วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ใบตองแห้งออนไลน์: 34 ปี ‘6 ตุลา’ ที่สุดแห่งความสามานย์

On October 6, 2016

ใบตองแห้งออนไลน์: 34 ปี ‘6 ตุลา’ ที่สุดแห่งความสามานย์

ใบตองแห้ง (6 ตุลา 53) เผยแพร่ผ่านประชาไท 6 ตุลาคม 2559

 

34 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก และแล้ว คนที่เคยผ่าน ‘6 ตุลา’ ร่วมครึ่งหนึ่งก็กลายไปเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการ และเผด็จการแฝงของอำมาตย์ กลายเป็นศัตรูผู้ต่อต้านประชาธิปไตย

ที่จริงก็เห็นกันมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ว่าคนเดือนตุลาเหล่านี้แปลงร่างเป็นคนเดือนกันยา สนับสนุนรัฐประหาร (แล้วยังมีหน้ามาจัดงาน 30 ปี 6 ตุลา)

แต่มาชัดเจนที่สุดเมื่อพฤษภาอำมหิต ซึ่งคนเคยผ่าน 6 ตุลาที่หันไปใส่เสื้อเหลือง สนับสนุนหรือเมินเฉยต่อการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนผู้มีความคิดเห็นตรงข้าม มิหนำซ้ำ บางคนยังออกมากล่าวหาว่า เสื้อแดงต้องการ ‘ล้มเจ้า’ ซึ่งไม่ต่างอะไรเลยกับที่คนเดือนตุลาถูกกล่าวหาว่าแสดงละครแขวนคอ แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อเบื้องสูง

คุณทำอย่างนั้นได้อย่างไร อ้างสถาบันมาทำลายคนที่มีความเห็นต่าง เหมือนอย่างที่สมัคร อุทาร อุทิศ นวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน วิทยุทหาร ทำกับพวกเรา แล้วก็เข่นฆ่าเพื่อนเรา ศพเพื่อนหญิงคนหนึ่งถูกเอาไม้ทิ่มอวัยวะเพศ ศพจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ถูกผูกคอด้วยผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านลากไปในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์

คนที่ทำเช่นนี้ได้ไม่เพียงแต่ไม่เหลือความเป็นคนเดือนตุลา หากยังไม่เหลือคุณค่าความเป็นมนุษย์ ต่ำทรามสามานย์เสียยิ่งกว่าพวกอำมาตยา ขวาจัด เพราะคุณเคยประสบความเจ็บปวดสูญเสียด้วยตัวเอง แต่กลับใช้วิธีการเดียวกันไปทำลายล้างคนอื่น

บรรยากาศในสังคมไทยวันนี้ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับหลัง 6 ตุลา ที่มีการไล่ล่ากวาดล้าง จับกุมคุมขัง โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ต่ออายุไปอีก 3 เดือน ไม่ต่างกันเลยกับที่จับเพื่อนเรา 18 คนขังลืม แต่คนเสื้อแดงถูกจับขังลืมหลายร้อยคน มากกว่าหลายสิบเท่าด้วยซ้ำ ที่เชียงรายจับนักเรียนชูป้ายเห็นคนตายที่ราชประสงค์ ที่อยุธยาจับแม่ค้าขายรองเท้าแตะ ต่างตรงไหนกับรัฐบาลหอยกวาดจับ ‘ภัยสังคม’ และขึ้นบัญชีหนังสือต้องห้าม

ขณะเดียวกันก็มีการตอบโต้ มีคนเสื้อแดงผลิตระเบิด (แม้ยังไม่แน่ใจว่าครั้งหลังเนี่ยเป็นเสื้อแดงจริงไหม) ถามว่ามันต่างอะไรกับพวกเราที่เข้าป่าจับปืนด้วยความแค้น แน่นอน บทเรียนที่ประสบมาสอนให้เรารู้ว่า นั่นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งต้องตักเตือนด้วยความเข้าใจ แต่ไม่ใช่สนับสนุนให้รัฐอำมาตยาปราบปรามไล่ล่า พร้อมกับใช้กฎหมายเผด็จการกดหัว

