- ปีดับคนดังPosted 11 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เลียดีได้ดี เลียชั่วได้ชั่ว / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
“ผมไม่ได้เลียใครทั้งสิ้น ถ้าจะเลียผมขอเลือกเลียคนดี แต่ถ้าเป็นนักการเมืองชั่ว เลวๆ ต่อให้มีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหนผมก็ไม่เลีย”
วาทกรรมย้อนแย้ง “เลียคนดี” ของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาตอบโต้นักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการเมืองของ สปท. ที่ให้กระทรวงมหาดไทยกลับมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยควบคุมการเลือกตั้ง จนถูกถากถางว่าเป็นพวก “ไอ้ห้อยไอ้โหน” และสอพลอ คสช. เพื่อหวังจะได้เป็น ส.ว.สรรหาหรือไม่นั้น ทำให้เห็นภาพการเมืองในปี 2560 เด่นชัดขึ้น แม้ตัวละครที่ออกมาจะเป็นแค่ “เบี้ย” ที่ไม่มีราคาและไม่มีความหมาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงบรรดา “คนดี” ที่ได้ดิบได้ดีจากการแต่งตั้งกำลังสร้างกระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้งปี 2560
ในขณะเดียวกัน 3 สำนักโพลใหญ่อย่างสถาบันพระปกเกล้า ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) และศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) ก็พร้อมใจกันเปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนอย่างขะมักเขม้นไปในทิศทางเดียวกันคือ ชื่นชม ชื่นชอบ คสช. พอใจต่อการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการทำให้บ้านเมืองสงบสุขและการกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชัน
หมดยุคนักการเมืองชั่ว
นายวันชัยให้สัมภาษณ์ว่า ข้อเสนอของ สปท. ด้านการเมืองถือเป็นน้ำดี จึงต้องออกมาสนับสนุน พวกที่ค้านคงเป็นนักการเมืองที่เตรียมทุจริตซื้อเสียง ทั้งที่นักการเมืองชั่วควรถอยออกไป เนื่องจากอาจจะเจอกับมาตรการขั้นเด็ดขาดก็ได้ ไม่มีสิทธิลอยนวลได้เหมือนเก่าอีก ดังนั้น นักการเมืองหน้าเก่าใช้วิธีเดิมๆ อยากบอกว่าเลิกเล่นการเมืองไปได้แล้ว เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2560 คือไม่ควรมาลงเลือกตั้ง เพราะกติกาที่เสนอไปเอาไว้สำหรับนักการเมืองน้ำดี ถ้าดึงดันลงสมัครก็คงไม่ได้เกิด ส่วนคนที่กล่าวหาว่าตนเป็นไอ้ห้อยไอ้โหนนั้น คนอย่างพวกตนไม่ใช่พวกไอ้ห้อยไอ้โหนหรือปัญญาอ่อน
“ผมรู้หมดในเนื้อหากฎหมายว่าอะไรเป็นอะไร เสนอแบบไหนได้รับคำชมหรือถูกถล่ม แต่ถ้าถูกด่าเละเทะแล้วบ้านเมืองดีขึ้นผมยอม ผมจะได้เป็น ส.ว. หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะเป็นนายกฯต่อหรือไม่คงไม่เกี่ยวข้อเสนอ ผมไม่ได้เลียใครทั้งสิ้น ถ้าจะเลียผมขอเลือกเลียคนดี แต่ถ้าเป็นนักการเมืองชั่ว เลวๆ ต่อให้มีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหนผมก็ไม่เลีย” นายวันชัยกล่าว
เดินหน้าดัน “บิ๊กตู่”
วาทกรรม “เลียคนดี” ของนายวันชัยที่บอกว่าเลือกเลีย พล.อ.ประยุทธ์ดีกว่านักการเมืองเลวนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ เพราะนับตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็มีกระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้มีอำนาจต่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาประกาศจะตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปตั้งแต่ไก่โห่เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ตามด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยายามให้ ส.ว.สรรหา 250 คน ที่จะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่แค่มีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล ขณะนี้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำถามพ่วงในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. ตามที่ สนช. ยืนยันหรือไม่ ซึ่งโอกาสที่จะคัดค้านกันเองนั้นแทบจะเป็นศูนย์
