วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยุคการเมืองพลิกผัน? / โดย ณ สันมหาพล

On September 26, 2016

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

นักสังเกตการณ์การเมืองทั่วโลกต่างวิเคราะห์ว่า โลกกำลังเผชิญปัญหาการเมืองพลิกผันและวิตกถึงภัยใหม่ที่จะตามมา เพราะอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนอย่างที่เคยเกิดในหลายประเทศช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นและเห็นชัดที่สุดคือ กรณีการลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรปของอังกฤษ แม้คะแนนระหว่างคนเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยไม่ห่างกันนัก แต่ใครจะคิดว่าคนอังกฤษที่ได้ชื่อว่ามีความรู้ความเข้าใจการเมืองลึกซึ้ง ทั้งยังได้รับข่าวสารที่มีอย่างกว้างขวาง จะตัดสินใจทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการทูต

ถ้าจะพูดอีกอย่างคือ คนอังกฤษไม่ต้องการให้ประเทศตัวเองเป็นมหาอำนาจอีกต่อไป ต้องการให้ออกมาอยู่โดดเดี่ยวและเลิกยุ่งเกี่ยวกับโลก ซึ่งตรงกันข้ามกับอังกฤษในอดีต

นอกจากนี้ยังมีการเมืองที่พลิกผันคือ การชนะเลือกตั้งของบรรดานักการเมืองหญิงในหลายประเทศจนกลายเป็นกระแสทั่วโลก เช่น ที่มหานครโตเกียวได้เลือกผู้หญิงให้เป็นนายกเทศมนตรีเป็นครั้งแรก ขณะที่ไต้หวันและเมียนมาร์ก็มีผู้หญิงเป็นผู้นำของประเทศ รวมถึงอังกฤษก็ได้นายกรัฐมนตรีหญิงอีกครั้ง

ที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดคือ โอกาสที่นางฮิลลารี คลินตัน จะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์สหรัฐและประวัติศาสตร์โลก เพราะฮิลลารีจะเป็นผู้นำหญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก หลังจากเมื่อศตวรรษที่ 18 สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษได้รับการยกย่องมาก่อนหน้านี้

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐถูกจับตามองอย่างมาก เพราะหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งก็จะเกิดการพลิกผันทางการเมืองของสหรัฐและของโลกอย่างมากมายเช่นกันหากทรัมป์ทำตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งจะเกิดการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีจริงจะไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามคนมุสลิมเข้าสหรัฐ หรือเนรเทศคนหลบหนีเข้าเมือง การหาเสียงแบบสุดโต่งทำให้ได้คะแนนนิยมไม่น้อย แต่ก็ทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ รวมถึงประชาคมโลก

หรือการปรับนโยบายใกล้ชิดกับรัสเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศคู่อริมายาวนาน โดยมองว่าการเข้าไปของสหรัฐก็เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะหากเศรษฐกิจรัสเซียกลับมาเฟื่องฟูสหรัฐก็ต้องได้ผลประโยชน์เช่นกัน เหมือนกรณีที่สหรัฐเข้าไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับจีน

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการพลิกผันทางการเมืองของโลกทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิด ผนวกกับกระแสโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจทุนนิยม จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำ การอพยพเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติและการขยายอิทธิพลของกลุ่มคนมีเงินและมีความรู้จะเป็นกระแสใหม่ของโลก ซึ่งประเทศตะวันตกต่างก็ปรับตัวรับกระแสนี้

แม้เศรษฐกิจยุโรปจะยังไม่สามารถผ่านวิกฤตได้ อัตราการว่างงานยังสูง และปัญหาความเหลื่อมล้ำจากกระแสผู้อพยพ ก็ยิ่งทำให้นโยบายทางการเมืองเปลี่ยนไปในหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่อังกฤษเท่านั้น

โดยเฉพาะสหรัฐที่ทั่วโลกกำลังติดตามดูว่าจะเกิดการพลิกผันครั้งใหญ่หรือไม่ ไม่ว่าฮิลลารีหรือทรัมป์จะได้เป็นผู้นำคนใหม่ แนวความคิดทางการเมืองจะเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่เห็นด้วยที่สหรัฐจะเข้าไปมีบทบาทต่างๆของโลกอย่างในอดีต

ขณะที่หลายประเทศก็มีการเมืองแบบสุดขั้ว โดยเฉพาะในเยอรมนีกับการก้าวขึ้นมาของพรรค the Alternative for Germany หรือพรรคทางเลือกสำหรับเยอรมนี ซึ่งต่อต้านการอพยพเข้าเมืองและสนับสนุนการปกครองแนวอนุรักษ์นิยมผสมประชานิยม

ส่วนในฝรั่งเศสมีพรรค Front National หรือแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งมีหัวหน้าพรรคเป็นผู้หญิงชื่อ Marine Le Pen มีนโยบายต่อต้านการอพยพเช่นกันและสนับสนุนให้กลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจผูกขาด โดยใช้แรงงานคนในพื้นที่ ไม่ใช่แรงงานอพยพ

กระแสผู้หญิงเป็นใหญ่ในโลก ไม่ว่าสหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ไม่ใช่เฉพาะกระแสการเมืองโลกที่พลิกผันเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงระบบเศรษฐกิจที่กำลังกลับไปเป็นแบบอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับกระแสโลกาภิวัตน์และอาจทำให้หลายประเทศถึงขั้นหายนะ


You must be logged in to post a comment Login