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดในขณะที่คนเดือนตุลาเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นผู้นำภาคประชาสังคม เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ (ต่อสู้เพื่อคน 3 จังหวัดภาคใต้ ต่อสู้เพื่ออองซานซูจี) เป็นวุฒิสมาชิก (ทั้งเลือกตั้งและลากตั้ง) เป็น ส.ส. เป็นนักวิชาการ (ทั้งเสื้อกั๊กและไม่กั๊ก) เป็นสื่อ หรือกระทั่งอยู่ในวอร์รูมรัฐบาลอย่างวิทยา ชำนิ

คนเดือนตุลาถ้ารวมกันได้ ก็จะสร้างพลังแห่งสิทธิเสรีภาพนำสังคมไทยเปิดกว้างสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่ายุคไหนๆ แต่น่าเสียดายที่กลายเป็น ‘เถาถั่วต้มถั่ว’ ซึ่งไม่ใช่ต้มญาติโกโหติกา แต่ต้มอุดมการณ์ของตัวเอง

จากฝ่ายซ้ายสู่ฝ่ายขวา
ตลอดการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง พวกคนตุลาที่อยู่ฝ่ายเสื้อแดง มักถูกกล่าวหา (จากคนกันเองนี่แหละ) ว่าเป็นพวกซ้ายจัด ฝักใฝ่สังคมนิยม ล้มเจ้า และยังมีแนวคิดปฏิวัติสังคมเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน

ซึ่งโคตรมั่วเลย

ผมไม่ปฏิเสธว่ามีซ้ายเก่าหยิบมือหนึ่งที่ค่อนไปทางสุดขั้ว อย่างสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (ซึ่งความสุดขั้วก็ทำให้แกกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายหมวกดาวแดงแต่ผู้เดียวในประเทศไทย) แล้วก็มีพวกแกนนำเสื้อแดงที่ชูสโลแกน ‘ปฏิวัติประชาชน’ เพราะคำมันใหญ่ดี เท่ดี

แต่ถามจริงๆ ว่า เสื้อแดงมีสโลแกนที่แสดงออกถึงเนื้อหาของสังคมนิยมบ้างหรือเปล่า ไม่ต้องไปถึงขั้นยึดทรัพย์นายทุน ยึดกิจการเป็นของรัฐ เอาแค่อ่อนๆ แบบขึ้นภาษีคนรวย เพิ่มรัฐสวัสดิการ ก็ยังไม่เห็นมีเลย เห็นแต่จะไล่อำมาตย์ ฟื้นรัฐธรรมนูญ 40 เรียกร้องให้คืนอำนาจกลับไปสู่การเลือกตั้ง

ตรงกันข้าม เนื้อหาสังคมนิยมกลับไปอยู่ที่ฝ่ายเสื้อเหลืองต่างหาก ทั้งยึดทรัพย์ทักษิณ ยึดดาวเทียมชินคอร์ป เชียร์ให้ตีความกฎหมายแบบ ‘ศาลประชาชน’ หรือที่จะแปลงร่างเป็นเทวดามาโปรด ปฏิรูปสังคม ลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต่อต้านทุนโลกาภิวัตน์ ต่อต้านการขยายตัวของทุนนิยมลงสู่ชุมชน โดยยกเรื่องมลภาวะ ผลกระทบต่อวิถีชีวิต วิถีชุมชน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามขึ้นมาอ้าง

เสื้อแดงจะเป็นสังคมนิยมได้ไงครับ ในเมื่อยังมีนายทุนใหญ่อย่างทักษิณอยู่ตัวเบ้อเร่อ เสื้อแดงมีพื้นฐานจากมวลชนพรรคไทยรักไทย ซึ่งไม่ได้มีนโยบายสังคมนิยม ทักษิณโฆษณาว่าจะทำให้ชาวบ้านหายจน โดยไม่เคยบอกว่าจะประกันราคาข้าว ตัดพ่อค้าคนกลาง ตรงกันข้าม ทักษิณใช้การจำนำข้าวเพื่อ ‘ปั่น’ ราคาข้าว ใช้ตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นกลไกราคา แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ขายรัฐวิสาหกิจ ‘ปั่น’ ราคาประเทศไทยแล้วกระโจนเข้าสู่โลกาภิวัตน์ ดึงเงินลงทุนต่างชาติเข้ามามากๆ

อุดมการณ์หลักของเสื้อแดงจึงไม่มีอะไรแปลกประหลาดพิสดารเลย เป็นแค่อุดมการณ์ประชาธิปไตยทุนนิยมแบบอเมริกาหรือยุโรป ถ้าจะมีบางส่วนที่ ‘จัด’ ก็คือจัดในแง่ต้องการปฏิวัติประชาธิปไตย ไล่อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งออกไปให้หมด

