วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” : The Fall of the Octobrists

On October 6, 2016

 วิเคราะห์ความถดถอยของ ‘คนเดือนตุลา’ เมื่อโครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยน คอนเน็กชั่นคนเดือนตุลาไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป กลายเป็น Lost Generation เป็นซากที่อยู่กับชุดอุดมการณ์และวิธีอธิบายโลกแบบเดิม หมดความชอบธรรมการผูกขาดความหมายประชาธิปไตย

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

ภายใต้การเขียนประวัติศาสตร์เดือนตุลาใหม่ การทำให้โรแมนติก การสร้างวีรบุรุษเดือนตุลา และการสร้าง Inclusive Meaning ได้ช่วยลบริ้วรอยความแตกแยกขัดแย้งระหว่างคน 14 ตุลา และ 6 ตุลา สร้างความเข้าใจให้คนรุ่นที่ตามมาว่า คนเดือนตุลาทุกคนคือฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และความเป็นธรรมในสังคม แต่แล้วสังคมก็ได้เห็นคนเดือนตุลาอยู่ทั้งสองฟากความคิดทางการเมืองในปัจจุบัน

 

โครงสร้างการเมืองเปลี่ยน-ความเป็นคนเดือนตุลาไม่ตอบโจทย์

“ความแตกต่างเหล่านี้เป็นกรอบหยาบๆ เบื้องต้นในการทำความเข้าใจว่า คนเหล่านี้คิดไม่เหมือนกัน คน 6 ตุลามีบาดแผลกับสถาบันมากกว่าคน 14 ตุลา ประเด็นในการต่อสู้ของคน 14 ตุลากับการไม่เอาทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือไม่ต้องการ Authoritative Power ซึ่งพันธมิตรในการต่อสู้กับ Authoritative Power เป็นใครก็ได้ ดูตัวอย่างคน 100 คนที่ไปล่ารายชื่อตอนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (2516) มีทั้งเสรีนิยม รอยัลลิสต์ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนก้าวหน้าทั้งหมด แต่เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบ Ineffective Military Regime อันนี้อธิบายอย่างหยาบที่สุด คือมันมีฐานคิดแบบนี้อยู่แล้วตั้งแต่ 14 ตุลา”

แตกต่างจากคน 6 ตุลา ที่ประเด็นสถาบันเป็นบาดแผลสำหรับคนกลุ่มนี้มาโดยตลอด แล้วคนกลุ่มนี้ยังเชื่อในเสรีภาพทางสังคม ความเท่าเทียมทางสังคม และความยุติธรรมทางสังคมในแบบที่แตกต่างจากคน 14 ตุลา กล่าวคือเป็นสังคมนิยมมากกว่าเป็นเสรีนิยม ขณะที่คน 14 ตุลาที่เป็นเสรีนิยมไม่ได้แปลว่าจะนำไปสู่ความเท่าเทียม แต่มันอาจหมายถึงเสรีภาพในเชิงปัจเจก เสรีภาพจากรัฐก็ได้

“ไม่ใช่เพราะว่าเดี๋ยวนี้อยู่กับทักษิณ ไม่เอาเพื่อนแล้ว แต่เพราะโดยโครงสร้างทางการเมืองทำให้ต้องแคร์ฐานเสียงและนโยบายที่รับปากไว้มากกว่าเพื่อนที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวแล้วลุกขึ้นมาต่อต้าน …รัฐบาลมี Authority ในการทำ ไม่จำเป็นจะต้องประนีประนอมกับคนเดือนตุลาในภาคอื่นๆ อีกต่อไป”

ปัจจัยประการต่อมาที่ก่อให้เกิดการปริแตกของคนเดือนตุลาคือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเมืองจากที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่มีความโน้มเอียงให้ต้องประนีประนอมกันมากกว่า กนกรัตน์ยกตัวอย่างว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยอาจไม่ได้มีพลังมาก เพียงแต่โครงสร้างทางการเมืองของไทยในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้มีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ เมื่อเผชิญกับแรงกดดันของสมัชชาคนจนก็เรียกได้ว่าหนักหน่วงแล้ว

“คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สามารถยกหูถึงพินิจ จารุสมบัติได้ทันที แล้วก็ขอประนีประนอมในการเจรจาในเชิงนโยบาย ขอให้มีการเปิดโต๊ะเจรจา คำอธิบายว่าเพราะความเป็นเพื่อนมีผล มันไม่พอ แต่เพราะโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ทำให้นักการเมืองก็ยอมขบวนการเคลื่อนไหว เพราะต้องการ popular support มันเปราะบางต่อโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้”

แต่หลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 และการเกิดขึ้นของรัฐบาลที่เข้มแข็งของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบาลทักษิณไม่มีความจำเป็นต้องสนใจขบวนการเคลื่อนไหวอีก เพราะมีความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น การปะทะกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ของคนเดือนตุลาจึงไม่ต้องประนีประนอมอีกต่อไป

“ไม่ใช่เพราะว่าเดี๋ยวนี้อยู่กับทักษิณ ไม่เอาเพื่อนแล้ว แต่เพราะโดยโครงสร้างทางการเมืองทำให้ต้องแคร์ฐานเสียงและนโยบายที่รับปากไว้มากกว่าเพื่อนที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวแล้วลุกขึ้นมาต่อต้าน คือนโยบายของรัฐสำคัญกว่า ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ดีหรือไม่ก็ตาม แต่รัฐบาลมี authority ในการทำ ไม่จำเป็นจะต้องประนีประนอมกับคนเดือนตุลาในภาคอื่นๆ อีกต่อไป คนอย่างภูมิธรรม เวชยชัย ถึงจะเข้าใจพวกที่เคลื่อนไหว แต่ในสภามันเจรจาไม่ได้ หัวหน้าทุบโต๊ะแบบนี้ มันได้เลย นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัจจัยที่ต้องทำความเข้าใจว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงลุกขึ้นมาขัดแย้งทะเลาะกันมากขนาดนี้ มันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมืองที่ทำให้การรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของ Octobrist แบบ inclusive มันไม่ฟังก์ชันแล้ว”

ประชาไทถามว่า รัฐบาลทักษิณถือเป็นจุดสูงสุดของคนเดือนตุลาใช่หรือไม่?

“ใช่ ในช่วงที่ทักษิณขึ้นเป็นช่วงที่พีคที่สุดของคนเดือนตุลาในทุกสาขาอาชีพ ในไทยรักไทย นักการเมืองคนที่ทำนโยบายส่วนใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้นก็เป็นคนเดือนตุลา นี่ปฏิเสธไม่ได้ คนที่อยู่ในภาคเอ็นจีโอก็พีคที่สุดแล้ว เกือบทุกองค์กร แกนนำทุกกลุ่ม ทุกสาขา ก็เป็นคนเดือนตุลา หลายๆ ตัวอย่างที่อยู่ในไทยรักไทย เช่น การดึงงบประมาณมหาศาลในการจัดงานเดือนตุลา ตอน 30 ปี 14 ตุลา เป็นงานใหญ่ แคมเปญกันจนเกือบทำให้วันที่ 14 ตุลาเป็นวันหยุดชาติ แต่เถียงกันไม่ลงตัวว่าจะเอาวันนั้นเป็นวันชื่ออะไร เช่น วันประชาธิปไตย พวกคนเดือนตุลาบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่วันประชาธิปไตย มันมีวันอื่นๆ อีกเยอะแยะ”

“ปัญหาอย่างเดียวของคนเดือนตุลาและชนชั้นกลางไทยก็คือ เขาไม่เข้าใจว่าวัฏจักรของระบอบประชาธิปไตยมันเป็นยังไง คือถ้าคุณแค่เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองยุโรปแค่นิดเดียว คุณก็จะรู้ว่ามันไม่มีใครชนะตลอดไป …ในยุโรปยุคเริ่มต้นมันเป็นแบบนั้นจริง แต่สังคมมันจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า มันอยู่ไม่ได้ ถ้ามันผูกขาดยาวนานขนาดนั้น มันจะต้องมีเสียงที่คิดไม่เหมือน เสียงที่แตกต่าง ลุกขึ้นมาท้าทาย”