ล่าสุด พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ออกมาประกาศภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งสุดท้ายประจำปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 2 กันยายนว่า กองทัพมั่นใจ 100% ใน พล.อ.ประยุทธ์ในการทำงาน จึงขอฝากอนาคตชาติอันเป็นที่รักยิ่งไว้กับรัฐบาล และคิดว่าประชาชนอีกจำนวนมากคิดอย่างกองทัพ
เซตซีโร่พรรคการเมือง
กระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องและหลายกลุ่มไม่ใช่เรื่องปรกติธรรมดาที่เกิดเองตามธรรมชาติ และไม่ใช่แค่การสร้างกระแสแบบลมๆแล้งๆ โดยเฉพาะข้อเสนอของ กมธ.ด้านการเมือง สปท. ที่นายวิทยา แก้วภราดัย เสนอให้กระทรวงมหาดไทยกลับมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและให้ คสช. ช่วยควบคุมการเลือกตั้ง นายวิทยาบอกว่าเป็นข้อเสนอตั้งแต่แรกแล้ว เพราะเห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีภารกิจมากเกินไป ที่ผ่านมา กกต. ไม่สามารถปราบปรามการซื้อเสียงได้ กมธ. จึงเสนอแบ่งเบาภาระให้ กกต. ใช้หน่วยงานอื่นไปทำงานได้หรือไม่ การเลือกตั้ง ส.ส. ควรเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งและ กกต. กำกับ
นายวิทยายังอ้างว่ากระทรวงมหาดไทยวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วอย่างมหาศาล เพราะหน่วยงานในกระทรวงถูกกระจายออกไปหมด ถือว่างานเบาที่สุด คนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจะสั่งใครแทบไม่ได้แล้ว และข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นแค่ตุ๊กตาตัวอย่างเท่านั้น ที่ผ่านมา กมธ. เสนอให้มีการปรับปรุง กกต. มาโดยตลอด แต่ก็ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เราไม่มีทางอื่นจึงต้องมาล็อกในกฎหมายลูก
นอกจากประเด็นการจัดการเลือกตั้งแล้ว กมธ.ด้านการเมือง สปท. ยังเสนอให้ “เซตซีโร่” บัญชีรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเคยมีข่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว แม้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. จะแสดงท่าทีเหมือนปฏิเสธก็ตาม แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่ากฎหมายลูกจะออกมาอย่างไร ขณะที่นายไพบูลย์ก็ออกมาระบุว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะที่มาของสมาชิกพรรคต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าพรรคการเมืองมีฐานสมาชิกอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร ไม่เห็นด้วยที่กระทรวงมหาดไทยจะจัดการเลือกตั้ง แต่ กกต. ต้องปรับปรุง กกต.จังหวัดให้ดีขึ้น
นายไพบูลย์ยังเสนอว่า ควรกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบเขตไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของเขตเลือกตั้งทั้งประเทศและต้องส่งทุกภาคเพื่อให้เกิดความเป็นพรรคระดับชาติ รวมทั้งห้ามมีหัวคะแนนเหมือนระบบของญี่ปุ่น เพราะหัวคะแนนถือเป็นพวกทำลายระบบการเมือง ผู้สมัครควรลงไปหาเสียงด้วยตนเอง และลดจำนวนการใช้เงินในการหาเสียงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำโดยนายทุนพรรค
ด้านนายนิกร จำนง สปท. ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ คสช. ควบคุมการเลือกตั้งและเซตซีโร่บัญชีรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง เพราะจะถูกมองว่าไม่เป็นกลางหรือแทรกแซง ซึ่งตามธรรมเนียมผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลไม่ควรมาก้าวก่าย ถ้าผู้ถือรัฏฐาธิปัตย์กดทับการเลือกตั้งไว้จะมีปัญหาการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ทำให้ต่างชาติจะส่งคนมาสังเกตการณ์แน่ ถึงวันนั้นภาพลักษณ์ของประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้า คสช. มาเกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้งมีเเต่เสียกับเสีย ส่วนข้อเสนอให้รีเซตรายชื่อสมาชิกพรรคใหม่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่กี่ปีก่อน กกต. เคยผ่าตัดใหญ่สังคายนาร่วมกับสำนักทะเบียนราษฎร์แล้ว รายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองวันนี้จึงเป็นรายชื่อจริง ไม่มีการสวมรอย
อย่างไรก็ตาม นายวันชัยได้แถลงว่า ที่ประชุม สปท.ด้านการเมืองเมื่อวันที่ 7 กันยายน มีมติเสนอให้ กกต. จัดหรือดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือก ส.ว. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ภายใต้การควบคุมของ กกต. ตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ แต่เนื่องจากเห็นว่า กกต. มีภารกิจมาก จึงให้กระทรวงมหาดไทยมาช่วยจัดการเลือกตั้งเพื่อลดภาระของ กกต. เพราะกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่อำนาจการควบคุมกำกับดูแลและการวินิจฉัยผลการเลือกตั้งยังเป็นของ กกต. เช่นเดิม โดย กกต. ยังทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 224 จึงไม่มีประเด็นใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ส่วนการให้ คสช. มาช่วยควบคุมการเลือกตั้งนั้น กำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมาถึงในครั้งต่อไปเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน รวมทั้ง คสช. ที่จะต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ กกต. เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2560 สปท.ด้านการเมืองก็จะเสนอไปยัง คสช. และรัฐบาลให้นำเรื่องนี้ไปดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งในปี 2560 จะมีความสุจริตเที่ยงธรรม
กกต. เป็นแค่ “ไม้ประดับ”
การเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุน คสช. และข้อเสนอของ สปท. ยิ่งทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสสูงที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปลายปี 2560 โดยเฉพาะกระแสสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจของ คสช. ในทุกรูปแบบ แม้แต่การเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ กกต. ไม่ต่างกับ “ไม้ประดับ” ที่อยู่ภายใต้ คสช.
การชูให้การเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติเพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมผ่านปรากฏการณ์ “ไอ้ห้อยไอ้โหน” จะถูกตั้งคำถามว่าเหมือนร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งปราบโกงแต่ฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ ซึ่งนายวันชัยได้อภิปรายในที่ประชุม สปท. กรณีถูกสื่อและนักการเมืองมองว่าเป็นพวกสอพลอหรือไอ้ห้อยไอ้โหนเพื่อหวังตำแหน่งกับเผด็จการว่า ข้อเสนอของ สปท. เป็นเพราะปัญหาจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรมจนนำมาซึ่งความแตกแยกไม่สมานฉันท์ จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์เที่ยงธรรมและสอดรับกับรัฐธรรมนูญ แม้ตัวกฎหมายจะเด็ดขาด แต่ถ้าการเลือกตั้งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายลูกก็เปล่าประโยชน์ จึงเสนอไปยัง คสช. ให้มาช่วยสนับสนุน กกต. ไม่ใช่มาควบคุมการเลือกตั้ง แต่เพื่อป้องกันข้อครหาว่าการเลือกตั้งล้มเหลว และให้การเลือกตั้งปี 2560 เป็นต้นแบบการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรม ไม่ต้องการให้ กกต. เป็นเหมือนเสือที่ไม่มีใครกลัว จึงเห็นว่า คสช. ต้องทำให้ “โมเดลการเลือกตั้ง” ที่สุจริตปรากฏขึ้น