ซึ่งมันแปลกประหลาดพิสดารใน ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ เท่านั้นเอง

ถ้ามองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่า ‘ซ้ายเสื้อเหลือง’ ต่างหาก ที่ยังติดยึดกับสังคมนิยม เพียงแต่อุดมการณ์สังคมนิยมดั้งเดิมตายแล้ว พวกนี้ก็ปรับมาเป็นอุดมการณ์ NGO นิยม โดยมีลัทธิประเวศเป็นธงนำ มุ่งมั่นจะไปสู่การ ‘ปฏิรูปสังคม’ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ และไม่ยึดวิถีทางประชาธิปไตยแบบอเมริกาหรือยุโรป อย่างที่เคยต่อสู้กันมาตั้งแต่ 14 ตุลาถึงพฤษภา 35

ลองเปรียบเทียบ ‘การเมืองใหม่’ ที่เสนอให้มี ส.ส.ตัวแทนอาชีพ กับสมัชชาประชาชนของจีน หรือ ‘สภาจัดตั้ง’ แบบที่ใช้กันในประเทศสังคมนิยมทั้งหลายสิครับ ว่าคล้ายกันไหม

แต่พวกนี้แตกต่างจากสังคมนิยมในอดีตที่ตั้งกองกำลังขึ้นมา สู้รบยึดอำนาจรัฐด้วยอาวุธ เพราะ ‘ซ้ายเสื้อเหลือง’ เล่นง่ายกว่า อาศัยการโหนขั้วอำนาจอนุรักษ์นิยม สนับสนุนการยึดอำนาจ รัฐประหาร แล้วอาศัยการเกิด Chaos สร้างอำนาจต่อรองเข้ามาเสนอ ‘วาระ’ ของตัว

ซึ่งผมไม่ปฏิเสธหรอกนะว่า การปฏิรูปที่พวกเขาเสนอ โดยตัวอักษรจะมีเนื้อหาสาระดีๆ  แต่ไม่รู้สึกสะอิดสะเอียนเลยหรือกับการยอมเป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติรัฐ กระทั่งช่วยกลบเกลื่อนการปราบปรามประชาชน เพียงเพื่อตั้งองค์กร 600 ล้านขึ้นมาเสนอเนื้อหาสาระที่ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ ขณะที่รูปการจิตสำนึกของสังคมยังปลูกฝังอุดมการณ์สวามิภักดิ์ ไม่ใช่อุดมการณ์ประชาธิปไตย แล้วจะปฏิรูปสังคมไปได้แค่ไหน

ถ้าหันมาดูตัวบุคคลว่ามีใครบ้างที่เป็นซ้ายเก่าหรือคนเดือนตุลาอยู่ในเสื้อแดง นับหัวได้เลยครับ หมอเหวง หมอธิดา พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย วิสา คัญทัพ แล้วก็สุรชัย

ห่างออกมาอีกนิด คือนักการเมืองไทยรักไทยเดิม จาตุรนต์, ภูมิธรรม, หมอมิ้ง, หมอเลี้ยบ, เกรียงกมล พวกนี้ถูกเขียนเสือว่า วางแผนอยู่เบื้องหลัง โทษที ถ้าคนพวกนี้วางแผนอยู่เบื้องหลังจริง เสื้อแดงไม่แพ้ง่ายงี้หรอกครับ

ห่างออกมาอีกด้านก็เป็นนักวิชาการนักคิดนักเขียน ซึ่งจริงๆ ก็เป็นฝ่ายสองไม่เอามากกว่า เคยคัดค้านทักษิณแต่ต่อต้านรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ อย่าง อ.สมศักดิ์, อ.ยิ้ม ซึ่งถูกยัดชื่อเข้าในแผน ‘ล้มเจ้า’ หรืออย่าง อ.ใจ ท่านเป็นศิษย์วัดแดงธรรมชาติ เป็นมาร์กซิสต์สายทร็อตสกี้อยู่กับลูกศิษย์ลูกหากลุ่มเล็กๆ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

