วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เรียกค่าเสียหายจำนำข้าวกรณีศึกษาจากถอดยศ‘ทักษิณ’/ โดย ลอย ลมบน

On September 26, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

ถึงวันนี้วันที่หนังสือ “โลกวันนี้วันสุข” อยู่ในมือผู้อ่าน ไม่รู้ว่ามีใครยอมลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวแล้วหรือยัง

แต่ไม่ว่าจะเซ็นแล้วหรือยังไม่มีใครเซ็น เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณา

กรณีแรกคือเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 56/2559 ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์คดีโครงการรับจำนำข้าว

ผลจากคำสั่งนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองถ้าทำโดยสุจริต

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันมานานแต่ยังไม่ได้รับคำตอบคือ การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวยังไม่สมบูรณ์ ทำไมต้องเร่งรัดให้มีการเรียกค่าเสียหาย

นอกจากนี้การปิดบัญชี 2 ครั้งที่เขียนไว้ชัดเจนว่ายังไม่ผ่านการตรวจสอบและสอบทานนั้นไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีการรับรองโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

เมื่อตัวเลขบัญชียังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์จะนำมูลเหตุอะไรมาตั้งเป็นค่าเสียหายหรือกล่าวหาว่าทุจริตไม่ได้

หากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งคนที่ลงนามและคนที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 จะต้องทำบัญชีตรวจสต็อกสินค้าทั้งหมด ปิดบัญชีและสอบบัญชีให้เรียบร้อยก่อน

เมื่อกฎหมายคุ้มครองเฉพาะการกระทำที่สุจริต

น่าจะเป็นเหตุให้ช่วงที่ผ่านมาการมอบอำนาจจึงโยนกันไปมาระหว่างคนที่มีอำนาจในการลงนามในคำสั่งทางปกครอง

หากมองในมุมการเมือง มีกรณีเปรียบเทียบให้เห็นว่าการมุ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการกระทำสองมาตรฐานหรือไม่

ทั้งที่หลายรัฐบาลก็ทำโครงการรับจำนำข้าวที่ราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด

ไม่ต้องย้อนไปไกล ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาด และมีสต็อกข้าวสาร ณ เดือนมิถุนายน 2552 สูงถึง 7.67 ล้านตัน แต่กลับไม่มีการตั้งเรื่องสอบผลขาดทุนและความเสียหายเพื่อให้ผู้กระทำความผิดมารับโทษชดใช้ทางละเมิดแต่อย่างใด

ที่สำคัญกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพวกที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในส่วนคดีอาญา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระบวนการพิจารณาอยู่ระหว่างการสืบพยาน

ตามหลักการแล้วการจะเรียกค่าเสียหายถือเป็นเรื่องที่ต้องสอดคล้องกับคดีอาญา

พูดง่ายๆคือ ควรให้มีผลการพิจารณาความผิดทางอาญาจากศาลก่อน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่างๆเหล่านี้เป็นข้อโต้แย้งที่มีมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาล คสช. จะไม่รับฟัง และดำเนินการเรียกค่าเสียหายมาอย่างต่อเนื่องและมีความคืบหน้าของการดำเนินการมาเป็นลำดับ

ความคืบหน้าล่าสุดก็อย่างที่ทราบกันว่า ในส่วนค่าเสียหายจากการระบายข้าวแบบจีทูจีที่จะเรียกค่าเสียหายจากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวกนั้น คำสั่งทางปกครองออกมาแล้ว เหลือแค่คนลงนามให้คำสั่งมีผลบังคับใช้

ส่วนกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขที่จะเรียกค่าเสียหายที่แน่ชัดเพื่อส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาสั่งการว่าจะให้ใครเป็นผู้ลงนามในคำสั่งทางปกครอง

หากพิจารณาจากกรณีของนายบุญทรงที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามแทน ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็คงแทงเรื่องมอบอำนาจไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามแทน

หลังจากเห็นการโยนเรื่องกันไปมากรณีของนายบุญทรงคือ นายกฯมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนาม รัฐมนตรีกลับแทงเรื่องมอบอำนาจต่อไปให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามแทน

ทำให้หลายคนนึกถึงกรณีการถอดยศพันตำรวจโทของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการดำเนินการต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ที่มีประเด็นถกเถียงกันทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทำให้ยืดเยื้อ ไม่มีใครกล้าลงนามถอดยศ

เรื่องค้างเติ่งหลายปี มาสำเร็จเอาเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นผู้ลงนาม และไม่ได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯตามขั้นตอนปรกติ แต่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งถอดยศ

เรื่องเรียกค่าเสียหายรับจำนำข้าว ถ้าอยากจะให้มีผลไวทันใจใครหลายคน บางทีอาจต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง เพราะยังมีประเด็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เถียงกันไม่สะเด็ดน้ำ

ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าเหมือนออกคำสั่งถอดยศพันตำรวจโทของ ดร.ทักษิณหรือเปล่าเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login