วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พ้นกระดานอำนาจ! / โดย เจ้าพระยา ป่าสัก

On September 12, 2016

คอลัมน์ : กระแสการเมือง
ผู้เขียน : เจ้าพระยา ป่าสัก

เป็นข่าวใหญ่ข่าวดังที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในรอบสัปดาห์ (6 กันยายน 2559) เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกฟ้องฐานกระทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กรณีสร้างหลักฐานเท็จเพื่อกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 1,078 ล้านบาท

นายสนธิถือเป็น “เจ้าพ่อสื่อ” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บทบาทและท่าทีของนายสนธิถูกจับตามองเป็นอย่างมากในฐานะแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน

นายสนธิเคยประกาศลั่นกลางศึกครั้งนั้นว่าจะสู้ไม่ถอย ชนิด “เจ๊งเป็นเจ๊ง” แต่วันนี้นายสนธิกลับกลายเป็นนักโทษที่ถูกจำคุกในข้อหาทำหลักฐานเท็จทางการเงิน

คดีนี้นอกจากนายสนธิแล้วยังมีจำเลยร่วมประกอบด้วย นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการ บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทแมเนเจอร์ฯ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ฯ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 จำคุกนายสนธิ และ น.ส.เสาวลักษณ์ คนละ 42 ปี 6 เดือน จำคุกนายสุรเดช 2 ปี 6 เดือน น.ส.ยุพิน 32 ปี 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม โทษที่ได้รับสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดโทษสูงสุดไว้ จึงให้จำคุกจำเลยทุกคนคนละ 20 ปี

หลังศาลชั้นต้นตัดสินแล้วจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์ ยกเว้นนายสุรเดชที่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ และรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน จนครบกำหนดไปแล้ว

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 คือให้จำคุกคนละ 20 ปี

ขณะที่ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่าที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่าการทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้งแต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกันเป็นเวลา 1 ปี และมีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลเห็นว่า บริษัทของจำเลยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต้องมีหลักธรรมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเองย่อมสร้างผลกระทบต่อบริษัท ขณะที่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง ส่งผลกระทบจำนวนมาก ที่จำเลยอ้างถึงคุณงามความดียังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้

ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

หลังสิ้นคำพิพากษา นายสนธิและพวกก็สิ้นอิสรภาพ ต้องถูกนำตัวเข้าเรือนจำตามคำสั่งศาล

ถ้าพิจารณาจากคำสั่งศาลจะเห็นว่า นายสนธิและพวกนั้นรู้อนาคตตัวเองก่อนที่จะเดินทางมาฟังคำสั่งศาลแล้ว เพราะในฎีกาได้อ้างคุณงามความดีที่ทำมา ขอให้ศาลปรานีลงโทษสถานเบา หรือให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา)

ถ้าสงสัยว่าเมื่อนายสนธิและพวกรู้อนาคตตัวเองล่วงหน้าทำไมไม่หนี

คำตอบคือ คดีนี้เป็นความผิดฐานฉ้อโกง จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาที่หลบในประเทศอื่นเพื่อไม่ให้ถูกส่งตัวกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนตามที่ไทยทำสนธิสัญญากับหลายประเทศไว้

หลังรู้คำตัดสินของศาลมีหลายคนยกให้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ไปต่างๆนานาถึงเหตุผลว่าทำไมนายสนธิและพวกจึงไม่หลุดพ้นจากความผิดในคดีนี้ ทั้งที่หลายคดีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมามักจะยกฟ้อง หรือไม่ก็รอลงอาญา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากพยานหลักฐานจะเห็นว่าคดีนี้รอดยาก ถ้ารอดก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด

ส่วนที่ว่าเป็นการกวาดล้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นก็มีสิทธิคิดวิเคราะห์กันได้

ไม่หนี ไม่รอลงอาญา รองรับความเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หากพิจารณาจากอัตราโทษและอายุของนายสนธิ ถือว่าชีวิตของนายสนธิเดินมาสุดทางแล้ว ถูกเขี่ยออกจากกระดานอำนาจ หมดบทบาท หมดหน้าที่ จากนี้ไปได้แต่นั่งดู ไม่มีเวทีให้เล่น


You must be logged in to post a comment Login