วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

10 ปีแห่งยุครัฐประหาร / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On September 12, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ในที่สุดเวลาก็ผ่านไปถึง 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่นำประเทศไทยเข้าสู่ยุคแห่งการถอยหลังทางการเมืองครั้งสำคัญ และวิกฤตทางการเมืองที่เป็นผลจากการรัฐประหารยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ย้อนหลังกลับไปพิจารณาการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นผลจากชัยชนะในการเลือกตั้งของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อต้นปี พ.ศ. 2548 แต่การบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พลังอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย ตั้งแต่กลุ่มข้าราชการระดับสูง กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนฝ่ายขวา และกลุ่มชนชั้นนำจารีตประเพณี นำมาสู่การสร้างกระแสต่อต้านที่เปิดฉากโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเครือข่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ต่อมากลุ่มพลังฝ่ายอื่นๆก็เข้าร่วม เช่น กลุ่มสันติอโศก เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงานกระแสหลัก เป็นต้น จัดตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีเป้าหมายการเคลื่อนไหวเพื่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลทักษิณ และตั้งความหวังว่าจะสามารถควบคุมทิศทางสังคมไทยในลักษณะที่ชนชั้นนำจารีตต้องการได้

ที่น่าสนใจคือ ในระยะแรกฝ่ายกองทัพไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้อง เพราะทราบดีว่าการรัฐประหารเป็นวิธีทางการเมืองอันล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับกระแสการเมืองสมัยใหม่ของโลกที่โน้มสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น นอกจากนี้ยังวิตกเรื่องความแตกแยกในหมู่ประชาชน เพราะมีประชาชนที่สนับสนุนฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นจำนวนมาก แต่กระนั้นกลุ่มชนชั้นนำจารีตได้พยายามอย่างหนักที่จะผลักดันไปยังผู้บัญชาการเหล่าทัพให้ทำการรัฐประหาร โดย พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 เป็นนายทหารคุมกำลังคนแรกสุดที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวให้มีการรัฐประหาร แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ไม่ตอบรับ จนกลางเดือนกันยายน พล.อ.สนธิจึงตัดสินใจทำรัฐประหาร โดย พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ตอบรับเข้าร่วมเพียง 3 วันก่อนการยึดอำนาจ

การยึดอำนาจโดย พล.อ.สนธิเป็นหัวหน้าคณะเรียกชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)” พล.อ.สนธิได้เล่าในระยะต่อมาว่า ยึดอำนาจเพราะคิดแค่ “จัดการเปลี่ยนตัวผู้บริหารประเทศจากทักษิณ ชินวัตร มาเป็นคนอื่นประเทศก็จะสงบ” จึงไม่มีการวางแผนและนโยบายดำเนินการล่วงหน้า เมื่อยึดอำนาจก็ต้องหาคำแถลงเหตุผลแห่งการรัฐประหารอย่างง่ายๆอธิบายกับสังคม 4 ข้อคือ การบริหารงานรัฐบาลทักษิณมีการคอร์รัปชัน สร้างความแตกแยกให้กับคนในประเทศ รัฐบาลแทรกแซงองค์กรอิสระ และมีพฤติกรรมเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากนั้นคณะทหารได้ให้นักกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ ยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิม ประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ฯลฯ และให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อดำเนินการกับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และจัดให้มีการเลือกตั้ง

คณะทหารที่ยึดอำนาจประสบความล้มเหลวและยิ่งนำสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้ง เพราะด้านหนึ่งการรัฐประหารเปิดทางให้มีการสร้างเครือข่ายแห่งอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม-จารีตประเพณีให้แข็งแกร่งและครอบงำสังคมไทยมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มพลังที่สนับสนุนประชาธิปไตยไม่ยอมรับ เช่นเดียวกับฝ่ายสนับสนุนพรรคไทยรักไทยและนิยม พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเกิดการรวมตัวต้านการรัฐประหารตั้งแต่ต้น ยิ่งเวลาผ่านไปความขัดแย้งก็ยิ่งชัดเจน เกิดการเมืองแบบ “แดง-เหลือง”

ในประเทศที่มีรากฐานประชาธิปไตย ความขัดแย้งทางการเมืองถือเป็นเรื่องปรกติ การแก้ไขความขัดแย้งต้องใช้ระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนส่วนข้างมากเป็นผู้ตัดสิน แต่ประเทศไทยหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 กลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไม่อาจยอมรับได้ เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยก็ยังชนะเลือกตั้ง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชนชั้นนำก็ต้องกลับมาใช้วิธีการเดิมคือ สร้างม็อบปิดเมืองเมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 เพื่อปูทางการรัฐประหารครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำมาสู่ระบอบการเมืองเผด็จการเหลวไหลยิ่งกว่าเดิม ไร้เหตุผลยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามสำหรับการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 คือ สมมุติว่ารัฐบาลไทยรักไทยทุจริตผิดพลาดจริง จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแก้ไขด้วยการรัฐประหาร อันเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยระบอบประชาธิปไตยอันอารยะกระนั้นหรือ การรัฐประหารแก้ไขปัญหาของประเทศได้จริงหรือ 10 ปีแห่งความขัดแย้งและล้มเหลวของประเทศไทยน่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของความล้มเหลวของการใช้วิธีการรัฐประหารแก้ปัญหาของประเทศ

ถ้าย้อนกลับไปได้และไม่มีการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 สังคมไทยคงจะผ่านการเรียนรู้ทางการเมืองครั้งใหญ่และทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาทางการเมือง การสังหารหมู่คนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ก็จะไม่เกิดขึ้น สังคมไทยจะแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยสันติ

นี่คือโอกาสทางการเมืองที่เสียไปจากการรัฐประหาร ยังไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจและความล้าหลังทางสังคมที่เกิดขึ้น


You must be logged in to post a comment Login