วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

วิกฤตท่องเที่ยว-การศึกษา / โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

On October 3, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ

ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่ามีมานานแล้ว แต่หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร นักท่องเที่ยวจากยุโรปหรือสหรัฐบางส่วนต่อต้าน ไม่อยากมาเที่ยวประเทศไทย เพราะเขารู้สึกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากอำนาจพิเศษ ส่งผลให้จีนเข้ามามีบทบาททางการท่องเที่ยวของไทย รัฐบาลจีนไม่ได้บอยคอตรัฐบาลไทย และเศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงมากจนเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้ชนชั้นกลางมีเงินมากขึ้น

อีกประเด็นคือภาพยนตร์จีนที่มาถ่ายทำที่เชียงใหม่ ทำให้คนจีนชื่นชอบมาก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวเมืองไทย ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บริษัททัวร์เสนอราคาที่ถูกมาก ขายต่ำกว่าทุนที่เราเรียกว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เมื่อนักท่องเที่ยวจีนมาจำนวนมาก เขาก็บังคับให้ไปร้านจำหน่ายสินค้าที่จัดตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านเพชร เครื่องหนัง อาหารบำรุงสุขภาพ รวมทั้งเครือข่ายโรงแรม โดยร่วมมือกับบริษัททัวร์ยักษ์ใหญ่ในไทยที่โดนจับไป เช่น บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด

ทัวร์ศูนย์เหรียญจึงได้ผลประโยชน์น้อยมากสำหรับคนไทยและรัฐบาลไทย เพราะภาษีเราก็ไม่ได้ หรือได้ก็น้อยมาก บริษัทที่ได้ประโยชน์เป็นเครือข่ายของเขาเอง ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นมานานแล้ว เมื่อรัฐบาลใช้มาตรการปราบปราม กวาดล้าง ก็จะส่งผลในระยะสั้น ทำให้นักท่องเที่ยวทัวร์ศูนย์เหรียญปรับตัว โดยรัฐบาลไทยมีเกณฑ์เข้ามาควบคุมคุณภาพร่วมกับรัฐบาลจีน ซึ่งรัฐบาลจีนร้องขอให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญมานานแล้ว

ถ้าไม่มีการตรวจสอบ ปล่อยให้นักการเมืองบางส่วนทุจริต ตำรวจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือข้าราชการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว กรมการปกครอง กระทรวงพาณิชย์ ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ เข้าไปเอื้อประโยชน์หรือรับส่วย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ก็จะแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญไม่ได้ และกระบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญก็เติบโตขึ้นทุกวัน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าจับ เท่าที่ผมประเมินปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในธุรกิจการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีเงินส่วยหรือเงินใต้โต๊ะจากทัวร์ศูนย์เหรียญและธุรกิจท่องเที่ยวในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1,000-5,000 ล้านบาท จะสังเกตว่ากระบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญในอดีตไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐไปจับเหมือนผับ ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ร้านนวดแผนโบราณ ระบบส่วยกระบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญซับซ้อนเป็นแดนสนธยามาก เพราะมีผลประโยชน์กันเป็นวงจร

นายกฯต้องกวาดบ้านตัวเองก่อน

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราจะแก้ปัญหาต้องดูเหตุก่อน ที่นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาขณะนี้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ที่ต้นเหตุ การไปจับกุมแต่รากของปัญหายังอยู่ เหมือนไปตัดกิ่งก้านต้นไม้ แต่รากแก้ว รากฝอยยังอยู่ วันหนึ่งก็จะผุดขึ้นมาอีก ถ้ารัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ที่ต้นเหตุคือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนที่ร่วมรับผลประโยชน์ก็จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ตม. เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยว มะเร็งร้ายก็จะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีก รัฐบาลต้องปราบปรามให้หมดสิ้น ไม่ปล่อยปละละเลยจนปัญหาบานปลายอย่างในอดีต แม้ขณะนี้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญจะค่อยๆลดลง แต่การรับส่วยยังมีอยู่หรือไม่ แม้การปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญจะช่วยให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยกลับคืนมา แต่ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายประเด็นที่ต้องตรวจสอบต่อคือ การสวมบัตรประชาชนปลอมของชาวจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย

นักการเมืองหรือคนมีสีที่อยู่ข้างหลัง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ ขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะร่วมมือกันตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ผมถึงเน้นย้ำว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจะต้องแก้ที่เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเอื้อประโยชน์หรือมีผลประโยชน์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดก่อน ถ้าบ้านตัวเองไม่สะอาดก็อย่าหวังว่าปัญหาคอร์รัปชันจะหมดไป

