- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เลี้ยวขวาสู่อนุรักษ์นิยม? / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
หลังจากคอมมิวนิสต์ล่มสลายและนำมาซึ่งการยุติสงครามเย็นแล้วมาสู่กระแสการเมืองของโลกคือ การย้อนกลับสู่สมัยอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาที่ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ครอบงำโลก พลังการเมืองฝ่ายสังคมนิยมและฝ่ายซ้ายสิ้นสภาพ อดีตประเทศสังคมนิยมทั้งจีนและรัสเซียก็มีแนวโน้มก้าวไปทางขวา พลังอำนาจใหม่ที่ท้าทายประเทศทุนนิยมตะวันตกมากที่สุดกลายเป็นพลังของฝ่ายอิสลามสุดขั้ว ซึ่งก็มีลักษณะอนุรักษ์นิยมแบบจารีตแบบหนึ่ง
แนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้นในยุโรปคือ กระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยและเกลียดชังอิสลาม นำยุโรปไปทางอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวามากขึ้น หรือในสหรัฐกระแสเลี้ยวไปทางขวา โดยสะท้อนความเฟื่องฟูจากคะแนนนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เสนอนโยบายต่อต้านผู้อพยพแบบสุดขั้วและฟื้นคุณค่าเก่าของสหรัฐ แต่ที่น่าสนใจคือ กระแสธารการเมืองในไทยระยะ 10 ปีที่ผ่านมาก็โน้มไปสู่อนุรักษ์นิยมฝ่ายขวามากขึ้นเช่นกัน
อนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งที่มุ่งจะรักษาระเบียบสังคมและการเมืองแบบเก่า เห็นว่าจารีตประเพณีเดิมเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า การเปลี่ยนแปลงจะทำได้ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในกรอบของเดิม การปกครองที่ดีในความเห็นแบบอนุรักษ์นิยมต้องเป็นการปกครองโดยชนชั้นนำ เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือเป็นคนดี ขณะที่ประชาชนส่วนมากโง่เขลา เห็นแก่ตัว ไม่มีระเบียบ จึงต้องเป็นผู้ถูกปกครองเท่านั้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นของใหม่ แต่จารีตประเพณีมีมาช้านานแล้ว
แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมลักษณะนี้ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน อนุรักษ์นิยมไทยจึงมีแนวโน้มต่อต้านการปฏิวัติ 2475 เพราะเห็นว่าเป็นการทำลายแบบแผนและจารีตประเพณี สังคมไทยอาจเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มาจากการพระราชทาน การยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ถือเป็นการชิงสุกก่อนห่าม การรัฐประหารเพื่อล้มล้างฝ่ายประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าระบอบประชาธิปไตยนั้นนำมาซึ่งนักการเมืองที่มาจากชนชั้นล่าง ซึ่งมักเป็นคนโลภและทุจริต แต่อนุรักษ์นิยมไทยจะไม่ต่อต้านนักการเมืองจากชนชั้นสูง เพราะเห็นว่ามีความชอบธรรม ในอดีตที่ผ่านมาอนุรักษ์นิยมไทยอยู่ได้และเติบโตหลังรัฐประหาร 2490 กลายเป็นพลังค้ำจุนระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
หลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 อนุรักษ์นิยมไทยถูกท้าทายอย่างหนักจากการเติบโตของอุดมการณ์สังคมนิยมและการเคลื่อนไหวของพลังฝ่ายซ้าย อนุรักษ์นิยมไทยสนับสนุนการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนและการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เพราะหวังว่าการรัฐประหารจะนำมาซึ่งระเบียบการเมืองแบบเดิมและสามารถหยุดยั้งการขยายตัวของพลังฝ่ายซ้าย แต่กลับเป็นการสร้างกำลังให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ต่อสู้อยู่ในป่าเขา ทำให้สงครามกลางเมืองในประเทศขยายตัว แต่หลัง พ.ศ. 2522 ฝ่ายสังคมนิยมขัดแย้งกันเองอย่างหนักและนำมาซึ่งการล่มสลายของพลังฝ่ายซ้าย สังคมไทยกลับสู่ยุคปรองดองและเดินหน้าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ทำให้พลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2522 จึงมีแนวโน้มว่าระบอบประชาธิปไตยมีการพัฒนาอย่างมั่นคง การเลือกตั้งกลายเป็นกระบวนการทางการเมืองปรกติ สถาบันพรรคการเมืองดูมีความมั่นคง ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศคือหัวหน้าพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีการสลับฉากเนื่องจากการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยคณะทหารพยายามรักษาอำนาจ ปราบปราบประชาชนอีกครั้ง แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยินกรณีพฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 ทำให้ระบอบเผด็จการทหารดำรงอยู่ในระยะสั้น
หลังจากนั้นประเทศไทยก็กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาเช่นเดิม และดำเนินต่อมาจนเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงและหยั่งรากลึกเช่นเดียวกับประเทศตะวันตกทั้งหลาย แม้จะมีแนวโน้มไปทางอนุรักษ์นิยมเช่นกัน แต่กติกาประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นมีความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดำเนินไปด้วยเสียงของประชาชนเท่านั้น การรัฐประหารโดยกองทัพเกิดขึ้นไม่ได้เลย นักคิดทางการเมืองไทยแทบทั้งหมดก่อน พ.ศ. 2549 เชื่อว่าการเมืองไทยจะก้าวไปสู่วิถีแบบอารยประเทศ แต่ปรากฏว่าแนวคิดเช่นนั้นผิดสำหรับสังคมไทย เพราะอนุรักษ์นิยมไทยมีความล้าหลังที่สุด ย้อนยุคที่สุด และป่าเถื่อนเกินความคาดหมาย
ความล้าหลังของชนชั้นนำไทยที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้วอยู่ที่ว่า พวกเขาเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการ คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเป็นเพียงพิธีการรองรับการเปลี่ยนแปลงในกรอบที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าประชาชนมีพฤติกรรมทางการเมืองนอกกรอบที่ชนชั้นนำต้องการก็จะเอาการรัฐประหารมาใช้ ไม่เพียงเท่านั้น แม้กระทั่งการฟื้นระบอบเผด็จการสุดขั้ว ให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของผู้นำกองทัพ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใช้กฎหมายป่าเถื่อนตามใจชอบโดยไม่ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน สองมาตรฐานกลายเป็นเรื่องปรกติ อนุรักษ์นิยมไทยจึงยอมรับการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ความมั่นคงของระบอบเผด็จการภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้ให้เห็นว่าเผด็จการในไทยสามารถอยู่ได้ยาวนานตราบเท่าที่เผด็จการรองรับอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ สังคมไทยจะก้าวไปทางขวา อนุรักษ์นิยมมากขึ้น แม้กระทั่งหลักการแบบเสรีนิยมที่เชื่อในแนวคิดปัจเจกชนนิยม ระบบการเมืองที่มีเหตุผล ความเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนความเป็นนิติรัฐ ก็เป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน ชัยชนะของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับเหลวไหลจนผ่านประชามติ 7 สิงหาคม ยิ่งสะท้อนความมืดมนในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น แม้กระทั่งทุนนิยมโลกาภิวัตน์ยังเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าเกินไปสำหรับประเทศไทย เพราะการบริหารโดยกองทัพและระบบราชการถือว่ามีความมั่นคงกว่าและถือเป็นเรื่องของสังคมไทยเราเอง คนนอกไม่เกี่ยว
นี่คือสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยวันนี้ ในโอกาส 10 ปีแห่งการรัฐประหาร
You must be logged in to post a comment Login