วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘ประชารัฐ’หรือ‘ธนารัฐ’ / โดย ลอย ลมบน

On October 3, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

ในช่วงนี้สังคมไทยมีประเด็นให้ต้องดราม่ากันหลายเรื่อง หลังจากมีเรื่องหนึ่งแทรกขึ้นมาและถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมยังไม่ค่อยหันมาสนใจมากนัก

เรื่องที่ว่าคือกรณีที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลระบบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการแทนรัฐ

เรื่องนี้มีความคืบหน้าถึงขั้นที่รัฐบาลมอบหมายให้สมาคมประกันวินาศภัยและสมาคมประกันชีวิตไปศึกษาความเป็นไปได้ โดยให้เวลาศึกษานาน 1 เดือน ว่าสามารถทำได้หรือไม่

พร้อมกับมีคำพูดสวยหรูยืนยันว่ารัฐบาลจะทำทุกอย่างอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

รัฐบาลเชื่อว่าการนำงบประมาณไปซื้อประกันสุขภาพแบบเหมารวมให้ข้าราชการแทนการเบิกจ่ายโดยตรงกับกรมบัญชีกลางในปัจจุบันเป็นแนวทางที่จะทำให้การใช้งบประมาณในส่วนนี้เกิดประสิทธิภาพ

แถมคุยด้วยว่านี่เป็นนโยบายการปฏิรูปอย่างยั่งยืน

รัฐบาลชี้ว่าหลายประเทศใช้วิธีการนี้แล้วดี ช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการใช้งบประมาณได้ เพราะสามารถป้องกันการใช้สิทธิซ้ำซ้อน การเวียนใช้สิทธิ หรือการเบิกยาเกินควร และยังเป็นการช่วยบังคับให้รัฐต้องดูแลส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทางอ้อม ช่วยลดภาระข้าราชการไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าก่อนนำใบเสร็จมาเบิก และยังสามารถเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนได้จากที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น

เงื่อนไขที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับการทำเรื่องนี้มี 2 เรื่องคือ

1.หากใช้ระบบซื้อประกันสุขภาพแบบกลุ่มให้ข้าราชการ รัฐต้องไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเกินกว่าปีละ 60,000 ล้านบาท

2.ข้าราชการต้องได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีกว่าเดิม

เรื่องได้รับการดูแลที่ดีกว่าเดิมดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเป็นหลักประกันที่เป็นรูปธรรมเหมือนกรณีตัวอย่างหลายเรื่อง โดยเฉพาะเวลาจะปรับขึ้นค่าบริการก็มักอ้างว่าทำเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีกว่าเดิม แต่เมื่อขึ้นค่าบริการแล้วทุกอย่างมักเหมือนเดิม

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่เงินงบประมาณ 60,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะเอาไปให้บริษัทประกัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์บางประการที่รัฐจะให้แก่บริษัทประกันเพื่อให้บริษัทประกันสามารถรับทำประกันหมู่จากรัฐบาลได้โดยมั่นใจได้ว่าไม่ขาดทุน

ถ้าดูจากงบประมาณการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท

หมายความว่างบประมาณ 60,000 ล้านบาท ที่จะใช้ทำประกันสุขภาพหมู่ให้บรรดาข้าราชการอาจจะไม่ใช่ตัวเลขสุดท้าย

จะต้องใช้งบประมาณทำประกันเพิ่มอีกปีละ 2,000 ล้านบาทตามค่าเฉลี่ยด้วยหรือไม่ ยังเป็นคำถาม

หากหันไปใช้วิธีทำประกันสุขภาพหมู่แล้วบริษัทรับประกันเกิดขาดทุนพากันยกเลิกไม่รับทำประกัน รัฐบาลจะเอาระบบอะไรมาใช้แทน

ต้องยอมรับความจริงว่าบริษัทประกันเป็นธุรกิจเอกชนที่ทำเพื่อค้ากำไร หากทำแล้วขาดทุนย่อมไม่อยากทำ และรัฐก็ไม่มีสิทธิไปบังคับหากเอกชนจะไม่รับทำประกัน

สุดท้ายหากรัฐยังต้องการใช้นโยบายนี้ก็ต้องหาวิธีมารับประกันว่ารับทำประกันให้ข้าราชการปิดประตูขาดทุน ซึ่งก็คงไม่พ้นต้องออกมาตรการมายกเว้นช่วยเหลือ หรือไม่ก็เพิ่มงบในการทำประกัน

ทั้งนี้ รัฐยังไม่ได้ตอบชัดเจนว่าจะทำประกันให้เฉพาะข้าราชการที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย หรือจะทำให้ครอบครัวด้วยเพื่อคงสิทธิการรักษาพยาบาลที่ได้รับ ซึ่งหากรวมครอบครัวด้วยก็บวกเพิ่มไปอีก 4 ล้านราย รวมเป็น 6 ล้านราย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ชมรมแพทย์ชนบทตั้งคำถามว่า รักษาคนจนที่มีแนวโน้มว่าใครรับก็ขาดทุนยกให้โรงพยาบาลรัฐ แต่รักษาข้าราชการที่มีกำไรแน่เพราะเรียกเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกลับยกให้เอกชน หรือนี่คือ “ประชารัฐ” ซึ่งหลายคนเรียก “ธนารัฐ” เพราะนายทุนได้ตลอด คิดผิดคิดใหม่ได้นะท่านนายกฯ

จากคำถามของชมรมแพทย์ชนบทก็ทำให้ฉุกคิดเหมือนกันว่าทำไมไม่ลองพิจารณาใช้ระบบประกันสังคมหรือบัตรทองกับข้าราชการดูบ้าง หากรัฐเชื่อว่าทั้ง 2 ระบบนั้นดีกับประชาชนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ

หรือจะหันไปใช้ระบบร่วมจ่ายอย่างที่พยายามผลักดันเอามาใช้แทนบัตรทอง 30 บาทก็เข้าท่า

ข้าราชการทุกวันนี้ผลตอบแทน เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัสที่ได้รับแต่ละปีไม่น้อย เรียกว่ารายรับมากกว่าคนหาเช้ากินค่ำที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ หรือแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอนด้วยซ้ำ

ทำไมต้องจัดสวัสดิการแบบแบ่งแยกข้าราชการ ลูกจ้าง คนจน

นี่หรือคือ “ประชารัฐ” ที่หลายคนกำลังเรียกว่า “ธนารัฐ”


You must be logged in to post a comment Login