แต่ลองหันไปดูฝ่ายเสื้อเหลืองสิครับ โห นับไม่หวาดไหว 5 แกนนำพันธมิตรยกเว้นมหาจำลอง (ณ ลานพระรูป) เป็นซ้ายเก่าหรือฝ่ายก้าวหน้าหลัง 14 ตุลาเกือบหมด สนธิก็เคยเป็น บก.หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย พี่เปี๊ยก พิภพ ธงไชย เคยเล่าให้ฟังว่าเตรียมตัวเข้าป่าต่อสู้ตลอดชีวิต ถึงขนาดให้เมียไปทำหมัน แต่พอดีเข้าไปแป๊บเดียวเขาส่งไปพบ อ.ป๋วยที่อังกฤษ (มีนิวัติ กองเพียร ไปด้วย อย่าแปลกใจ ‘เกจินู้ด’ ก็อยู่ฝ่ายก้าวหน้าในสมัยนั้น)

แกนนำรุ่นสองรุ่นสาม ประพันธ์ คูณมี, คำนูณ สิทธิสมาน, มาลีรัตน์ แก้วก่า, ธัญญา ชุนชฎาธาร, รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี นักวิชาการที่เป็นมันสมอง ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, ปราโมทย์ นาครทรรพ ถึงไม่เคยเข้าป่าก็ป้วนเปี้ยนในกลุ่มนี้ นักวิชาการนักเคลื่อนไหวที่เป็นกองเชียร์ โห เพียบ ตั้งแต่ธีรยุทธ บุญมี, จีรนันท์ พิตรปรีชา, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, วิทยากร เชียงกูล, ประสาร มฤคพิทักษ์, หมอพลเดช ปิ่นประทีป, รสนา โตสิตระกูล, สมชาย หอมลออ, สังศิต พิริยะรังสรรค์, กิตติศักดิ์ ปรกติ, ประยูร อัครบวร, บุญส่ง ชเลธร, ยุค ศรีอารยะ ฯลฯ

นับไม่หวาดไม่ไหวครับ น่าจะมีใครขึ้นบัญชีฉลอง 34 ปี 6 ตุลากันบ้าง

ถามว่าคนตุลาเพี้ยนไปหมดแล้วหรือ จริงๆ แล้ว เปล่า เพื่อนผมรายหนึ่งไปงานศพเพื่อนเก่าธรรมศาสตร์ คนตายเป็น พธม.ในงานยังฉายสไลด์ภาพยึดสนามบิน (เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีวงศ์ตระกูล) กลับออกมากินข้าวต้มคุยกัน 13 คน เขาสรุปให้ฟังว่า เป็น พธม.แค่ 2 คน อีก 9 คนเป็นสองไม่เอาหรือเชียร์แดง แต่ทั้ง 9 คนนี้เคยไปม็อบพันธมิตรไล่ทักษิณยุคแรก มาพลิกข้างเอาเมื่อเรียกหา ม.7 และนำไปสู่รัฐประหาร (ส่วนอีก 2 คนที่เหลือเคยทำงานในรัฐบาลทักษิณ)

นั่นคือคนตุลาตัวจริง ‘คนตุลาระดับล่าง’ หมายถึงพวกที่อยู่ในเมืองก็ปิดโปสเตอร์ อยู่ในป่าก็เป็นนักรบหรือทำไร่ทำสวน ไม่ได้เป็นแกนนำบนเวทีไฮด์ปาร์ก ไม่ได้ไปอยู่สำนัก A30 รอดตายออกมาก็ปากกัดตีนถีบ ขายน้ำเต้าหู้มั่ง ขายก๋วยเตี๋ยวมั่ง ส่งตัวเองเรียน เพราะไม่มีใครให้ทุนไปเรียนคอร์แนล จบแล้วก็หายไปในสังคม 30 ปีผ่านไป วันนี้บางคนก็เป็นเศรษฐี บางคนก็ยังเป็นยาจก บางคนก็พออยู่รอด เหมือนคนรุ่นอื่นๆ ในสังคมไทย

แต่สิ่งที่เพื่อนพ้องเหล่านี้แตกต่างจากพวกซ้ายเสื้อเหลืองคือ พวกเขาไม่เคยมีบทบาทมาเกือบ 30 ปี ไม่ได้เป็น NGO ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหว สมัยไล่ รสช.อาจเคยออกมาร่วมช่วงสั้นๆ ก็จบไป แม้จะสนใจติดตามข่าวสารการเมืองอยู่เสมอ

