- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
กรรมสนองโกง(ส่องไฟแต่เขา อิเหนาเป็นเอง) / โดย ทีมข่าวการเมือง
คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง
ในที่สุด “ดราม่าเผือกร้อน” กรณีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีก็จบลง เมื่อนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมลงนามคำสั่งให้นำเงินชดเชยใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งทางปกครองขายข้าวแบบจีทูจีประมาณ 6.2 ล้านตัน ซึ่งหนังสือคำสั่งทางปกครองเป็นการ “ลงนามคู่” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในฐานะได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในฐานะได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
คำสั่งทางปกครองดังกล่าวจะถูกส่งไปถึงนักการเมืองและข้าราชการทั้ง 6 คน เพื่อให้ตอบกลับภายใน 30 วัน หากครบ 30 วันแล้วยังไม่ตอบกลับ จะส่งหนังสือแจ้งเตือนอีก 15 วัน ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของกรมบังคับคดี
นักการเมืองและข้าราชการที่ถูกเรียกค่าเสียหายประกอบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 1,770 ล้านบาท นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2,300 ล้านบาท ส่วนอดีตข้าราชการ 4 คนประกอบด้วย พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 4,000 ล้านบาท นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 4,000 ล้านบาท นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 4,000 ล้านบาท และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ 4,000 ล้านบาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 20,070 ล้านบาท
ผู้ถูกเรียกชดใช้เงินทั้ง 6 คน มีสิทธิยื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกคำสั่ง หรือหากศาลสั่งทุเลากระบวนการต่างๆก็จะหยุดเพื่อรอคำตัดสินของศาล หากศาลสั่งไม่ทุเลา กระบวนการเรียกค่าชดใช้จะต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอน
โยนกันวุ่น “ไม่กลัว..แต่ไม่กล้า”
คดีนี้เกิดขึ้นสมัยนายบุญทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการขายข้าวแบบจีทูจีให้กับรัฐบาลจีน แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่าไม่ได้มีการขายข้าวแบบจีทูจีจริง
โดยก่อนจะมีการลงนามคำสั่งทางปกครองก็เกิดปัญหาเมื่อนางอภิรดีไม่ยอมลงนามเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีในการลงนามหนังสือบังคับทางปกครองแทน แต่กลับจะมอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีคำสั่งถึงปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินการ ให้เหตุผลที่สะดุ้งไปทั้ง “เรือแป๊ะ” ว่า
“พี่ไม่ใช่นักการเมือง แต่มาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญและทำงานอย่างตรงไปตรงมา เรื่องนี้ต้องลงรายละเอียดเยอะและเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการทำงานให้รอบคอบ ไม่ตั้งใจที่จะกลั่นแกล้งและลงโทษใคร ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้าและเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามที่นายกฯได้มอบหมายมา”
ขณะที่ น.ส.ชุติมาซึ่งถูกมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ลงนามแทนก็บอกว่า จะลงนาม แต่รัฐมนตรีต้องทำหนังสือมอบอำนาจมาให้ก่อนจึงจะลงนามแทนได้ เมื่อรัฐมนตรีไม่ลงนาม ปลัดกระทรวงก็ไม่ลงนาม