วันที่ 1 ตุลาคมนี้จะมีศาลอาญาทุจริต ปราบเฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเลย ในอดีตที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับทัวร์ศูนย์เหรียญและธุรกิจท่องเที่ยวที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่เกรงกลัว เพราะคดีทุจริตล่าช้ามาก เมื่อมีศาลอาญาทุจริตแล้ว ศาลจะเรียกว่าคดีดำที่ย่อมาจาก อท. คืออาญาทุจริต ต่อไปคดีทุจริตไม่ต้องไปต่อแถวแล้ว ผมคิดว่าปัญหาส่วยในธุรกิจการท่องเที่ยวน่าจะน้อยลง ที่สำคัญเราจะพึ่งรัฐบาลในการแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้สื่อมวลชนให้ความรู้ประชาชนด้วย รวมถึงประชาชนต้องช่วยแจ้งเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลต้องมีมาตรการคุ้มครองด้วย เพราะตำรวจท่องเที่ยวมีปืน ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแสก็จะถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐที่มาข่มขู่ได้

วิกฤตการศึกษาไทย

เรื่องสำคัญในวงการศึกษาไทยคือ เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล สมัยก่อนเวลาเราบริหารกระทรวงศึกษาฯ อำนาจการบริหารจะอยู่ที่ส่วนกลาง แต่ระยะหลังเราเชื่อในเรื่องการกระจายอำนาจซึ่งเป็นสิ่งที่ดี มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีความเจริญก้าวหน้า เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มอบอำนาจให้ เหมือนเรามอบปืน ถ้าปืนไปอยู่กับผู้ร้ายที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม หรือธรรมาภิบาล ก็จะเอาปืนไปจี้ปล้นบ้าง ทำร้ายบ้าง

เรื่องธรรมาภิบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ สมัยก่อนจะเปิดหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ต้องเสนอผ่านทบวงมหาวิทยาลัยหรือกระทรวงศึกษาธิการ แต่ตอนนี้ไม่ต้อง อนุมัติหลักสูตรเองได้เลย ทุกวันนี้จึงเห็นดอกเตอร์เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด จบปริญญาโทเกลื่อนเมือง โฆษณาจ่ายครบจบแน่ มีการรับซื้อขายปริญญา รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ มิหนำซ้ำอาจารย์บางคนยังรับใต้โต๊ะอีกเพื่อผ่านวิทยานิพนธ์ ปล่อยเกรด มันจึงเกิดวิกฤตมหาวิทยาลัยที่อาจเลวร้ายถึงขั้นเรียกว่า “มิคสัญญีมหาวิทยาลัยไทย” เลยทีเดียว

ผมยกตัวอย่างปัญหาการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เท่าที่ทราบระดับปริญญาโทราคา 100,000 กว่าบาท ปริญญาเอก 200,000-300,000 บาท ทั้งยังมีการร่วมมือกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย เพราะอาจารย์คุมสอบก็ไฟเขียวให้ เหมือนช่วยกันเขียน เวียนกันอ่าน ผลัดกันชม เมื่อนักศึกษาเหล่านี้ทุจริตในการเรียน การสอน เข้ามารับราชการก็จะทุจริตคอร์รัปชัน และจับพวกนี้ยาก เพราะมีความรู้ แต่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ปัญหาคอร์รัปชันจึงวนเวียนอยู่อย่างนี้

ผมขอบอกว่าวิกฤตมหาวิทยาลัยไทยนับวันจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวนมาก มีชื่อมหาวิทยาลัยของรัฐในภูมิภาค แต่ สกอ. ไม่กล้าเปิดเผย เพราะกลัวเกิดความเสียหายกับผู้เรียน ถ้าจบสถาบันนี้ สาขานี้แล้วจะเกิดความเสียหาย แต่ถ้า สกอ. ไม่เปิดเผยรายชื่อสถาบันเหล่านี้ สาขาเหล่านี้ ก็จะหลอกชาวบ้านให้มาเรียนอีก จบออกมาเขาก็ไม่รับรองปริญญา ความเสียหายก็จะตกอยู่กับผู้ปกครอง เยาวชน และประเทศชาติในที่สุด เมื่อคนเหล่านั้นเข้าไปสู่สังคมได้ตำแหน่งที่สูงๆก็ทำการทุจริตคอร์รัปชัน ประเทศชาติก็จะเสียหาย

ปัญหานี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง ในมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งก็มีปัญหาเช่นกัน ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์ มาขออนุมัติเปิดแค่ 100 คน แต่จริงๆกลับรับเป็นพันคน มันก็ไม่ได้คุณภาพ มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนมีปัญหาพอๆกัน ถ้าผู้บริหารไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล เห็นลูกศิษย์เป็นลูกค้า ก็ส่งผลกระทบอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ขณะนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยมีเงินเดือนมากกว่านายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเงินเดือนแสนกว่าบาท แต่อธิการบดีเงินเดือนกว่า 200,000 บาท ขนาดบริหารแค่ในมหาวิทยาลัยมีคนไม่กี่หมื่นคน แต่นายกรัฐมนตรีบริหารคนตั้ง 70 กว่าล้านคน มันต่างกันเยอะ ทำไมเงินเดือนจึงแตกต่างกันมโหฬารขนาดนั้น เพราะไม่มีธรรมาภิบาล อยากจะเอาอำนาจอะไรก็ตามอำเภอใจ ขาดการตรวจสอบ ซึ่งธรรมาภิบาลต้องมีระบบการตรวจสอบ ผมคิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาถูกทางแล้วที่กล้าจัดการเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครยิงกันจนมีผู้เสียชีวิต

