- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
โรคกลัวอิสลาม? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
“โรคกลัวอิสลาม” หรือ “ความหวาดกลัวอิสลาม” (Islamophobia) เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่สะท้อนอคติที่มีต่อชาวมุสลิมว่าเป็นเหมือนปิศาจร้าย โดยทั่วไปแล้วแสดงถึงท่าทีในเชิงลบ ความรุนแรง ความรู้สึกกลัดกลุ้ม การแบ่งแยก และทัศนคติที่ตายตัว
ความหวาดกลัว หวาดระแวงอิสลาม เกิดการตีแผ่ปรากฏการณ์ความรุนแรงและการก่อการร้ายครั้งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในตะวันออกกลางและโลกตะวันตกว่าเกี่ยวพันกับศาสนาอิสลามและกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นมุสลิมหัวรุนแรง ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้มักสะท้อนผ่านสื่อตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงและสงครามในประวัติศาสตร์ไม่ได้เกิดจากศาสนาอิสลามเท่านั้น ทุกศาสนา ทุกอุดมการณ์ทางการเมือง ล้วนถูกอ้างอิงในการทำสงครามและการก่อความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆมามากบ้างน้อยบ้างทั้งนั้น แต่ความกลัวการก่อการร้ายกลับเป็นเรื่องที่มีเหตุผลมาก เนื่องจาก “เหยื่อ” ของความรุนแรงในการก่อการร้ายไม่ใช่คู่กรณี ทว่าคือ “ผู้บริสุทธิ์” ที่อาจจะเป็นใคร เมื่อไรก็ได้
ดังนั้น กระแสการปฏิเสธการก่อการร้ายในโลกตะวันตกหรือในที่ไหนๆจึงเป็นกระแสที่มีเหตุผล แต่การ “เหมารวม” ว่าการก่อการร้ายเป็นปัญหาของศาสนาอิสลามหรือชาวมุสลิมก็ย่อมไม่ยุติธรรมนัก เพราะยังมีชาวมุสลิมอีกจำนวนมากหรือเป็นส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยและปฏิเสธการอ้างศาสนาอิสลามในการก่อการร้าย
ทำนองเดียวกัน การที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยประกาศโจมตีอิรักในนามของ “เสรีภาพ ประชาธิปไตย” เราก็ไม่อาจเหมารวมว่าเป็นความผิดของแนวคิดหรืออุดมการณ์เสรีภาพ ประชาธิปไตย เพราะมีประชาชนชาวอเมริกันส่วนหนึ่ง หรือประชาชนในอีกหลายประเทศเสรีประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้นำประเทศมหาอำนาจอ้างเสรีภาพและประชาธิปไตยไปใช้กองทัพคุกคามประเทศอื่นๆเช่นนั้น
แน่นอนหากมองจากทรรศนะของชาวมุสลิมก็อาจมองว่าประเทศเสรีประชาธิปไตยตะวันตกก็คุกคามพวกเขาในหลายๆเรื่อง เช่น การไหลบ่าเข้าไปของทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภคนิยมของตะวันตกที่ขัดหลักศาสนาของเขา การค้าอาวุธของนายทุนในประเทศมหาอำนาจ การสนับสนุนสงครามทั้งโดยเปิดเผยและลับๆ การแสวงหาผลประโยชน์จากแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง เป็นต้น
เราอาจจะไม่ได้ทราบเกี่ยวกับความหวาดระแวง หวาดกลัวของชาวมุสลิมที่มองว่าตะวันตกคุกคามพวกเขา ส่วนมากเรามักทราบข่าวสารจากสื่อตะวันตกเกี่ยวกับเรื่องที่ชาวตะวันตกหวาดกลัวการคุกคามของอิสลาม ฉะนั้นกระแสกลัวอิสลามจึงเป็นกระแสในโลกสากลที่ยึดถือคุณค่าสากล เช่น สิทธิมนุษยชน เสรีประชาธิปไตย
เรายอมรับว่าคุณค่าดังกล่าวเป็น “สากล” ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นสิ่งที่มหาอำนาจตะวันตกยัดเยียดให้หรือโน้มน้าวให้คล้อยตาม แต่เป็นเพราะหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีประชาธิปไตยเป็นหลักการที่อธิบายได้ว่าคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆของเราอย่างเท่าเทียมในฐานะที่เราทุกคนเป็น “มนุษย์” เหมือนกัน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศ ภาษา วัฒนธรรม หรือศาสนาใดๆ เมื่อเรายึดคุณค่าสากลเป็นมาตรฐาน อะไรก็ตามที่ขัดแย้งกับมาตรฐานนี้เราก็ย่อมจะปฏิเสธเป็นธรรมดา
