วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

3เรื่องร้อนรัฐบาล

On October 3, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ทิศทางการเมืองสัปดาห์นี้ต้องติดตามต่อกับประเด็นร้อนที่เกิดจากครอบครัวจันทร์โอชาผู้น้องว่าจะทำให้กระแสอ่อนลงได้อย่างไร

แน่นอนว่าทำให้เงียบไปเลยคงไม่ได้ แต่เมื่อตั้งหลักได้ เชื่อว่าฝ่ายคุมอำนาจคงไม่อยากให้ประเด็นนี้กวนใจนาน

การชี้แจงแบบข้างๆคูๆ การแถแบบสองมาตรฐานไม่มีเหตุผลรองรับน่าจะลดปริมาณลง โดยเฉพาะพวกที่แสดงตนออกมาปกป้องแทนนายน่าจะได้รับสัญญาณให้สงบนิ่งมากขึ้น เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามีสภาพไม่ต่างจากเสือติดจั่น ยิ่งดิ้นยิ่งเจ็บ สู้อยู่เฉยๆดีกว่า

อีกประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องติดตามคือการลงนามเรียกเงิน 35,000 ล้านบาทจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลมาจากการทำโครงการจำนำข้าว และการไล่เอาผิดทั้งทางแพ่ง อาญากับข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เอกชนอีกเพียบที่มีส่วนร่วมในการทำโครงการจำนำข้าว

กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นถูกชี้แจงว่าไม่มีโทษถึงติดคุก หากถูกเรียกเก็บแล้วไม่มีจ่ายก็แค่เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะการถูกเรียกเก็บเงินครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เป็นผลมาจากปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ต้องแยกออกจากคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งคดีนี้มีเรื่องโทษจำคุกอยู่ด้วย ต้องรอลุ้นคำตัดสินของศาลฯว่าจะออกมาอย่างไร

สองเรื่องว่าร้อนแล้ว ยังมีเรื่องเก่ากลับมาแทรกคิวร้อนอีกครั้ง สำหรับกรณีอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรกที่จะมาจากการลากตั้งทั้งสภา 250 หลังศาลรัฐธรรมนูญตีกลับร่างรัฐธรรมนูญมาให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรับปรุงแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ส.ว.เกี่ยวกับการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาที่ส่งไปให้ตรวจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงประชามติรับร่าง

ประเด็นที่เป็นที่วิจารณ์กันมากในตอนนี้คือการให้ส.ว.มีสิทธิ์ร่วมเข้าชื่อกันเสนอที่ประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีพรรคการเมือง หรือที่เรียกว่านายกฯคนนอกด้วย จากเดิมที่ให้เป็นอำนาจของส.ส.เท่านั้น ทำให้ถูกมองว่าประตูในการเปิดรับนายกฯคนนอกจะถูกเปิดได้ง่ายขึ้น แม้ส.ว.จะไม่มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อคนเป็นนายกฯก็ตาม

อีกประเด็นที่วิจารณ์กันให้แซดคือกรณีให้การเลือกนายกฯ 5 ปีแรกสามารถเสนอชื่อคนนอกร่วมชิงตำแหน่งกี่ครั้งก็ได้ โดยให้เหตุผลว่าต้องการแก้ปมปัญหาเมื่อมีการยุบสภา หรือว่านายกฯลาออก ถูกถอดถอน

พูดให้เข้าใจง่ายๆคือในช่วง 5 ปีแรกหลังการเลือกตั้งจะเลือกนายกฯกี่ครั้งคนนอกก็มีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อเข้าแข่งขันได้ทุกครั้ง ไม่ใช่แค่ครั้งแรกหลังการเลือกตั้งเท่านั้น

ประเด็นถูกมมองว่าเป็นการเปิดทางให้คนนอก โดยมีการเอ่ยชื่อถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯได้ยาวๆ 8 ปี

อีกเรื่องที่ร้อนขึ้นมาคือ “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจสั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งได้ หากว่าที่ประชุมร่วมระหว่างส.ส.และส.ว.ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศได้

ทั้ง 3 เรื่องไม่เกี่ยวข้องกันทางตรง แต่ถือเป็นเรื่องร้อนที่จะพุ่งเข้าใส่รัฐบาลทหาร คสช.

มีทั้งเรื่องที่ทำให้การเข้ามาปราบปรามทุจริตถูกลดทอนน้ำหนักลง ระดับความโปร่งใสมัวหมอง เรื่องที่ถูกทำให้มองว่าไล่ล่าสองมาตรฐาน และเรื่องที่ถูกทำให้มองว่าปูทางสืบทอดอำนาจ

ส่วนจะกระแทกให้รัฐบาลทหารคสช.สั่นสะเทือนได้ในระดับไหนยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่ที่แน่ๆถึงตอนนี้สายตาที่ประชาชน (แม้แต่คนเชียร์) ส่วนใหญ่มองรัฐบาลไม่เหมือนเดิมแล้ว


You must be logged in to post a comment Login