เมื่อดราม่าโยน “เผือกร้อน” กันไปมา ทั้งอ้างว่าพร้อมจะทำตามกฎหมาย และทำท่าว่าหวยจะออกไปที่ว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ที่จะรับตำแหน่งวันที่ 1 ตุลาคมคือ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่ง น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ก็พูดชัดเจนว่า หากจะต้องลงนามก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน เพราะการลงนามหมายถึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ตนไม่รู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น จึงไม่สามารถลงนามได้ทันที
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์โยน “เผือกร้อน” กลับไปนิ่มๆว่า “เชื่อว่าปลัดชุติมาซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก คิดว่าท่านคงต้องทำให้เสร็จ ไม่ทิ้งเรื่องไว้แน่ เพราะท่านมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะดำเนินการให้เสร็จ”
ขณะที่มีรายงานข่าวว่า น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวกับคนใกล้ชิดว่า หากหลังเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์มีการบังคับให้ลงนามเรียกค่าเสียหายข้าวจีทูจีก็อาจจะลาออก สุดท้ายหวยจึงไปออกที่การลงนามคู่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน
ง่ายแต่ไม่หมู
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 ไม่ใช่ใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อยึดทรัพย์ แต่ให้กรมบังคับคดีที่มีความชำนาญเป็นผู้ดำเนินการในการยึดทรัพย์ แต่ก็พูดชัดเจนว่าจะเร่งคดีนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนหมดอายุความคือเดือนกุมภาพันธ์ 2560
การใช้มาตรา 44 ในคำสั่งทางปกครองถูกตั้งคำถามว่ามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ แม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังเลี่ยงที่จะตอบเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถาม ขณะที่นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวกรณีที่นายบุญทรงระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสินว่า การเรียกค่าเสียหายกับการดำเนินคดีอาญาในศาลฎีกาฯเป็นการดำเนินการคนละส่วนกัน การเรียกค่าเสียหายเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ ในอดีตเคยมีลักษณะนี้ ส่วนผู้ที่ถูกเรียกค่าเสียหายจะต่อสู้อย่างไรก็ถือเป็นสิทธิ
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยอมรับว่า การเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ไม่ง่าย และไม่รู้ว่าจะถึงกรมบังคับคดีเมื่อไร เพราะข้าราชการมีสิทธิร้องศาลปกครอง ซึ่งปัจจุบันคดีอุทธรณ์เกี่ยวกับข้าราชการทุกกระทรวงมีเต็มไปหมด ใครแพ้ชนะก็ว่ากันที่ศาลปกครอง พอจบแล้วกรมบังคับคดีจึงจะเข้าไปดำเนินการได้ตามคำสั่งศาล
ดังนั้น การใช้มาตรา 44 กับนายบุญทรงและพวก จึงเชื่อว่าจะถูกนำไปใช้กับคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้รับผิดชอบเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้เรื่องยังไม่ถึงตน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง และยังไม่มีการสรุปตัวเลขขาดทุนที่แน่ชัด เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเสร็จจึงจะส่งมาที่ตนเพื่อลงนามร่วมกับนายกรัฐมนตรี ก่อนจะส่งให้กรมบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ต่อไปตามขั้นตอน
ส่วนจะเกิดกรณีดึงเรื่องไม่ยอมลงนามเหมือนกระทรวงพาณิชย์หรือไม่นั้น นายอภิศักดิ์กล่าวสั้นๆว่า “ไม่รู้ๆๆ ต้องดูก่อน”
จะฟ้องกลับทุกคนทุกศาล