ต้นกำเนิด ‘เสรีนิยม’
เวลาพูดถึงความคิดสังคมนิยม ต้องขีดเส้นก่อนว่า สังคมนิยมไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย สังคมนิยมเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษชวนหัวอย่างยิ่งว่า People’s Democratic Dictatorship

เวลาพูดถึงคนเดือนตุลา คนทั่วไปมักคิดว่าคนเดือนตุลามีความคิดสังคมนิยม เพราะเคยเข้าป่าจับปืนร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ความจริงแล้วจุดเริ่มต้นของคนเดือนตุลา ไม่ได้มาจากสังคมนิยม มันมาจากความคิดเสรีประชาธิปไตยของตะวันตกต่างหาก

คนเดือนตุลาคือคนที่เติบโตใน ‘ยุคแสวงหา’ ได้รับอิทธิพลจากยุคซิกซ์ตี้ของอเมริกา ยุคสมัยของ The Beatles บ็อบ ดีแลน ไซมอน & การ์ฟุงเกล หนัง The Graduate หรือ Easy Rider ยุคที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาต่อต้านสงครามเวียดนาม เป็นฮิปปี้พี้กัญชา เรียกหาสันติภาพ ภราดรภาพ แสวงหาความหมายของชีวิต ต่อต้านความคิดความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ปลูกฝังกันมา มีการปฏิวัติทางเพศ เลิกแบ่งชั้นชน แยกสีผิว และเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม

เรารับอิทธิพลความคิดเสรีนิยมจากอเมริกา ในช่วงปี 2510 ต้นๆ ตอนที่ร็อคแอนด์โรลเริ่มเข้ามาแทนเวทีลีลาศสุนทราภรณ์ ตอนที่หนัง เพลง หนังสือ เปิดกว้าง ทะลุทะลวงการเซ็นเซอร์ ฉีกม่านประเพณี ความคิดจารีตนิยม ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม

วิทยากร เชียงกูล จึงเขียนบทกวี ‘ฉันหวังได้อะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว’ เพื่อต่อต้านความคิด ‘เรียนไปเป็นเจ้าคนนายคน’ จุดประกายการต่อสู้เพื่อสังคมของคนหนุ่มสาว (ผมอุตส่าห์หลงเชื่อ เลยเรียนไม่จบจนบัดนี้ ขณะที่พี่วิทยากรแกไปหากระดาษมาอีกสองใบ ฮิฮิ)

14 ตุลา ในจุดเริ่มต้นจริงๆ จึงเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตย-แบบตะวันตก พร้อมกับต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพราะมันมีการพัฒนาทุนนิยมอย่างเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร

เพียงแต่หลัง 14 ตุลา เมื่อได้ประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังเป็นประชาธิปไตยที่กินไม่ได้ ปัญหาต่างๆ ผุดขึ้นมา คนหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาเข้าไปร่วมต่อสู้กับกรรมกร เช่นกรรมกรฮาร่า เรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ เข้าไปร่วมต่อสู่กับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เรียกร้องให้ลดค่าเช่านาและปฏิรูปที่ดิน ซึ่งผลก็คือผู้นำชาวนาถูกยิงตายไปหลายสิบคน

ขบวนการนักศึกษาประชาชนในยุคนั้น ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จึงโน้มเอียงไปสู่ความคิดสังคมนิยม ด้วยความเชื่อว่าจะแก้ปัญหาให้กรรมกรชาวนา คนยากคนจน ประกอบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงของขั้วอำนาจจารีตนิยมและกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามทำลายล้างเมื่อ 6 ตุลา 2519 จึงผลักให้เราเข้าป่าจับปืนร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์

แต่สุดท้าย เราก็ขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะอะไร เพราะเรามี ‘วิญญาณเสรี’ เพราะอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ขัดแย้งกับ People’s Democratic Dictatorship แม้จะถลำไปบ้างในช่วงแรก ทุ่มเทดัดแปลงตนเองเป็น ‘ลูกที่ดีของพรรค’ สดุดี เทิดทูน บูชา มีอะไรก็โทษตัวเองไว้ก่อน โทษความเป็น ‘นายทุนน้อย’ (คนชั้นกลาง) ว่าทำให้มีความคิดเสรีจนไม่เชื่อฟัง ‘จัดตั้ง’

ขบวนการนักศึกษาขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ อาจจะเริ่มต้นจากเรื่องอื่น เช่นการวิเคราะห์สังคม แนวคิด แนวทาง ยุทธศาสตร์การปฏิวัติ แต่ที่สุดแล้วก็คือการปะทะระหว่างอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย กับ ‘เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ’ โดยเฉพาะ ‘ความคิดเหมาเจ๋อตง’ แบบเรดการ์ด ที่จัดตั้งถือตัวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โต้ไม่ได้ แย้งไม่ได้ จนเกิดวิกฤติศรัทธา ขบวนปฏิวัติล่มสลาย

ขณะเดียวกัน ในด้านอุดมการณ์สังคมนิยม บางคนก็อาจจะตกผลึก บางคนก็อาจจะไม่ตกผลึก ว่าสังคมนิยมเป็นจริงไปไม่ได้ สังคมนิยมจีนล่มสลายเพราะเอาประชาชนทุกคนเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทำมากทำน้อย ขยัน ขี้เกียจ ก็ไม่อดตาย ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขณะที่ทุนนิยมเปิดโอกาสให้กิเลส ตัณหา ความโลภ กระตุ้นการแข่งขัน จนเกิดนวัตกรรมสูงสุดด้านเทคโนโลยี แม้มันอาจจะมีข้อเสียที่พัฒนาไปสู่การผูกขาดและกลืนกินตัวเองเป็นรอบๆ แต่ก็ไม่มีระบอบใดดีกว่านี้ในโลกยุคปัจจุบัน

ภารกิจของผู้มีอุดมการณ์จึงต้องสนับสนุนการพัฒนาทุนนิยม การแข่งขันเสรี พร้อมกับถ่วงดุลการผูกขาด คุ้มครองการบริโภค ต่อต้านการแสวงกำไรจนทำลายตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องทำลายทุนนิยม

ผมน่ะเลิกเป็นมาร์กซิสต์ไปตั้งนานแล้ว อาจจะเป็นอดัม สมิธ มากกว่าด้วยซ้ำ แต่ยังมีอีกมากมายหลายคนเป็นมาร์กซิสต์อยู่

ขาสองข้าง
เมื่อเร็วๆ นี้ได้คุยกับ อ.เกษียร เตชะพีระ เล่าให้ฟังว่า มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ The Two Marxisms เขียนโดย Alvin W. Gouldner บอกว่า หลังสังคมนิยมล่มสลาย พวกมาร์กซิสต์ก็แตกเป็น 2 แนวคิด แนวคิดแรกคือ พวกเกลียดทุนนิยม ที่อะไรๆ ก็ต่อต้านทุนไว้ก่อน แล้วหันไปสู่ความเชื่อแบบชุมชนนิยม ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ปกป้องวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม

แนวคิดที่สองคือพวกสนับสนุนโลกาภิวัตน์เป็นยาวิเศษ แล้วก็เห็นพวกแรกเป็นพวกงี่เง่าขุดผักขุดมัน พวกนี้เอามาร์กซิสต์มาตีความในแง่ที่ว่า ต้องให้พลังการผลิตพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดเพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต

ไม่ต้องบอกก็รู้มั้งว่าพวกแรกคือที่มาของ NGOism ซึ่งในเมืองไทยเราเข้าไปผสมพันธุ์กับลัทธิประเวศ จนกลายพันธุ์เป็นซ้ายฝ่ายอำมาตย์ ขณะที่พวกหลังน่าจะได้แก่นักวิชาการนักเคลื่อนไหวที่ไปทำงานให้ทักษิณ โดยเชื่อแนวทางเปิดรับทุนโลกาภิวัตน์

ที่ยกตัวอย่างคือพวกสุดขั้วสองขั้ว แต่ละคนอาจจะเป็นโรค Two Marxisms มากบ้างน้อยบ้าง ผมก็อาจจะเป็น แต่ปรากฏการณ์ที่เราได้พบเห็นในสังคมไทยยุค ‘พอเพียง’ ต้องบอกว่าพวกแรกเข้ามามีอิทธิพลสูงกว่าเยอะ