ข้อเสนอ สปท. ทำลาย คสช.-ทหาร
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอให้ คสช. ควบคุมการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง ส.ส. อ้างเหตุผลต่างๆที่เป็นจุดอ่อนในการทำหน้าที่ของ กกต. ว่าเป็นการแก้ไขผิดจุด จะเป็นการทำลาย คสช. ทางอ้อม และนำไปสู่ทางที่เสื่อม เป็นการทำลายสถาบันทหาร โดยนำมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้สังคมไม่ไว้วางใจผลของการเลือกตั้ง และง่ายต่อการถูกนำไปบิดเบือนข้อเท็จจริงกรณีต่างๆ ทั้งยังจะกระทบต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กกต. และกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะต้องบังคับใช้ไประยะยาว
นายชาญชัยกล่าวว่า หากเห็นว่า กกต. ทำหน้าที่บกพร่องในการจัดการเลือกตั้งจนถูกศาลสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะถึง 2 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อรัฐ หรือไม่สามารถแก้ไขการซื้อสิทธิขายเสียง หรือจัดการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้จริง ก็ควรกลับไปดูที่มาของคนใน กกต. ว่ามาจากหน่วยงานใดและมีพฤติกรรมอย่างไร สามารถแก้ไขได้โดยการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้นและเปิดโอกาสให้สังคมเข้าร่วมตรวจสอบการทำงานของ กกต. มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยปรับปรุงพฤติกรรมของ กกต. และคนในองค์กรต้องปัดกวาด กกต. ให้สะอาดจากข้อครหาต่างๆ ไม่ใช่เสนอให้มีองค์กรอื่นเข้ามาควบคุม กกต. อีกชั้น หากยังเป็นแดนสนธยาเช่นนี้ก็เชื่อว่ายังแก้อะไรไม่ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ได้แถลงหลังการประชุม กกต. ว่าได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้กับ กรธ. และยืนยันว่าไม่มีเซตซีโร่พรรคการเมือง แต่หลักการสำคัญคือ “ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก” คือการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน และมีสาขาพรรคอย่างน้อย 1 สาขาในแต่ละภูมิภาค ส่วนพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ก็ดำเนินการต่อไปได้ ทั้งปฏิเสธข่าวความขัดแย้งภายใน กกต. เรื่องตำแหน่งประธาน กกต. ว่าไม่เป็นความจริง
แม่น้ำ 5 สายเหมือนโจโฉมีเจียวก้าน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ในที่สุดก็ได้เห็นว่าเรื่องใหญ่ที่สุดของแม่น้ำ 5 สายและองค์กรสนับสนุนเรือแป๊ะคือ ตำแหน่งและผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งการแย่งเก้าอี้ประธาน กกต. ซึ่งทั้งคณะตั้งแต่รับตำแหน่งยังไม่มีผลงานอะไรเป็นที่ยอมรับ จัดเลือกตั้งก็เอียงจนล้ม จัดประชามติก็ร่างกติกาขัดหลักสากล และมีปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในการบังคับใช้ แทนที่จะทบทวนบทบาทแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้นกลับหักกันเรื่องตำแหน่ง ประชาชนเรียกร้องอะไรไม่เคยทำหนังสือถาม คสช. แต่ไปถามเรื่องเก้าอี้ รวมถึงการยืนยันสิทธิที่จะเป็น ส.ว.ลากตั้งของ สปช. ทั้งๆที่ควรแสดงสปิริตเว้นวรรคได้โดยตัวเอง แต่กลับไปเสนอเซตซีโร่ตัดสิทธิคนอื่นหลายเรื่อง รวมถึงการเพิ่มจำนวนกรรมาธิการของ สนช. เพื่อรองรับอีก 30 คนที่จะตั้งเข้าไปใหม่ ซึ่งต้องเพิ่มทั้งเจ้าหน้าที่และงบประมาณ ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียงปีเศษในการทำหน้าที่ แทนที่จะกระจายคนที่มาใหม่ให้เข้าคณะที่มีอยู่ เรื่องแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการกล่าวหานักการเมืองว่าเล่นเก้าอี้ดนตรี ต่างกันตรงที่คนเล่นดนตรีให้หยุดหรือไปต่อของนักการเมืองคือประชาชน แต่ของคนพวกนี้คือเผด็จการ