การใช้มาตรา 44 กรณีโครงการรับจำนำข้าว แม้จะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ก็คือการใช้อำนาจจากการรัฐประหาร ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐตามกระบวนการยุติธรรมปรกติ โดยนายบุญทรงได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค (19 กันยายน) ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม และถือเป็นความผิดปรกติในการออกคำสั่งมาตรา 44 ให้ชดใช้ค่าเสียหายและยึดทรัพย์ เพราะคดีนี้ถูกฟ้องร้องที่ศาลฎีกาฯ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล แต่กลับมีความเร่งรีบรวบรัดให้มีการเตรียมการยึดทรัพย์ แทนที่จะให้ความเป็นธรรมโดยนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่กลับใช้อำนาจพิเศษที่มาจากการรัฐประหารซึ่งไม่สง่างาม
ส่วนค่าเสียหายที่จะใช้คำสั่งเพื่อยึดทรัพย์นั้น นายบุญทรงเห็นว่า ตัวเลขความเสียหายไม่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เป็นเงินจำนวนเท่าไร เพราะคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น จึงเป็นการลัดขั้นตอน ทั้งผู้ที่ลงชื่อในคำสั่งบังคับทางปกครองก็มีพิรุธที่ต่างหลีกเลี่ยงจะลงนาม หรือเกรงกลัวว่าจะเป็นเหมือนข้าราชการคนก่อนๆที่กระทำตามหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาลแต่กลับถูกดำเนินคดีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตนยืนยันว่าคำสั่งโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
“ขอยืนยันว่าจะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะถึงที่สุด แม้ว่าจะต้องไปต่อสู้กันในศาลกี่ศาลก็ตาม หากไม่เช่นนั้นก็อย่าไปมีกฎหมายอะไรให้มากเรื่อง ใช้มาตรา 44 บริหารและปกครองบ้านเมืองนี้ไปเสียเลย”
นายบุญทรงยืนยันว่า จะฟ้องกลับทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตามสิทธิที่จะทำได้ เพราะการนำมาตรา 44 มาใช้ทั้งที่มีกฎหมายดำเนินการได้ตามขั้นตอนถือเป็นการลัดขั้นตอนเร่งรัดให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.เรียกให้ชดใช้ความผิดทางละเมิดในระดับรัฐมนตรีกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามเท่านั้น ซึ่งนายกฯต้องชี้แจงในชั้นศาลด้วย
นายบุญทรงกล่าวว่า คดีนี้เป็นคนละส่วนกับคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ซึ่งถูกฟ้องความผิดตามมาตรา 157 ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต ไม่ควรนำมาเชื่อมโยงกัน เพราะจะไม่เป็นธรรมกับอดีตนายกฯ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายปกครอง โดยไม่มีการฟังคำชี้แจงใดๆและมีการใช้สำนวนของ ป.ป.ช. มาเป็นหลักในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการใช้สำนวนเดียวกับคดีอาญาที่ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนของศาลฎีกาฯขณะนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล ทั้งยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาไม่มีความเสียหายใดๆเกิดขึ้นในการระบายข้าว กรมการค้าต่างประเทศได้ทำสัญญา มีการระบุตัวเลขและได้รับการชำระเงินครบถ้วนสมบูรณ์ มั่นใจว่าทำไปโดยบริสุทธิ์และโปร่งใส
เลือกปฏิบัติผิดกติการะหว่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ (18 กันยายน) นายนพดล หลาวทอง ทนายความอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม อาทิ รวบรัด หลีกเลี่ยงไม่ใช้กระบวนการพิจารณาโดยศาลยุติธรรมปรกติ แต่ตัดตอนใช้วิธีคำสั่งทางปกครองให้รับผิดทันทีแทนการฟ้องคดีต่อศาล ทั้งยังเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีอาญาซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่ยังพิจารณาคดีไม่เสร็จสิ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งต้องพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดโดยเสมอกันหรือเสมอภาคโดยกระบวนการยุติธรรมทางศาล จะเลือกปฏิบัติบางรายผ่านศาล บางรายไม่ผ่านศาลไม่ได้ การออกคำสั่งที่ 56/2559 ไม่มีความจำเป็น เป็นการข้ามขั้นตอนและเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้มีการกำหนดแนวทางการใช้มาตรการบังคับทางปกครองอยู่แล้ว
