม่ต้องสงสัยว่าใครจะได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ที่แน่ๆคงไม่ใช่พี่น้องประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองที่ต้องเริ่มต้นกันใหม่กับระบบที่ถูกยัดเยียดให้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรามาถึงจุดนี้กันแล้วคงไม่มีทางเลือกอื่นอีกนอกจากการยอมรับกติกาที่คณะรัฐประหารเป็นผู้กำหนด แม้นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากจะไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่ เพราะไม่มีความจำเป็น และอาจส่งผลลบมากกว่าผลบวก เนื่องจากการยุบพรรคการเมืองย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และทำให้ทุกคนขาดความมั่นใจ รวมทั้งต้องเสียเวลาทำความเข้าใจลองผิดลองถูกกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่อย่างไม่มีทางเลือก
นอกจากนั้นนักวิชาการหลายท่านยังเชื่อว่ากติกานี้จะถูกเขียนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มการเมืองใหม่ โดยผู้มีอำนาจรัฐอาจใช้ช่องว่างนี้เสนอผลประโยชน์ต่างๆเพื่อเป็นเครื่องมือดูดนักการเมืองมารวมขั้วใหม่และสลายขั้วเก่า ซึ่งต้องยอมรับว่ามันคือการถอยหลังเข้าคลอง ย้อนยุคการเมืองไทยกลับไปสู่ยุครัฐบาลเลือกตั้งที่ไม่สามารถเลือก ส.ส. ของตนเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ นอกจากไปเชิญ “ผู้มากบารมีคนนอก” ให้มาทำหน้าที่แทนด้วยความจำใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเสียงคัดค้านก็ย่อมมีเสียงสนับสนุน จะพบว่านักวิชาการที่ชื่นชอบการรัฐประหาร ตลอดจนชนชั้นนำของประเทศจำนวนหนึ่งต่างออกมาประสานเสียงสนับสนุนการเซตซีโร่พรรคการเมือง เพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอและถูกควบคุมจัดระเบียบได้ง่าย เมื่อพรรคการเมืองไม่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จย่อมทำให้แนวคิดการบริหารประเทศแบบรัฐราชการเป็นไปได้สูง ทำให้การบริหารอำนาจถูกรวมไว้ที่ศูนย์กลางโดยง่ายและปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพราะไม่อยากเห็นการเซตซีโร่พรรคการเมือง เนื่องจากไม่อยากเห็นฝ่ายการเมืองอ่อนแอนั่นเอง แต่ในฐานะนักการเมือง การแสดงความเห็นเช่นนี้ย่อมถูกตำหนิหรือกล่าวหาได้ว่าพูดเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ดังนั้น การแสดงความเห็นเรื่องนี้จึงขอยืนยันกับท่านผู้อ่านจริงๆว่าไม่ได้พูดในสถานะนักการเมือง แต่แสดงความเห็นในฐานะคนไทยที่มีความเชื่อและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ระบอบประชาธิปไตยนั้น “อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน” ดังนั้น เมื่อนักการเมืองคือคนที่ประชาชนเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่แทน ฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองจึงต้องมีความเข้มแข็งและมีเอกภาพในการบริหาร เพื่อทำให้การใช้อำนาจอธิปไตยกระทำได้อย่างราบรื่นและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของปวงชนอย่างแท้จริง ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะมีสถานะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม
ดังนั้น การออกกติกาเพื่อทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองอ่อนแอจึงเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจของฝ่ายรัฐประหารเพื่อเข้ามาควบคุมอำนาจอันชอบธรรมของประชาชนต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจและเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้เพราะงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลใช้ในการบริหารประเทศในแต่ละปีล้วนมาจากภาษีของพวกเราทุกคน ดังนั้น เมื่อคนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกตัวแทนของเขาให้ทำหน้าที่บริหารประเทศก็สมควรอย่างยิ่งที่ตัวแทนของเขาจะต้องมีอำนาจเด็ดขาดในการทำงานแทนปวงชนชาวไทยทุกคน ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายที่มาจากการแต่งตั้งจากฝ่ายรัฐประหารหรือฝ่ายบริหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซงหรือใช้อำนาจแทนฝ่ายการเมือง
ทฤษฎีที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายและเป็นความจริง โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนไม่มีสิทธิที่จะทำเลวหรือคิดร้ายกับประชาชนได้เลย เพราะพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแต่ละครั้งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของประชาชน
ถ้าตั้งใจทำงานและสามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่ เมื่อถึงการเลือกตั้งในครั้งหน้าประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองนั้นๆกลับเข้ามาทำงานอีก เพราะเห็นผลงานและเชื่อมั่นนโยบายในการบริหาร
แต่ถ้าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนไหนทรยศต่อประชาชน โกงประชาชน คิดร้ายกับประชาชน หรือโกหกต่อประชาชน เมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองและนักการเมืองเหล่านี้ย่อมสอบตกและไม่มีโอกาสเข้ามาทำงานให้ประชาชนอีก กระบวนการเช่นนี้เป็นกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
ที่ผมนำมาบ่นทั้งหมดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่ากติกาที่ประเทศไทยมีมาก่อนจะถูกรัฐประหารนั้นเป็นกติกาที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของเราและสามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ 4 ปี เมื่อคนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกตัวแทนของเขาผ่านพรรคการเมืองที่เขามั่นใจ พรรคการเมืองนั้นก็จะเข้าไปทำงานขับเคลื่อนนโยบายต่างๆตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน
แต่กติกาใหม่ที่ฝ่ายรัฐประหารกำลังร่างอยู่ตามหลักการของรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ แต่หินหลายก้อนที่ถูกโยนออกมาก่อนหน้านี้ล้วนเป็นกระบวนการและวิธีการที่นักวิชาการหลายท่าน รวมถึงผมเห็นว่าขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างไม่น่าเชื่อว่าใครจะคิดออกมาได้แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเซตซีโร่ ตลอดจนกติกาเพี้ยนๆ เช่น ไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรณรงค์หาเสียงในแบบที่ควรจะเป็น
ผมเข้าใจได้ว่าการสืบทอดอำนาจของเผด็จการมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอ แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า อำนาจที่ท่านปล้นเขามานั้นไม่ใช่ของท่าน ไม่ใช่ของพรรคการเมืองและนักการเมือง แต่เป็นอำนาจอันชอบธรรมของปวงชนชาวไทยทุกคน
You must be logged in to post a comment Login