วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อนาคตพุทธศาสนาไทย / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On September 12, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เชื่อกันว่าพุทธศาสนามีอายุยาวนานเกือบ 3,000 ปี สิ่งที่มีอายุยาวนานขนาดนี้ย่อมมีความซับซ้อนมาก ยากที่ใครจะอธิบายให้เห็นความซับซ้อนได้ครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาในบ้านเราขณะนี้ทางวิชาการเรียกว่า “พุทธศาสนาไทย” โดยเราสามารถเข้าใจพุทธศาสนาแบบนี้ได้เมื่อเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาแบบอื่นคือ พุทธศาสนาดั้งเดิม พุทธแบบอโศก และพุทธยุคประเพณี

พุทธศาสนาดั้งเดิมคือ พุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ประกอบด้วยเรื่องราวของพุทธะ ธรรมวินัย และสังฆะพุทธะ คือบุคคลที่มีบุคลิกภาพขบถต่ออำนาจและจารีตที่ไม่มีเหตุผลหลายๆอย่างในเวลานั้น เช่น ออกบวชก็เป็นการขบถต่อพ่อ เมื่อไปเรียนรู้กับครูอาจารย์ต่างๆและทดลองปฏิบัติตามลัทธิความเชื่อต่างๆก็ไม่เลือกที่จะเดินตามใคร แต่เลือกที่จะเป็นตัวของตัวเองจนพบทางของตัวเอง

เมื่อพบทางของตัวเองจนรู้แจ้งเป็นพุทธะแล้วก็ตัดสินใจออกจากป่ากลับเข้ามาสู่สังคม ธรรมหรือคำสอนต่างๆของพุทธะเกิดจากการสนทนากับคนอื่นๆ แนะนำคนอื่นๆในสังคม

ทำไมพุทธะไม่เลือกที่จะเป็นนักบวชประเภทอยู่ป่าเหมือนพวกฤาษีชีไพร หากไปอ่านในอัคคัญญสูตรจะพบว่าพุทธะมองว่าการมีชีวิตที่ดีทางศีลธรรมและทางอื่นๆเป็นไปได้ภายในสังคมการเมืองเท่านั้น ฉะนั้นพุทธะจึงกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมการเมือง เพื่อเสนอความคิด คำสอนที่ท่านเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้คนและสังคมส่วนรวม

วิธีการที่พุทธะใช้ในการเสนอความคิดและคำสอนสู่สังคมสมัยนั้นคือ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิดและอำนาจของชนชั้นนำ เช่น ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเชื่อของวรรณะพราหมณ์ และเสนอความคิด คำสอนใหม่ที่มีเหตุมีผลมากกว่า

เมื่อพวกพราหมณ์สอนว่าคุณค่าของคนขึ้นอยู่กับชาติกำเนิดสูงต่ำตามวรรณะ 4 พุทธะก็แย้งว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การกระทำหรือความประพฤติ เมื่อพวกพราหมณ์สอนว่ากษัตริย์ประกอบพิธีบูชายัญด้วยชีวิตสัตว์นานาชนิด บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง พุทธะก็เสนอว่าวิธีทำให้บ้านเมืองเจริญ ผู้ปกครองต้องดูแลและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้มีอาชีพการงานและไม่อดอยาก

พุทธะไม่ได้เสนอระบบการปกครองใหม่ แต่ปฏิเสธการปกครองที่ใช้ “อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจ” ในจักกวัตติสูตรพุทธะชี้ให้เห็นว่าหากผู้ปกครองใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจ บ้านเมืองจะเกิดความเดือดร้อนระส่ำระสาย การปกครองที่ดีต้องให้ความเป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่มเสมอกันและต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนอดอยาก

ระบบสังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้นเป็นระบบที่มีอิสระจากรัฐคือ ไม่ได้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ไม่มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจทางกฎหมายใดๆ นอกจากพุทธะและสังฆะจะเป็นอิสระจากรัฐแล้ว ยังเป็นอิสระจากระบบวรรณะ 4 อีกด้วย เมื่อไม่เข้าไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐก็ไม่ถูกรัฐหรือผู้ปกครองใช้สังฆะเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ จึงทำให้พุทธะและสังฆะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจเผด็จการได้ผ่านเรื่องราวในพระสูตรและชาดกต่างๆ และเมื่อเป็นอิสระจากระบบวรรณะจึงสามารถตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ “ด้านมืด” ของระบบวรรณะได้อย่างเสรี

หลังสมัยพุทธกาลราว 300 ปี จึงเกิดพุทธศาสนาแบบอโศก เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชนำหลักคำสอนเกี่ยวกับการปกครองโดยธรรมของพุทธะมาใช้ และสถาปนา “รัฐพุทธศาสนา” ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนามากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีอำนาจดำเนินการจับพระสงฆ์ที่ทำสังฆเภทสึกได้ แต่คณะสงฆ์ยังเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ยังไม่มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ อำนาจใดๆในทางกฎหมาย

หลังจากสมัยพระเจ้าอโศก พุทธศาสนาที่ไปเจริญในรัฐต่างๆในเอเชียอาคเนย์ได้ผูกติดกับอำนาจรัฐมากขึ้นโดยลำดับ เช่น มีการตีความพุทธศาสนายกสถานะผู้ปกครองให้เป็นสมมุติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็แต่งตั้งให้พระสงฆ์มีฐานันดรศักดิ์เป็นพระสังฆราชและพระราชาคณะชั้นต่างๆ

แต่นับจากสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 ย้อนไปถึงสุโขทัยยังไม่มีคณะสงฆ์ที่มีอำนาจตามกฎหมาย มีเพียง “สมณศักดิ์” หรือฐานันดรศักดิ์ของพระชั้นต่างๆเท่านั้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา พระสงฆ์จึงมีทั้งสมณศักดิ์และอำนาจตามกฎหมาย และระบบปกครองสงฆ์ก็เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจแบบระบบราชการ

พุทธศาสนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาคือ “พุทธศาสนาแบบไทย” ที่ต่างจากพุทธศาสนายุคประเพณี ยุคอโศก และพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะไม่สามารถเป็นพุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ จากระบบชนชั้นเหมือนพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมได้เลย เนื่องจากพุทธศาสนาแบบไทยเข้าไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ เป็นกลไกสนับสนุนอำนาจรัฐ จึงไม่มีอิสระที่จะตั้งคำถามกับความคิดและอำนาจของชนชั้นนำแบบพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล

อนาคตของพุทธศาสนาไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าดูจากสภาพปัจจุบันก็ต้องบอกว่ามองไม่เห็นอนาคตที่พุทธศาสนาไทยจะเป็นอิสระจากการตกเป็นเครื่องมือของรัฐ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ยิ่งทำให้รัฐไทยมีความเป็นรัฐพุทธศาสนามากขึ้น ศาสนาผูกติดกับการอุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมจากรัฐมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้พุทธศาสนาไทยจึงยังคงเป็นศาสนาที่สนับสนุนอำนาจนิยมมากกว่าที่จะเป็นพุทธศาสนาที่มีพลังทางความคิดและมโนสำนึกปฏิเสธอำนาจเผด็จการ ปฏิเสธความอยุติธรรมทางการเมืองและทางชนชั้นแบบพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

มีแต่ต้องแยกศาสนาให้เป็นอิสระจากรัฐแบบสมัยพุทธกาลเท่านั้น จิตสำนึกในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความคิดและอำนาจของชนชั้นนำที่เคยมีในพุทธศาสนาดั้งเดิมจึงจะสามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ และปรับแปรเป็นพลังที่เหมาะสมกับบริบทสังคมสมัยใหม่ที่เน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยมากขึ้น


You must be logged in to post a comment Login