ฉะนั้นถ้าเรามองพัฒนาการของคนเหล่านี้ตั้งแต่เข้าป่าออกป่า กลับมาเป็น NGO เป็นนักเคลื่อนไหว แล้วเปลี่ยนอุดมการณ์ไปกินผักกินหญ้า (ผมอาจโน้มเอียงเป็นพวกที่สองด้วยความหมั่นไส้-ฮา) ต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบสุดขั้ว เราก็จะไม่แปลกใจเลยที่เห็นคนเหล่านี้สนับสนุนรัฐประหาร

อ้าว! มันแปลกตรงไหน สังคมนิยมก็คือการยึดอำนาจเพื่อสถาปนาระบอบใหม่ นี่เขาก็มองเป็นการยึดอำนาจเพื่อนำไปสู่การ ‘ปฏิรูป’ ปกป้องวิถีชุมชน หรือต่อต้านโลกร้อนไปโน่น

ยึดทรัพย์ทักษิณ แปลกตรงไหน สังคมนิยมก็ยึดทรัพย์นายทุนอยู่แล้ว ผมเคยถกกับเพื่อนเสื้อเหลืองเรื่องหลักนิติรัฐ ปรากฏว่าพูดกันคนละเรื่อง เพราะนิติรัฐเป็นหลักการของประชาธิปไตยทุนนิยม ถ้าเราจะสถาปนาประชาธิปไตย เราต้องยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ถ้าเราจะสถาปนาสังคมนิยม เราก็ต้องเชื่อการใช้ ‘ศาลประชาชน’ กวาดล้างฝ่ายตรงข้าม

เหมือนเพื่อนผมบอกว่า มึงจะเอาความยุติธรรมอะไร สังคมนี้มันไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว ผู้คนทั้งหลายไม่ได้รับความยุติธรรมความเป็นธรรมอยู่แล้ว เขาไม่สนใจกระบวนการยุติธรรม เขาสนใจแต่ผลลัพธ์

อย่าแปลกใจเลยที่เพื่อนพ้องเหล่านี้ โยนหลักการประชาธิปไตยต่างๆ ทิ้งหมด เพราะสังคมนิยมไม่เชื่อประชาธิปไตย หนำซ้ำ สังคมนิยมแบบจีนยังฝังหญ้าพิษความคิดโค่นล้มกันโดยไม่เลือกวิธีการ เหมือนโค่นหลิวเซ่าฉี หลินเปียว แก๊ง 4 คน โดยการปลุกระดมความคิดยัดเยียดข้อหา ‘ลัทธิแก้’

เกษียรให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้ว อุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ กับอุดมการณ์ขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ต่างก็เป็นมรดกของ 14 ตุลา แล้วก็เปรียบเสมือนขาทั้งสองข้าง ที่ถ้าลอยไปข้างใดข้างหนึ่ง ก็เป๋ หรือล้ม ไม่สามารถสานต่ออุดมการณ์ของคนเดือนตุลาได้

แต่แน่นอนว่าคนเราก้าวขาสองข้างไม่พร้อมกัน นั่นอยู่ที่สายตาทางยุทธศาสตร์ ว่าจังหวะไหนควรจะก้าวขาข้างไหน เรื่องนี้อาจจะถกเถียงกันได้

เพียงแต่สิ่งที่พวกซ้ายเสื้อเหลืองทำ ผมมองว่าพวกเขาตัดขาอีกข้างทิ้งไปแล้ว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต ซึ่งพวกเขายอมรับ สนับสนุน เพิกเฉย (ก็สนับสนุนนั่นแหละ) หรือกระทั่งเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน

เพียงเพื่อที่จะสอดตัวเข้ามา ‘ปฏิรูปสังคม’ เช่น ผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยจากรัฐบาลมือเปื้อนเลือด

เรื่องตลกที่ไม่น่าเป็นไปได้คือ คนพวกนี้คิดกลับด้าน แทนที่จะเชื่อว่าการผลักดันให้พัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพจะนำไปสู่การขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม พวกเขากลับเชื่อว่า เผด็จการแฝงโดยชนชั้นนำที่มีคนชั้นกลางเฟซบุคเป็นฐานสนับสนุน และมีอุดมการณ์จารีตนิยมเป็นสัญลักษณ์สูงสุด จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่า

ความเชื่อเราแตกต่างกันได้ครับ แต่ที่เลวร้ายกว่าคือ การทำลายคนที่เชื่อต่างเห็นต่างโดยไม่เลือกวิธีการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้วิธีการเดียวกับพวกฝ่ายขวาทำร้ายเราเมื่อ 6 ตุลา

