วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

40 ปี 6 ตุลา วัฒนธรรมไม่รับผิด! / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On September 19, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ อย่างน้อยที่สุดกรณี 6 ตุลาก็เป็นครั้งแรกที่พลังฝ่ายประชาชนได้เรียนรู้ความพ่ายแพ้จากการปราบปรามของชนชั้นปกครองอย่างเป็นรูปธรรม ได้เผชิญกับการรัฐประหารหลังจากบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มา 3 ปี เวลาผ่านมา 40 ปี ที่น่าสนใจคือ กรณี 6 ตุลาเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีการจัดงานรำลึกทุกปี เป็นงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตามแต่โอกาส

การจัดงาน 6 ตุลาในระยะหลายปีที่ผ่านมามีประเด็นสำคัญที่เสนอต่อสังคมไทยให้เป็นบทเรียน 2 ประการคือ ประการแรก ให้เลิกใช้วิธีการรัฐประหารในการแก้ไขปัญหา เพราะการรัฐประหารที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาอะไรได้ ประการที่สอง เรียกร้องต่อชนชั้นปกครองไทยให้เลิกใช้อาวุธและความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ให้รู้จักแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนโดยสันติวิธีเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบ 40 ปี จะเห็นว่าข้อเสนอทั้ง 2 ข้อไร้ผล ชนชั้นปกครองยังแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการสนับสนุนให้กองทัพทำการรัฐประหาร สถาปนาอำนาจเผด็จการ ยิ่งกว่านั้นความรุนแรงจากการใช้อำนาจรัฐก็ยังปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คำถามคือ เหตุใดชนชั้นนำไทยจึงไม่รู้จักสรุปบทเรียน และใช้วิธีการแบบเดิมทั้งปราบปรามประชาชนและก่อรัฐประหาร อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำตอบว่า วัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรับผิด (Culture of impunity) ของชนชั้นปกครองไทยมีความสำคัญอย่างมาก เพราะกลายเป็นว่าเมื่อผู้มีอำนาจก่อการกระทำผิดต่อชีวิตของประชาชน เช่น กรณี 6 ตุลา และกรณีที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น พฤษภาคม 2535 รัฐบาลที่ก่อเหตุการณ์ไม่เคยต้องรับความผิด มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับความผิดเหล่านั้น กฎหมายนิรโทษกรรมจึงมีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมก่อนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น

ที่มากกว่านั้นคือ กรณีสังหารประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่มีกระบวนการใดเลยที่จะจัดการนำตัวผู้ก่อเหตุสังหารประชาชนกลางพระนครมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ การเสนอให้สอบสวนดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบสั่งฆ่าประชาชน โดยเฉพาะกรณีเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 จึงเป็นเสมือนความฝัน เพราะในความเป็นจริงแม้กระทั่งคำขอโทษหรือท่าทีสำนึกในความผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่เคยมีด้วยซ้ำ ชนชั้นนำไทยเฉยเมยอย่างมากต่อการสังหารหมู่คนเสื้อแดง และเมื่อการรัฐประหารครั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปราบปรามประชาชนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้ความหวังที่จะลงโทษผู้กระทำผิดยิ่งเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดการสังหารประชาชนครั้งนั้นก็จะจบลงภายใต้วัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของชนชั้นนำเช่นเดิม

ท่ามกลางกระบวนการละเลยความผิดกันเองในหมู่ชนชั้นนำ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดในทางการเมืองเป็นฝ่ายประชาชนกลับถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง เช่น กรณี 6 ตุลา มีการจับกุมนักศึกษาประชาชน 3,094 คน ต่อมาถูกฟ้องดำเนินคดี 19 คน ส่วนกรณีเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีประชาชนฝ่ายคนเสื้อแดงถูกจับดำเนินคดีนับพันคน จนถึงวันนี้หลายคนถูกตัดสินลงโทษสถานหนัก อย่างกรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีถูกตัดสินลงโทษ 13 คน โดยนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา ถูกลงโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ความจริงแล้วก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ได้รับผลจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เท่ากับว่าการนิรโทษกรรมความผิดเป็นเรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น ประชาชนจะได้รับนิรโทษกรรมไม่ได้

เช่นเดียวกับการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ 5 ครั้งในระยะ 40 ปี ทั้งที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่ก็ได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำในสังคมไทย และกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกระบวนการรัฐสภาที่แต่งตั้งโดยคณะทหาร หรือโดยคณะตุลาการที่โอนอ่อนตามอำนาจคณะรัฐประหารเสมอมา ทำให้คณะรัฐประหารทุกคณะไม่เคยแตะต้องอำนาจตุลาการเลย ยิ่งกว่านั้นการรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ยังมีกระบวนการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้คณะตุลาการอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกด้วย

สรุปแล้ว ไม่ว่าการรัฐประหารครั้งไหนจะก่อความเสียหายเหลือคณานับกับประเทศอย่างไร คณะรัฐประหารก็ไม่เคยต้องรับผิด และยังได้ผลประโยชน์อันมหาศาล ทำให้นายทหารที่ก่อรัฐประหารทุกสมัยล้วนมีฐานะอันมั่งคั่งร่ำรวย

ในต่างประเทศหลายประเทศได้ยกเลิกวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของชนชั้นนำ เช่น เกาหลีใต้ ตุรกี บราซิล อาร์เจนตินา และชิลี นำเอาอดีตนายทหารที่ก่อการรัฐประหารและปราบปรามประชาชนมาลงโทษ เช่น ล่าสุดศาลอาร์เจนตินามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน ลงโทษ พล.อ.อ.โอมาร์ กราฟฟิกนา อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ วัย 90 ปี และนายลุยซ์ ตริลโญ วัย 75 ปี อดีตหัวหน้าสำนักข่าวกรอง จำคุกคนละ 25 ปี ในความผิดฐานปราบปรามและสังหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านเมื่อ พ.ศ. 2522 เพื่อสร้างหลักประกันไม่ให้มีการรัฐประหารและละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอีก

นี่คงเป็นความคาดหวังว่า สิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดได้ในสังคมไทย เพื่อทำให้การรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และปิดทางชนชั้นนำที่จะกระทำอีกในอนาคต แม้ความคาดหวังจะไม่เป็นจริงในขณะนี้ และอาจไม่เป็นจริงสำหรับรุ่นคนเดือนตุลา ซึ่งขณะนี้ต่างสูงอายุแล้ว แต่ก็หวังให้เป็นจริงสักวันหนึ่งข้างหน้า


You must be logged in to post a comment Login