- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 (Book Expo Thailand 2016)” ถือเป็นงานแสดงหนังสือระดับชาติที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด โดยในปีนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สวนกระแสเศรษฐกิจ โดยมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงาน406ราย รวมทั้งสิ้น 934บูธ บนพื้นที่ประมาณ 21,000 ตารางเมตร
“ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการอ่านนั้น เล็งเห็นว่าหนังสือและการอ่านถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะคนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการที่จะพัฒนาประเทศในทิศทางต่างๆ ถ้าคนในชาติอ่านมากขึ้น ก็จะมีความรู้ ความคิด และวิจารณญาณในการพิจารณาประเด็นต่างๆเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาตัวเอง เราจำเป็นต้องอ่านหนังสือให้มากขึ้นกว่านี้ เพื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศก้าวเดินได้อย่างมั่นคง” นายจรัญกล่าว
โดยนายจรัญเปิดเผยว่า ปีนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “เสนอหน้า” ซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการไฮไลท์ของงานคือ “นิทรรศการเสนอหน้า” ซึ่งจะเปิดเผย “เบื้องหลัง” การผลิตหนังสือสู่ “เบื้องหน้า” กว่าจะผ่านออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม ผ่าน 6 สาขาอาชีพสำคัญในการสร้างสรรค์หนังสือ ได้แก่ นักเขียน บรรณาธิการ นักออกแบบกราฟิก นักแปล นักพิสูจน์อักษร และนักออกแบบภาพประกอบซึ่งต่างก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการผลิตหนังสือ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้มีโอกาสทำหนังสือซึ่งจำลองจากกระบวนการผลิตจริงๆอีกด้วย
นางสุชาดา สหัสกุล อุปนายกฝ่ายในประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่านิทรรศการเสนอหน้า ซึ่งเป็นนิทรรศการไฮไลท์ในมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 นี้ เชื่อมโยงกับโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ จำนวน 6 อาชีพได้แก่ นักเขียน บรรณาธิการ นักออกแบบกราฟิก นักแปล นักพิสูจน์อักษร และนักออกแบบภาพประกอบที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดทำขึ้น เพื่อช่วยให้การทำงานมีระบบและมีมาตรฐานอย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมที่จะนำมาตรฐานอาชีพนี้ไปใช้เพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ให้กับบุคคลในอาชีพและนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่อไปและได้นำมาต่อยอดเป็นนิทรรศการดังกล่าว
“กว่าจะเป็นหนังสือ 1 เล่ม ต้องผ่านมือบุคลากรใน6 อาชีพนิทรรศการนี้ต้องการเปิดเผยให้เห็นถึงเบื้องหลังของคนทำงานซึ่งหนังสือเล่มประกอบขึ้นด้วยองค์ความรู้ต่างๆคำว่า “เสนอหน้า” ในนิทรรศการนี้ไม่ใช่การอวดตัวของคนทำหนังสือ เป็นเพียงการนำเบื้องหลังของการทำหนังสือมาสู่เบื้องหน้าของนักอ่าน เพื่อให้ได้เห็นทุกขั้นตอนในกระบวนการทำหนังสือว่ามีรายละเอียดในการทำงานอย่างไร เพราะอรรถรสในการอ่านไม่ได้เกิดจากความสามารถของนักเขียนเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานเป็นทีมของผู้อยู่เบื้องหลัง สำคัญที่สุดคือความพึงพอใจของนักอ่านนั่นเองที่อยู่เบื้องหลังแรงขับเคลื่อนของเหล่าคนทำหนังสือ และเราอยากให้นักอ่านได้รู้ถึงขั้นตอนเบื้องหลังเหล่านี้ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง”
สำหรับ โครงการ 100 Annual Book and Cover Design ประจำปี พ.ศ. 2559 หรือ 100ABCD ซึ่ง น.ส.สุลักษณ์ วิศวปัทมวรรณ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเล่าให้ฟังว่า“โครงการ100 ABCD ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทยเพื่อคัดเลือกปกหนังสือและการออกแบบรูปเล่มดีเด่น เริ่มจากเชิญชวนนักออกแบบหนังสือและสำนักพิมพ์ต่างๆ ส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือก โดยมีเป้าหมายที่จะนำเสนอผลงานหนังสือที่มีการออกแบบที่ดีและโดดเด่น เพื่อแสดงศักยภาพวงการหนังสือและนักออกแบบกราฟิกของไทย สร้างคลังความรู้งานออกแบบสิ่งพิมพ์ที่ดีให้กับวงการหนังสือของไทย รวมทั้งเป็นการเผยแพร่วิชาชีพ นักออกแบบหนังสือ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากแวดวงศิลปะและหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบกราฟิก นักวิชาการด้านศิลปะ บรรณาธิการบริหาร ผู้ประกอบการร้านหนังสือและสื่อมวลชน ตามเกณฑ์ในการพิจารณารวมทั้งสิ้น99 ชิ้น แบ่งเป็นประเภท ปกหนังสือ 80 ผลงาน และการออกแบบรูปเล่ม19 ผลงานซึ่งผลงานทั้งหมดนี้จะนำมาแสดงในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 นี้ รวมทั้งนำไปแสดงในงานมหกรรมหนังสือของต่างประเทศอีกด้วยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูผลงานได้อีกช่องทางหนึ่งที่www.100abcd.org
เราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการหนังสือเล็งเห็นความสำคัญของการออกแบบ ทำให้งานออกแบบหนังสือ กลายเป็นอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะส่งผลให้มีความต่อเนื่องในการสร้างสรรค์ของวงการ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่สานต่อและพัฒนางานออกแบบหนังสือต่อไปในอนาคต สำหรับโครงการนี้ในปีถัดไปก็คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีผลงานคุณภาพเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มยิ่งขึ้น”
ด้านน.ส.ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้นำเสนอผลการวิจัย ‘พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ’ ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยว่าเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม และ พฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งส่งผลต่ออัตราการเข้าร้านหนังสือของผู้บริโภค โดยเฉพาะร้านหนังสือรายย่อย สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจึงได้จัดทำการวิจัยในเชิงคุณภาพ ในรูปแบบของกลุ่มสนทนาขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลักในการที่จะดึงดูดความสนใจให้ผู้บริโภคมาเข้าร้านหนังสือมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือและการเข้าร้านหนังสือของนักอ่านยุคใหม่
“จากงานวิจัยนี้พบว่าผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มนักอ่านตัวยงนั้น ไม่ได้มีอัตราการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของประเภทของหนังสือที่อ่านแทน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มอ่านหนังสือประเภท นวนิยายก่อน หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนไปอ่านประเภทอื่นๆ ตามสภาพเศรษฐกิจและช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เรียนหนักขึ้น หรือเปลี่ยนงานใหม่ เป็นต้น รวมถึงการเข้ามาของช่องทางออนไลน์และโซเชียล มีเดีย ที่ทำให้นักอ่านมีช่องทางในการอ่านหนังสือมากขึ้น
ดังนั้น การที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคมาที่ร้านหนังสือมากขึ้นนั้น ควรเริ่มการจัดทำระบบฐานข้อมูลลูกค้า รวมไปถึงบริหารฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างจริงจังเพื่อที่จะได้นำข้อมูลของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ และจัดเตรียมประเภทหนังสือรวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่างๆให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางของร้าน ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยควรจะเน้นไปที่การสร้าง community engagement ของกลุ่มนักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนให้นั่งอ่านหนังสือพร้อมทั้งคาเฟ่ภายในร้าน จัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักอ่าน หรือปรับรูปแบบของร้านให้มีลักษณะเป็นกึ่ง co-working space เพื่อรองรับเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ควรจะมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในภาพรวม อาจเน้นเจาะไปที่หนังสือบางประเภทที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่าย เช่นนิยายและวรรณกรรม ที่มักจะเป็นประเภทหนังสือที่คนจะเริ่มอ่านเป็นประเภทแรก ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนไปอ่านประเภทอื่นๆตามลักษณะความชอบและแรงสนับสนุนของตลาด”
นอกจากนี้ นายจรัญได้สรุปและยืนยันความมั่นใจในการจัดงานครั้งนี้ว่า “ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯประสบความสำเร็จอย่างเหนือความคาดหมายในการจัดงานหนังสือในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่เข้าชมงานนั้นมีคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มั่นใจว่า การจัดงานมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะค่อนข้างซบเซาส่งผลถึงธุรกิจหนังสือ รวมถึงความนิยมในสื่อออนไลน์ที่ส่งผลให้การอ่านหนังสือในแบบรูปเล่มลดลงแต่ก็มีการปรับตัวจากสำนักพิมพ์ในแง่ของการลดจำนวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังเชื่อมั่นว่างานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 นี้จะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน โดยมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท”
เตรียมตัวให้พร้อม หอบความสุข พกความรู้กลับบ้านใน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 (Book Expo Thailand 2016)” วันพฤหัสบดีที่ 13 – วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (12 วัน) ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ชวนหนอนหนังสือมาเสนอหน้าไปด้วยกัน
You must be logged in to post a comment Login