ส่วนอำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดีก็มีบัญญัติไว้โดยกฎหมายอย่างชัดเจนแล้วว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดของกรมบังคับคดีมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานของศาล เพื่อดำเนินการบังคับคดีตามคำสั่งของศาลยุติธรรม การออกคำสั่งนี้มีลักษณะเป็นการก้าวล่วงและก้าวก่ายไปใช้อำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดีที่เป็นอำนาจสั่งการของศาลยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
ปิดบัญชีไม่ถูกต้องกล่าวหาทุจริตไม่ได้
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ให้พิจารณาการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตและชอบหรือไม่ อาจทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองถ้าทำโดยสุจริต แต่จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในเว็บไซต์กรมการค้าภายใน มีข้อความบ่งบอกถึงความรับผิดทางละเมิดทางแพ่งที่พุ่งเป้าไปที่นายบุญทรงและอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ทั้งตั้งข้อสังเกตให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เร่งเรียกค่าเสียหายทางละเมิด โดยเอกชนมีอายุความ 1 ปี ขณะที่ของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และนายบุญทรงจะหมดอายุความในเดือนกุมภาพันธ์ 2560
ในบันทึกการประชุมมีหลายส่วนบ่งบอกการเรียกชดใช้ค่าเสียหายทั้งที่ไม่น่าจะกระทำได้ เพราะการปิดบัญชีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 175/2557, 176/2557, 177/2557 ต้องทำอย่างสมบูรณ์ แต่การปิดบัญชีวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กับวันที่ 30 กันยายน 2557 มีตัวเลขไม่สอดคล้องกับบันทึกการประชุม ครม. และรายงาน นบข. ซึ่งเป็นการปิดบัญชีที่ไม่ถูกต้อง
“การปิดบัญชีต้องมาจากการทำบัญชี หัวหน้า คสช. ต้องตั้งคณะจัดทำบัญชีขึ้นมา แต่ยังไม่มีการจัดทำ เพราะหมายเหตุประกอบงบการเงินของอนุปิดบัญชีระบุไว้เองว่าไม่มีการจัดทำบัญชีตัวเลข ที่ใช้มาตลอดเวลาเป็นตัวเลขที่ให้ อคส. และ อ.ต.ก. ส่งตัวเลขเข้ามา ขณะที่การตรวจนับสินค้าก็เป็นเพียงการสุ่มตรวจ มีรายงานตัวเลขที่ไม่ตรงกันอีก ทั้งการปิดบัญชี 2 ครั้ง เขียนไว้ชัดเจนว่ายังไม่ผ่านการตรวจสอบและสอบทาน จึงไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีการรับรองโดย สตง. เมื่อตัวเลขบัญชียังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์จะนำมูลเหตุอะไรมาตั้งเป็นค่าเสียหายหรือกล่าวหาว่าทุจริตไม่ได้”
นายเรืองไกรกล่าวว่า การเร่งพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมที่ถือเป็นสาระสำคัญของคดีเหมือนฝ่ายบริหารโยนเผือกร้อนไปให้ข้าราชการ หากจะทำให้เกิดความเหมาะสม นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรเป็นผู้ลงนามคำสั่งเองจะเหมาะสมที่สุด ถ้ามั่นใจว่าตัวเลขบัญชีในคดีมีความถูกต้อง
“ปราบโกง”อย่าลืมส่องไฟคนใกล้ชิด
การเร่งรัดปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวทั้งกรณีจีทูจีหรือคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ แม้รัฐบาลจะมีมาตรา 44 ที่เหมือนดาบอาญาสิทธิ์ แต่การใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐและนิติธรรมก็มีแต่ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและ คสช. เสียหาย แม้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ได้มาจากการยึดอำนาจโดยใช้กำลังทหารจะถือว่าเป็นกฎหมาย เพราะฝ่ายตุลาการของไทยยอมรับการรัฐประหาร แต่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ เช่นเดียวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้นำรัฐบาลทหารก็ตระหนักดีทุกครั้งที่ไปร่วมประชุมในเวทีโลก
