- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
นวัตกรรมรถไฟฟ้า / โดย ณ สันมหาพล
คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล
รัฐบาลปัจจุบันตั้งเป้าหมายว่าอีก 20 ปี หรือปี 2579 ประเทศไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ทั้งรถขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รถส่วนตัว รถสาธารณะ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญ และเป็นศูนย์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของโลก
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องดูแนวโน้มการใช้รถยนต์ของโลกว่า ในอีก 20 ปี คนจะเปลี่ยนจากรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเดินทางมาเป็นระบบขนส่งมวลชนซึ่งมีการก่อสร้างจำนวนมากตามเมืองใหญ่ทั่วโลก ทั้งรถไฟบนดินและใต้ดิน หรือรถยนต์โดยสารระยะไกล ซึ่งจะไม่ใช่รถยนต์ที่คุ้นเคยในปัจจุบัน เพราะจะมีการปรับปรุงด้านสมรรถภาพความเร็วและความสะดวกสบาย ไม่ต้องขับรถเองโดยมีคนขับ
ยังไม่รวมถึงระบบขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะมีการพัฒนาอีกมากจนทุกเมืองจะมีสนามบิน ระบบขนส่งทางอากาศที่ไร้คนขับหรือโดรนจะเอื้อต่อการขนส่งสินค้าไม่ว่าใกล้หรือไกล ทำให้สามารถซื้อสินค้าโดยใช้โทรศัพท์มือถือหรือสั่งซื้อทางออนไลน์แล้วรอรับสินค้าที่จะถูกส่งมาทางโดรน เช่นเดียวกับจดหมายและพัสดุภัณฑ์ต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีระบบขนส่งแบบใหม่ที่เรียกว่า hyperloop หรือรถท่อลม ซึ่งเป็นรถขนาดเล็ก บรรทุกผู้โดยสารคนเดียวเดินทางไปสถานที่ต่างๆในชั่วพริบตาด้วยแรงดันลมในท่อ ซึ่งอาจมีการสร้างเชื่อมระหว่างเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อนักธุรกิจโดยเฉพาะ
แม้แต่รถจักรยานที่ทุกคนจะใช้เป็นพาหนะ ซึ่งคนหนึ่งอาจมีหลายคัน เพื่อขี่จากบ้านไปใช้บริการรถสาธารณะเพื่อเดินทางเข้าเมือง ขี่ไปทำงานในระยะทางใกล้ๆ ขี่ทางไกลเพื่อพักผ่อนและพบปะเพื่อนฝูง โดยจะมีเลนหรือถนนที่เป็นช่องทางจัดไว้โดยเฉพาะ
รวมถึงการขี่จักรยานลุยป่า โดยวนอุทยานทั่วโลกจะมีทางพิเศษสำหรับให้ผู้ใช้จักรยานได้สัมผัสธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระแสของโลกจนเป็นเรื่องปรกติเหมือนการชมภาพยนตร์และดนตรี ฯลฯ
เมื่อพฤติกรรมการใช้พาหนะของคนเปลี่ยน การใช้รถยนต์ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ไม่ใช่เพื่อเดินทางใกล้ไกลอีกต่อไป แต่ใช้กรณีจำเป็นเท่านั้น จะเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถไฟฟ้า แม้ไม่คล่องตัวและไม่ทนทานเท่ารถยนต์แบบเดิมแต่ก็เพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งาน ความนิยมรถไฟฟ้าจะมีมากขึ้นจนทดแทนรถยนต์แบบเดิม โดยเฉพาะการเดินทางระยะใกล้และใช้เพื่อการขนส่งที่มีน้ำหนักไม่มาก
แนวความคิดที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนาอยู่แล้ว แต่เป็นแค่ความคิดริเริ่ม อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมทั้งด้านการเงินและบุคลากร
ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์จำนวนมากทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถสาธารณะ ถ้ามีการพัฒนาอย่างจริงจังก็จะเป็นรายได้สำคัญของประเทศทั้งการส่งออกและการดัดแปลง ซึ่งต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญ โดยเริ่มแรกอาจใช้วิธีการดัดแปลงชิ้นส่วนต่างๆเพื่อนำมาประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อจะนำไปใช้ตามที่ต้องการ
โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นของคนไทยเอง ซึ่งหมายถึงการผลิตชิ้นส่วนต่างๆด้วย โดยสามารถให้ความรู้กับอู่รถยนต์และสถาบันการศึกษาต่างๆในแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชนและเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนสถาบันการศึกษาด้านเงินทุนในการศึกษาวิจัยตามนโยบายของรัฐบาล
เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานไม่ยุ่งยากเหมือนรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาป การประกอบก็ง่าย รวมถึงการดัดแปลงเพื่อนำมาใช้ในลักษณะต่างๆก็ทำได้ไม่ยาก อย่างที่สิงคโปร์เริ่มใช้รถแท็กซี่แบบไร้คนขับอยู่ขณะนี้
รถยนต์ไร้คนขับถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นจริงในอนาคต ซึ่งเป็นการพัฒนาวิทยาการชั้นสูงโดยใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมบังคับ เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถถ่ายทอดและแบ่งปันกันได้ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศว่าจะพัฒนาจริงจังหรือไม่ เพราะประเทศไทยมีพื้นฐานการผลิตรถยนต์อยู่แล้ว
You must be logged in to post a comment Login