ใช้มาตรา 44 ปฏิรูปทั้งระบบ

ถึงเวลาแล้ว ประชาชนคนทั่วไป รวมทั้งวงการครูบาอาจารย์ก็เห็นด้วยที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 เข้าไปผ่าตัดมหาวิทยาลัย เพราะตอนนี้เข้าขั้นเป็นมะเร็งร้ายแล้ว จะใช้กฎหมายปรกติไม่ได้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคนหัวหมอมาก ขนาดศาลตัดสินยังไม่ยอม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลมาก็ไม่ยอมรับ ทำข้อมูลพยานหลักฐานเท็จเต็มไปหมด ตรงนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้าไปผ่าตัดเพื่อหยุดเลือดโดยด่วน ไม่อย่างนั้นเลือดจะไหลไม่เหลือเลย ผมขอยกตัวอย่างกรณีมหาวิทยาลัยบูรพาน่าจะมีคณบดีบางคณะที่ศาลอาญาประทับรับฟ้อง โดยระเบียบของมหาวิทยาลัยต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที แต่ในความจริงกลับพบว่ายังปฏิบัติหน้าที่ต่อ นอกจากจะขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังขัดเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรมด้วย ตรงนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย ตอนนี้คดีมีการฟ้องกันไปมาอยู่จำนวนมาก

อีกกรณีในมหาวิทยาลัยบูรพา มีพนักงานท่านหนึ่งทำงานดีมากและมีผลการประเมินที่ดีมาก แต่ไม่ต่อสัญญาเฉยเลย ตรงนี้เป็นปัญหาธรรมาภิบาลอย่างมาก คล้ายกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่ว่าจะเป็นเทพสตรีหรือนครปฐมที่เป็นข่าวเร็วๆนี้เรื่องการต่อสัญญาจ้าง ประเด็นสำคัญคือ การไม่ต่อสัญญาอย่างไม่มีเหตุผล ทำหนังสือเล่มหนึ่งแล้วบอกสิ้นสุดสัญญาเท่านั้นเอง นี่คือตัวอย่างมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีปัญหา

ถ้ามองภาพรวมในระดับกระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับความจริงว่างบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สูงต่อเนื่อง แต่ผลสัมฤทธิ์หรือคุณภาพการศึกษาเราบ๊วยในอาเซียน แพ้เวียดนาม ลาว กัมพูชา หมายความว่าคุณเอางบลงไปเยอะ แต่อาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน สถิติที่ร้องเรียนเข้ามาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพบว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงต้นๆที่มีข้าราชการทุจริตคอร์รัปชันสูงมาก พอๆกับกระทรวงมหาดไทยที่พวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอทุจริต

ผมฟันธงว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการศึกษาอาจจะหนักกว่าส่วยการท่องเที่ยวเสียอีก เพราะงบการศึกษามีประมาณ 400,000 ล้านบาท ถ้า 10 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท เอาตัวเลขกลมๆ ผมคิดว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันประมาณ 30,000 ล้านบาท หนักกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหนักกว่ากระทรวงมหาดไทย เพราะงบของกระทรวงศึกษาธิการจะมีเรื่องการก่อสร้าง ซื้อครุภัณฑ์ ยิ่งกฎหมายมีช่องโหว่เรื่อง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ยิ่งเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชันได้ง่าย รัฐบาลจึงน่าจะออกกฎหมายเพื่ออุดช่องว่างนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็ต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาโดยด่วน ต้องปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้กับเยาวชน นักศึกษา ไม่อย่างนั้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันก็จะเสียของ

อนาคตการศึกษาไทย

ผมคิดว่าถ้าอยู่ในมือภายใต้อำนาจรัฐบาลพิเศษ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยน่าจะดีขึ้น แต่ถ้าเมื่อไรกลับไปสู่กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ผมไม่ได้หมายถึงว่านักการเมืองจะชั่วทุกคน นักการเมืองดีก็มีเยอะ ถ้าไปเจอคนที่ไม่ดี ปัญหาก็จะย้อนรอยกลับไปสู่จุดเดิม แต่ก็มีทางออกคือ ทุกรัฐบาลจะต้องเสริมในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึงข้าราชการมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว จะรวยอะไรนักหนา ถ้าคุณไม่มีกิเลส ไม่มีตัณหา คุณไม่อยากจะรวย คุณก็ไม่ทุจริต ปัญหาคอร์รัปชันก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วย


You must be logged in to post a comment Login