แม้การใช้อำนาจมาตรา 44 จะอ้างเพื่อปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน และใช้วาทกรรมปราบโกงที่ตีฆ้องร้องป่าวเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างการจัดกิจกรรม “กรรมสนองโกง” จัดงาน “เปิดไฟส่องไฟส่องโกง” อย่างยิ่งใหญ่กลางเมือง ซึ่งมีทั้งผู้นำรัฐบาล ผู้นำกองทัพ ข้าราชการ กลุ่มธุรกิจและคนชั้นกลางที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นคนดีเหนือกว่าคนอื่น ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการจ้องปราบโกงเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่
ผู้มีอำนาจและกองเชียร์รัฐประหารแบบไม่ลืมหูลืมตาเคยย้อนดูตัวเองและคนรอบข้างว่าเป็นคนดีจริง ดีแท้จริงบ้างหรือไม่ เพราะตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ภาพที่ออกมาชัดเจนคือ ฝ่ายที่ถูกไล่ล่าและถูกปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นข้อหาทุจริตคอร์รัปชันหรือความมั่นคงต่างๆ เกือบทั้งหมดจะคืบหน้าเฉพาะอีกฝ่ายเท่านั้น หรือแท้จริงแล้วท่านไม่ได้เกลียดโกง แต่เกลียดฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น
การใช้มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจพิเศษจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผนวกกับการชงเรื่องโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากผลไม้พิษจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงไม่ต่างกับการใช้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อจัดการกับอดีตนายกฯทักษิณและพวก ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์อดีตนายกฯทักษิณกว่า 70,000 ล้านบาทก็ไม่ใช่เพราะความผิดการทุจริตคอร์รัปชัน หรือแม้แต่การตัดสินจำคุก 2 ปีกรณีที่ดินรัชดาฯ กลับไม่มีเรื่องทำให้รัฐเสียหาย ไม่มีข้อหาทุจริต จนกลายเป็นคำถามว่าการทำรัฐประหารครั้งนั้นทำเพียงเพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณเท่านั้นหรือไม่ หากการยึดทรัพย์มีเป้าหมายเพื่อมุ่งทำลายล้างแหล่งทุนฝ่ายตรงข้าม หรือมีวาระซ่อนเร้น แทนที่จะเป็นการยุติปัญหาโดยกฎหมายโดยสุจริต กลับกลายเป็นการนำกฎหมายที่เกิดจากการยึดอำนาจมาใช้ ก็จะยิ่งทำลายความชอบธรรมของคณะรัฐประหารมากขึ้นหรือไม่ แม้อาจจะมองว่าเป็นการหารายได้เข้ารัฐตามกฎหมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจถูกมองว่า “นี่คือการปล้นกลางแดดดีๆนี่เอง”
2 ปีของ คสช. หลังยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และการใช้มาตรา 44 ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงไม่ต่างกับสมัย คมช. ตั้ง คตส. เพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณ โดยอ้างวาทกรรมปราบโกง เช่นเดียวกับคดีโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้ก็มีคำถามว่า หากการทำตามนโยบายของรัฐบาลเป็นความผิดเพราะทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่มีกำไร หากใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาล คสช. ก็เชื่อได้ว่าทุกรัฐบาลต้องมีความผิดทั้งสิ้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกนโยบายของรัฐบาลจะประสบความสำเร็จทั้งหมด หรือต้องมีกำไร อีกทั้งนโยบายที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนนั้นก็คือการให้สวัสดิการเพื่อให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก พ้นจากทุกข์จากหนี้สินเป็นสำคัญ ผลประโยชน์ระยะยาวที่จะเกิดขึ้นจึงวัดกันสั้นๆไม่ได้