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้วันที่ 6 ตุลา โดยคาดว่าคงไม่มีซ้ายเสื้อเหลืองคนไหนไปร่วมงาน 6 ตุลา เพราะ 6 ตุลาไม่ใช่วันของพวกเขาแล้ว พวกเขาไม่ใช่ ‘ผู้แพ้’ อย่างเราๆ อีกต่อไป แต่เป็น ‘ผู้ชนะ’ ร่วมกับชนชั้นนำ ที่จะไปรำลึกวีรกรรมของการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยมในวันที่ 7 ตุลาแทน

เพื่อนพ้องเสื้อเหลืองมักวิพากษ์วิจารณ์ผมในกรณี 7 ตุลา ที่ผมตั้งข้อกังขาต่อการตาย บาดเจ็บ หาว่าผมทิ้งความเป็นคน 6 ตุลา ที่ไปคัดค้านการต่อสู้ของประชาชนไม่ว่าจะเป็นข้างไหนก็ตาม

โทษที ผมไม่เคยสนับสนุนให้ ‘ฆ่ามันๆๆ’ ในวันที่ 7 ตุลา เช่นเดียวกับที่ไม่ได้สนับสนุนให้ม็อบลุย ไอ้เสือเอาวา ในเหตุการณ์พฤษภา เพราะผมบอกชัดเจนว่าให้เลิกเหอะ ยอมรับข้อเสนอยุบสภา ไอ้บ้าที่ไหนบุก ร.พ.จุฬาฯ ผมยังด่าอีกต่างหาก

แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นชัดเจนว่า ตำรวจไม่ได้ติดป้าย ‘เขตใช้กระสุนจริง’ ตำรวจไม่ได้ใช้ปืนสไนเปอร์เล็งแล้วมีคนตาย ตำรวจใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตา ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 7 ตุลา 2551 ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่า ปืนยิงแก๊สน้ำตาจะทำให้คนตายหรือแขนขาขาด ปืนยิงแก๊สน้ำตายังเคยใช้กับม็อบเสื้อแดงหน้าบ้านพลเอกเปรมมาแล้ว (คนชั้นต่ำมันหนังหนามั้ง)

ขณะที่เพื่อนพ้องของผม เขายังต้องรอผลพิสูจน์จากคณะกรรมการสอบสวน ว่าภาพทหารเล็งปืน แล้วมีคนตาย เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ต้องให้เห็นกับตาว่าทหารเล็งปืน ยิง ลูกกระสุนวิ่งออกไป แพนกล้องตาม แล้วไอ้คนเสื้อแดงที่ถือหนังกะติ๊กโดนเป่าหัวกระจุยล้มตึง

พวกซ้ายเสื้อเหลืองมักตำหนิคนเดือนตุลาที่ไปทำงานให้รัฐบาลทักษิณว่ากลายเป็นนักการเมืองเห็นแก่ผลประโยชน์ แต่อย่างน้อย ผมก็ไม่เคยเห็นพวกเขาสนับสนุนให้ทักษิณปราบปรามประชาชน ในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ จาตุรนต์และอีกหลายๆ คนแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับทักษิณ ในกรณีม็อบท่อก๊าซ วัชรพันธ์ จันทรขจร ถึงกับลาออก

แต่ผมไม่เห็นท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต จากคนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นคนเดือนตุลา รอดตายมาจาก 6 ตุลา ในฝ่ายเสื้อเหลือง ตรงข้ามกลับช่วยกลบเกลื่อน ช่วย ‘ปฏิรูป’ ช่วยลดกระแส หรือกระทั่งสนับสนุนให้ไล่ล่ากวาดล้าง

ในความเป็นคนเดือนตุลานะครับ ใครจะหย่าเมีย จีบเด็ก กิ๊กเลขา ก็เรื่องส่วนตัวไม่ว่ากัน

แต่วิญญาณของคนเดือนตุลา ที่เพื่อนบางคนสละชีวิตไปเมื่อ 34 ปีก่อน ก็คือวิญญาณของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และคนยากไร้

ฝากสำรวจตัวเองด้วยว่าใครสูญเสียความเป็นคนเดือนตุลาไปแล้ว หรือกระทั่งกลายเป็นคนสามานย์ สูญเสียความเป็นมนุษย์


You must be logged in to post a comment Login