วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เรียกแขก?

On September 22, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ดราม่าเรื่องนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยา “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม นำคณะขึ้นเครื่องบินทหารไปเปิดฝายทดน้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ถูกแตกประเด็นออกไปเรื่อยๆ

ณ ขณะนี้ถูกแตกประเด็นมาถึงการตั้งคำถามว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเป็นประธานเปิดฝายครั้งนี้มีราคาแพงหูฉี่ แพงกว่าราคาค่าก่อสร้างฝายหลายเท่าตัว

ตามคำชี้แจงผู้เกี่ยวข้องบอกว่างบประมาณในการก่อสร้างฝ่ายอยู่ที่ 7,800 บาท เพราะเป็นฝายทดน้ำที่สร้างง่ายๆ ใช้แค่ไม้ไผ่กับก้อนหิน

แต่ค่าเดินทางไปเป็นประธานเปิดฝายโดยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศแพงกว่านั้นมาก ข้อมูลที่เผยแพร่กันอยู่ตอนนี้ระบุว่า Operating Cost ของเครื่องบิน C-130 ตกชั่วโมงละ 504,504 บาท หรือ $14,014 ต่อชั่วโมง

คำนวณการบินไป-กลับเพื่อเป็นประธานเปิดฝายน่าจะใช้เงินราว 2,000,000 บาท

เกิดคำถามให้ดราม่าว่า ค่าเดินทาง 2,000,000 บาท ไปเปิดฝายที่ใช้งบก่อสร้าง 7,800 บาท เอาเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางบวกค่าต้อนรับจะสร้างฝายทดน้ำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้กี่ฝาย

ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 2,000,000 บาทมาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากภาษีประชาชน

คำถามเหล่านี้กระทบความรู้สึกอย่างมาก

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางจริงจะสูงเท่าที่พูดกันหรือไม่ ผู้รู้ ผู้เกี่ยวข้องควรต้องออกมาชี้แจง เหมือนที่มีการชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าหนังสือขอสนับสนุนเครื่องบินในการเดินทางระบุเป็นคณะของปลัดกระทรวงกลาโหม ไม่ได้ระบุว่าเป็นคณะของภริยาปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งแม้จะมีสถานะเป็นเมียทหารแต่ก็ถือว่าเป็นพลเรือนจึงไม่มีสิทธิ์ใช้ทรัพยากรของกองทัพ

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งออกมาโต้แย้งเหมือนกันว่าปรกติกองทัพต้องฝึกนักบินเพื่อให้มีความชำนาญอยู่แล้ว ถึงไม่ได้ให้บริการเดินทางแก่คณะของใครก็ต้องบินเครื่องเปล่าไปมาอยู่เป็นประจำ

เรื่องค่าแรง ค่าอะไหล่ ค่าน้ำมัน ถูกคำนวณเอาไว้เป็นงบประมาณปรกติอยู่แล้ว ถ้าไม่ฝึกบินจะเกิดความชำนาญได้อย่างไร

ประมาณว่าถึงไม่บินไปส่งคณะของภริยาปลัดกระทรวงกลาโหมไปเปิดฝายก็ต้องมีการฝึกบินเป็นปรกติ การไปส่งคณะภริยาปลัดกระทรวงกลาโหมไม่ได้ทำให้เสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติมจากงบประมาณที่ตั้งเอาไว้

จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก

เรื่องแบบนี้แล้วแต่มุมมองประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ส่วนหนึ่ง

ประเด็นเรื่องมีสิทธิ์ใช้บริการเครื่องบินของกองทัพอากาศหรือไม่ก็แยกไปอีกส่วนหนึ่ง

เมื่อมีข้อมูลว่ากองทัพต้องฝึกบินเป็นปรกติอยู่แล้ว ไม่ได้เสียงบประมาณเพิ่มเติมจากที่ตั้งเอาไว้ ประเด็นหลักที่ควรต้องพิจารณาจึงเป็นเรื่องหลัง คือ มีสิทธิ์ใช้เครื่องบินหลวงในการเดินทางหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีคนยื่นฟ้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบแล้ว

เรื่องภริยา “บิ๊กติ๊ก” ยังคงต้องดราม่ากันต่อไป พร้อมกับมีเรื่องลูกของ “บิ๊กติ๊ก” เข้ามาผสมโรงดึงให้ประชาชนหันมาสนใจมากขึ้น

เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ที่มีชื่อลูกชาย “บิ๊กติ๊ก” ถือหุ้น เพิ่งจดทะเบียนเมื่อปี 2555 มีทุนจดทะเบียน 1,500,000 บาท แต่กลับชนะประมูลงาน เป็นคู่สัญญารับเหมาหน่วยงานในกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 7 โครงการ มูลค่ากว่า 97 ล้านบาท และเป็นคู่สัญญากับสำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 9 อีก 1 สัญญามูลค่ากว่า 44 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นคู่สัญญากับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.พิษณุโลกอีก 3 สัญญา มูลค่ากว่า 13 ล้านบาท) รวมวงเงินกว่า 155 ล้านบาท

เรื่องนี้มีคนตั้งคำถามว่าทำไมบริษัทหน้าใหม่ที่มีทุนจดทะเบียนเล็กน้อยจึงชนะประมูลงานของหน่วยงานรัฐหลายโครงการ แถมยังมีข่าวว่าบริษัทที่แพ้ประมูลงานแข่งกับ หจก.ของลูก “บิ๊กติ๊ก” เป็นบริษัทหน้าเดิมๆ และแพ้ประมูลกันในวงเงินเสนอราคาไม่มาก

เมื่อมีข้อสงสัยก็ต้องตรวจสอบโดย นายศรีวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะยื่นให้ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ประกอบ มาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 หรือไม่


You must be logged in to post a comment Login