ถ้าหากมองทุกนโยบายว่าทำให้เกิดความเสียหาย การจัดซื้ออาวุธของกองทัพซึ่งแต่ละครั้งเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาทและสูงมากกว่ารัฐบาลปรกติเสมอหลังการยึดอำนาจ ก็ย่อมมีสิทธิถูกตั้งคำถามว่าจะใช้เพื่อไปทำกำไรอะไรบ้าง หรือทำให้เศรษฐกิจมั่นคงและประชาชนอยู่กินดีจริงหรือไม่ ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวที่ถูกกล่าวหาว่าสร้างความเสียหายกับบ้านเมืองอย่างมหาศาล เงินถึงมือชาวนาจริงหรือไม่ ถ้ามีการโกงจริง ทำไมไม่ตรวจสอบว่าอยู่ในขั้นตอนใดและใครโกง เพราะการตรวจสอบเส้นทางการเงินผ่าน ธ.ก.ส. เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากว่าเงินทั้งหมดตกไปถึงมือชาวนาจริงหรือไม่
อย่าว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
การใช้อำนาจแบบรวบรัดซึ่งผิดทั้งนิติรัฐและนิติธรรม ผิดทั้งกติการะหว่างประเทศ จนหนีไม่พ้นข้อครหาเดิมๆของการทำรัฐประหารคือ เพียงเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซากด้วยวาทกรรมปราบโกง (ฝ่ายตรงข้ามฝ่ายเดียว) ใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังเพื่อให้เห็นว่าการใช้อำนาจเลือกจับ เลือกปฏิบัติ เป็นความชอบธรรม โดยไม่มองตัวเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะคนใกล้ชิดและใกล้ตัวว่ามีพฤติกรรมอย่างไรนั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่
ทำไมการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพที่เป็นข่าวอื้อฉาวจึงเงียบหายไป ไม่ว่าจะเป็นเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ ไม้ล้างป่าช้า GT200 ซึ่งคนหลอกขายติดคุกแล้ว แต่การสอบสวนหาข้อเท็จจริงเหมือนถูกแช่แข็ง กรณีโครงการขุดลอกคูคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกมูลค่านับพันล้านบาทที่มีหลักฐานไม่ชอบมาพากลมากมาย หรือโครงการอุทยานราชภักดิ์ก็ยังเป็นปัญหาค้างคาใจเรื่องราคากลางและการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นงบประมาณแผ่นดินที่ยังไม่กล้าเปิดเผยต่อสาธารณะ
แม้แต่กรณี “บิ๊กมีสี” นำเงินกองทัพไปฝากในบัญชีภรรยาทำไมจึงไม่ผิด รวมถึงเรื่องฝายชะลอน้ำที่กำลังเป็นข่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องการตั้งชื่อฝาย แต่เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินถูกต้องหรือไม่ รวมถึงกรณีลูกชาย “บิ๊กมีสี” กวาดรับเหมาโครงการต่างๆของกองทัพ ก็มีคำถามถึงขั้นตอนการประกวดราคาว่า ไม่มีการใช้อำนาจและอิทธิพลใดแทรกแซง หรือบีบบังคับจริงหรือไม่
วาทกรรมปราบโกงจึงไม่ใช่แค่การสร้างกระแสให้คนไทยเกลียดโกงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ต้องเกลียดการโกงทุกฝ่ายและปราบทุกฝ่ายที่โกง ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด อีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่ผิด หรือผิดชัดๆก็ตะแบงว่าไม่ผิดเพราะไม่มีเจตนา หรือเกิดน้ำท่วมใหญ่แล้วเอกสารหายอย่างปริศนาเฉพาะฝ่ายนั้นฝ่ายนี้เท่านั้น
“รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญคือ คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่จะต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกงในทุกวงการ”
นั่นคือคำประกาศกร้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวไว้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติคืนวันที่ 9 กันยายน ก่อนไปร่วมกิจกรรม “กรรมสนองโกง” วันที่ 11 กันยายน ที่ท้องสนามหลวง เชิญชวนให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ส่องไฟขึ้นฟ้าเพื่อขับไล่คนโกงให้หมดไปจากแผ่นดินไทย”
คงจะดีไม่น้อยหากส่องไฟไล่โกงอย่างถ้วนหน้าและทั่วถึง และจะดีที่สุดหากส่องไฟกลับมายังคนใกล้ชิดตนเองด้วย อย่าให้ใครมาพูดได้ว่าเที่ยวไป “ส่องไฟแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
You must be logged in to post a comment Login