แต่โดยมาตรฐานคุณค่านี้ไม่ใช่การก่อการร้ายในนามอิสลามอย่างเดียวที่เราต้องปฏิเสธ ทุกอย่างที่ขัดต่อมาตรฐานสากลนี้ ไม่ว่าจะกระทำโดยประเทศมหาอำนาจที่แทรกแซง เอาเปรียบประเทศอื่นๆ หรือแม้แต่การใช้ศาสนาอื่นๆและอำนาจเผด็จการในประเทศของเราที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีประชาธิปไตยเราก็ต้องปฏิเสธเช่นกัน
แต่ทำไมเราถึงกลัวเฉพาะอิสลาม ไม่กลัว ไม่เกลียดอำนาจเผด็จการอื่นๆที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำให้สร้างระบบเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาไม่ได้
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า โรคกลัวอิสลามส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของอคติระดับสากลที่เกิดกระแสกลัวอิสลาม แต่อคตินี้ไม่ได้มีอิทธิพลมากนัก เพราะถ้ายกตัวอย่างพุทธศรีลังกา พม่า และไทย ที่กำลังสร้างกระแสต่อต้านอิสลามในปัจจุบัน เป็นเพียงการต่อต้านชาวมุสลิมที่เป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในประเทศของตนเท่านั้น
ศรีลังกาอาจมีชาวมุสลิมมากหน่อย พุทธศาสนาที่สร้างความเป็นชาตินิยมในกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวสิงหลก็มักมีอคติกับชนกลุ่มน้อยทั้งชาวมุสลิมและชาวทมิฬ ในขณะที่พม่าก็กีดกันชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยมีพระวีระธุเป็นแกนนำในการต่อต้านมุสลิมดังที่เรารู้จักกันดี
ส่วนในไทยมีชาวมุสลิมประมาณ 5% หรือมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งเมื่อเทียบกับชาวพุทธที่มีจำนวนมากกว่า 90% แล้ว ชาวมุสลิมก็ไม่สามารถเป็นภัยคุกคามชาวพุทธได้เลย แม้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ ความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ที่บาดเจ็บล้มตายก็คือชาวมุสลิมเอง การก่อการร้ายจึงไม่ทำให้ได้มวลชนเพิ่มขึ้นจริง แม้แต่ใน 3 จังหวัด อย่าว่าแต่จะขยายมวลชนในระดับชาติเลย กองกำลังก่อการร้ายก็คงไม่สามารถจะเอาชนะกองกำลังของรัฐไทยได้
ฉะนั้นความกลัวการก่อการร้ายที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มมุสลิมบางกลุ่ม ซึ่งชาวมุสลิมส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วย จึงไม่ใช่ความกลัวภัยคุกคามของอิสลามต่อความมั่นคงของพุทธศาสนาจริงๆแต่อย่างใด
แล้วทำไมในหมู่ชาวพุทธไทยจึงมีการสร้างกระแสความกลัวอิสลามภายใต้วาทกรรม “อิสลามเป็นภัยคุกคามพุทธศาสนา” อาจารย์นิธิมองว่า เป็นเพราะจริงๆแล้วพระไทยและกลุ่มชาวพุทธบางกลุ่มที่สร้างกระแสดังกล่าวสูญเสียบทบาทความเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณแบบยุคเก่าไปมากแล้ว ทางเลือกที่จะสร้างความสำคัญให้กับตัวเองหรือกลุ่มตัวเองก็คือการประกาศตนเป็นผู้ปกป้องพุทธศาสนาจากภัยคุกคาม
ภัยคุกคามที่จะสร้างขึ้นและชี้ให้เห็นได้ง่ายที่สุดคืออิสลาม โดยอ้างอิงปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ และอาจโยงกับกระแสต้านมุสลิมในพม่า ศรีลังกา หรืออ้างอคติระดับสากล แต่ไม่มีความเกี่ยวพันกันเป็นขบวนการแต่อย่างใด เป็นเรื่องส่วนบุคคลของพระหรือชาวพุทธบางกลุ่มที่พยายามสร้างกระแสปกป้องพุทธศาสนาขึ้นมาเพื่อเป้าหมายบางอย่างมากกว่า
You must be logged in to post a comment Login