วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มันมาแล้ว! / โดย นายหัวดี

On October 3, 2016

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด
ผู้เขียน : นายหัวดี

คำวินิจฉัย “คำถามพ่วง” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” สรุปได้ 2 ประเด็นสำคัญคือ

1.ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อ “นายกรัฐมนตรี” ตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น ส่วนการเลือก “นายกรัฐมนตรี” เป็นสิทธิ์ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือ ส.ส. กับ ส.ว.ลากตั้ง

2.ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3 มีสิทธิ์เข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภาขอให้งดเว้นมาตรา 88 และสามารถเสนอชื่อ “บุคคลอื่น” นอกเหนือในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง เป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้ คือ “นายกฯคนนอก” จากเดิมให้ส.ส. เท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าชื่อกึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ที่น่าสนใจคือภายใน 5 ปี ส.ว.ลากตั้งมีสิทธิ์จะร่วมโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” กี่ครั้งก็ได้ และ “นายกฯคนนอก” ก็มีโอกาสสูงที่จะอยู่ในอำนาจถึง 2 สมัยหรือ 8 ปี ซึ่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” อ้างว่าเพื่อให้ “การปฏิรูปประเทศ” ต่อเนื่อง ตาม “แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ”

การเมืองช่วงการเปลี่ยนผ่าน 5 ปี จึงจะอยู่ภายใต้อำนาจของ ส.ว.ลากตั้ง ที่เป็นเสมือนพรรคการเมืองใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการการคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หรือการโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเดิม “มาตรา 272” กำหนดให้เลือก “นายกฯ คนนอก” ได้เพียงครั้งเดียวในวาระแรกหลังการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกเท่านั้น!

“ศาลรัฐธรรมนูญ” จึงถูกมองว่าวินิจฉัยเกินคำขอ และแสดงถึงอำนาจที่ล้นเหลือของ “ตุลาการภิวัฒน์”!


You must be logged in to post a comment Login