วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เผือกร้อน?

On September 19, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติ 159 ต่อ 27 คะแนน (ไม่ออกเสียง 1 บัตรเสีย 1) จากผู้เข้าร่วมประชุม 188 คน ถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกจากตำแหน่ง กรณีแทรกแซงก้าวก่ายการปฏิบัติราชการในการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ส่อว่าจงใจในการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) และ (2) รวมถึง และขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 15

ผลจากมติดังกล่าวทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

เกี่ยวกับเรื่องนี้พล.อ.อ.สุกำพล บอกว่าทราบมาว่ามีการสั่งการและล็อบบี้กันมา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะประชาธิปไตยของประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ ไม่ว่ากัน ก็ต้องรอดูกันต่อไป

เรื่องจะมีการสั่งการกันมา หรือล็อบบี้กันมาเพื่อให้มีมติถอดถอนอย่างที่พล.อ.อ.สุกำพล พูดหรือไม่เป็นเรื่องน่าคิด

เพราะถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันนี้เปรียบเทียบ การแต่งตั้งโยกย้ายตั้งแต่ คสช.เข้ามายึดอำนาจ เชื่อว่าจะมีคนใหญ่คนโตต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเป็นกระบุงโกย เพราะมีทั้งตั้งพี่ ตั้งน้อง ตั้งเพื่อน ยันกระทั่งตั้งลูก ถ้าไม่เรียกว่าแทรกแซงก้าวก่ายก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไร

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้ออ้างได้ว่าใช้กฎหมายคนละฉบับ ที่สำคัญการใช้อำนาจในปัจจุบันมีอำนาจพิเศษคุ้มครองอยู่จะทำอะไรก็ได้

การบังคับใช้กฎหมายของของประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ ไม่ว่ากัน

ส่วนสัปดาห์นี้เรื่องจำนำข้าวในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อยึดทรัพย์จากน.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะชัดเจนในสัปดาห์นี้

ประเด็นที่ต้องติดตามคือหลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลังสรุปตัวเลขค่าเสียหายท่าจะเรียกเก็บจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งผ่านมาถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายเอง หรือว่าจะโยนเรื่องกลับไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามในคำสั่งทางปกครองแทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจ

กรณีเดียวกันนี้มีตัวอย่างมาแล้วจากการเรียกค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบจีทูจีที่พล.อ.ประยุทธ์ มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจาก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก 20,000 ล้านบาท

แต่โยนเรื่องไปแล้ว นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กลับโยนเรื่องต่อไปให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในคำสั่งเรียกค่าเสียหายทางปกครองแทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจอีกทอดหนึ่ง

โยนกันไปมายังไม่มีใครกล้าลงนามทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จี้ถามความคืบหน้าตลอดเวลา

เรื่องนี้ทุกคนต่างต้องการความมั่นใจว่าจะไม่ย้อนมาทำร้ายตัวเองในภายหลัง

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ต้องการหนังสือมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ และเมื่อลงนามแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องลงรายมือชื่อในคำสั่งทางปกครองในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีด้วย

กรณีนี้นายกรัฐมนตรีมีหนังสือมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทนมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และคดีความจะหมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ไม่รู้ว่าน.ส.ชุติมา ซึ่งจะเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะยื้อลงนามไปจนถึงวันพ้นจากตำแหน่งได้หรือไม่ เพราะทราบว่าผู้มีอำนาจไล่บี้มาทุกวัน

ขณะที่ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ระบุชัดหากจะต้องลงนามในคำสั่งทางปกครอง ขอพิจารณารายละเอียดก่อน คงไม่สามารถลงนามได้ทันที เพราะการลงนาม หมายถึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

การยึดทรัพย์คดีจำนำข้าวที่ใช้อำนาจมาตรา 44 เปิดประตูให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์แทนส่วนราชการที่ได้รับความเสียหายรอไว้แล้วต้องรอต่อไป

ถ้าไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกล้าลงนามในคำสั่งทางปกครองเอง ไม่ควรโยนให้คนอื่นรับความเสี่ยงแทน เพราะมีเกราะคุ้มกันหลายชั้นจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องการใช้อำนาจที่ไม่ต้องกลัวจะมีคดีความตามมาภายหลัง

เมื่อไม่ลงนามเอง คนที่รับมอบอำนาจไม่มีเกราะป้องกันตัวอย่างหัวหน้าคณะรัฐประหารย่อมต้องคิดมากหน่อยเป็นธรรมดา


You must be logged in to post a comment Login