นายณัฐวุฒิยังกล่าวว่า ไม่รู้ว่าฝ่ายยุทธศาสตร์ของ คสช. คิดอย่างไร ในฐานะที่นายกฯไปประชุมที่เมืองจีนก็ขอเปรียบเทียบว่า ถ้าเรือแป๊ะเป็นทัพเรือของโจโฉในสามก๊ก แป๊ะมีหางเครื่องขาประจำพวกนี้ก็เหมือนโจโฉมีเจียวก้านที่ความคิดไม่เข้าท่า แต่เสนอหน้าทุกงาน สุดท้ายความเลอะเทอะของเจียวก้านก็ทำทัพเรือโจโฉล่ม ถ้าแป๊ะไม่ระวังคนพวกนี้อาจทำเรือแป๊ะเผชิญมรสุมเอาง่ายๆ
เลียดีได้ดี-เลียชั่วได้ชั่ว
การเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุน คสช. ที่ถูกมองเป็นพวกสอพลอเผด็จการหรือเป็น “ไอ้ห้อยไอ้โหน”นั้น คงไม่ต่างกับสถานการณ์ช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีเป้าหมายชัดเจน ข้อเสนอของ สปท. ให้ คสช. เข้ามาคุมการเลือกตั้งและดึงกระทรวงมหาดไทยมาเป็นเสาหลักแทน กกต. เป็นการกระชับอำนาจและกระชับพื้นที่เพื่อให้ทุกอย่างไม่ผิดพลาดและทำให้รัฐประหารไม่เสียของ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็น “นอมินี” การปฏิรูปประเทศก็ต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังไม่รวมข้อเสนอการตอนหรือทำหมันนักการเมืองจากการเลือกตั้งแทบจะให้สูญพันธุ์ โดยให้มีบทลงโทษนักการเมืองที่จะให้มีมาตรการทางอาญา ทางแพ่ง และทางการเมือง อย่างรุนแรงและรวดเร็ว เช่น ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต จำคุก 1-10 ปีโดยไม่รอลงอาญา และโทษปรับ 20 ล้านบาท โดยมีอายุความ 20 ปี
นอกจากนี้นายวันชัยยังเสนอมาตรการควบคุมการเลือกตั้งว่า หากพบว่าสมาชิกพรรคทุจริตเลือกตั้งโดยที่หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคเพิกเฉยไม่ใส่ใจ หัวหน้าพรรคต้องมีความผิดด้วย โดยมีบทลงโทษถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งมีความผิดทางอาญา ซึ่งเป็นมาตรการเหมือนการเอาผิด “เด็กแว้น” ที่ให้พ่อแม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
ทั้งหมดตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” นั้นล้วนโกงและเป็นคนชั่ว ส่วน “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” บริสุทธิ์ผุดผ่องชนิดดีมาตั้งแต่เกิด เป็นนักการเมืองพันธุ์ดีแท้พันธุ์ใหม่ที่ไม่ต้องพิสูจน์ก็เชื่อว่าเป็น “คนดี”
การเลือกตั้งปี 2560 จึงต้องจับตาการออกกฎหมายลูกที่ถูกค่อนแคะว่า “ยิ่งปฏิรูปยิ่งย้อนยุค ยิ่งปฏิรูปยิ่งถอยหลัง” กฎกติกาต่างๆแทนที่จะไปสู่อนาคตยุคดิจิตอลกลับถอยหลังไปสู่ยุคไดโนเสาร์ และต้องจับตาปรากฏการณ์ “เลียคนดี” ของ “ไอ้ห้อยไอ้โหน” ว่าจะมีข้อเสนออะไรที่พิสดารออกมาอีก ก่อนที่ “พระเอกตัวจริง” จะโผล่ออกมาเล่นเองเต็มตัว
นักการเมืองน้ำเน่าที่อาสาจะมาเป็นผู้แทนราษฎรในฤดูที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งก็เตรียมตัวไปหาเสียงกับประชาชน ไป “เลียประชาชน” ส่วนนักการเมืองน้ำดีที่อยากมีตำแหน่งโดยไม่ต้องเลือกตั้งคงไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก แค่ต้องเลือก “เลียคนดี” เพราะการ “เลียคนดี” ย่อมต้องได้ดิบได้ดีกว่า “เลียคนชั่ว” อย่างแน่นอน
ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ดังนั้น เมื่อเลียอะไรก็ย่อมได้อย่างนั้น เช่นถ้า “เลียไข่ไดโนเสาร์” ก็ย่อมได้ไดโนเสาร์ ย่อมเป็นอื่นไม่ได้
สัจธรรมที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” จึงถูกปฏิรูปก่อนเลือกตั้งสู่สัจธรรมใหม่ว่า “เลียดีได้ดี เลียชั่วได้ชั่ว” ได้อย่างพิสดาร!!?
You must be logged in to post a comment Login