คนเดือนตุลาและชนชั้นกลางไทยไม่เข้าใจวัฏจักรประชาธิปไตย

ปัจจัยสุดท้ายคือกรอบของความเป็นคนเดือนตุลาได้ล้มเหลวลงแล้วในการจัดการความขัดแย้ง กนกรัตน์อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ความเป็นคนเดือนตุลาเป็นกรอบกว้างๆ ที่ช่วยไม่ให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นมา แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ทำให้ตัวกรอบคิดของคนเดือนตุลาไม่ประสบความสำเร็จ ในทางตรงข้าม มันกลับกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทะเลาะกัน ในการทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนเอง นักการเมืองและคนจำนวนมากลุกขึ้นมาบอกว่าฉันคือคนเดือนตุลาของจริง แล้วอะไรคือคนเดือนตุลาของจริง คนเดือนตุลาของจริงก็คือในแบบที่คนๆ นั้นกำลังอธิบาย แต่มันก็มีพลังพอที่จะสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ขณะเดียวกันก็เอาไว้ด่าทออีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นคนเดือนตุลาที่ทรยศต่ออุดมการณ์

สำหรับกนกรัตน์ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะทำความเข้าใจกับโครงสร้างทางการเมืองอย่างไร ข้อถกเถียงที่ว่าจะเอาอะไรระหว่างรัฐบาลที่ภาคประชาสังคมต่อรองเจรจาได้หรือจะสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งที่มีประสิทธิภาพทางนโยบายแบบทักษิณนั้น ไม่ใช่โจทย์เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่เป็นระบอบประชาธิปไตย

“ปัญหาอย่างเดียวของคนเดือนตุลาและชนชั้นกลางไทยก็คือ เขาไม่เข้าใจว่าวัฏจักรของระบอบประชาธิปไตยมันเป็นยังไง”

กนกรัตน์อธิบายผ่านประวัติศาสตรการเมืองยุโรปว่า เมื่อคุณเลือกรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นในเยอรมนี อังกฤษ สวีเดน ฝรั่งเศส เวลาที่รัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่ว่าพรรคอนุรักษ์นิยมหรือพรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง พรรคนั้นมักจะชนะติดต่อกันประมาณ 3-4 รอบ เป็นรัฐบาลผูกขาดประมาณ 9-12 ปี สังคมจึงจะเห็นปัญหาของนโยบายที่เริ่มต้นมาตั้งแต่พรรคนั้นๆ เริ่มเป็นรัฐบาล แต่ภายในรอบเดียวอาจยังมองไม่เห็นปัญหาและก็ยังไม่นานพอที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเริ่มปรับตัว แต่ปัญหาของชนชั้นกลางไทยและคนเดือนตุลาคือไม่มีความเข้าใจด้านประชาธิปไตย คิดว่ารัฐบาลทักษิณจะผูกขาด จะอยู่ตลอดไป ระบอบนี้จะนำมาซึ่งเผด็จการ

“คือถ้าคุณแค่เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองยุโรปแค่นิดเดียว คุณก็จะรู้ว่ามันไม่มีใครชนะตลอดไป เราคิดว่าเป็นความจงใจของแกนนำฝ่ายเสื้อเหลืองในการทำให้การเล่าเรื่อง การอธิบายประชาธิปไตยเป็นแบบนั้น เพื่อให้ประชาธิปไตยดูน่ากลัวมาก ยกตัวอย่างที่แย่ที่สุดของประชาธิปไตยแบบเผด็จการในการอธิบาย ในยุโรปยุคเริ่มต้นมันเป็นแบบนั้นจริง แต่สังคมมันจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า มันอยู่ไม่ได้ ถ้ามันผูกขาดยาวนานขนาดนั้น มันจะต้องมีเสียงที่คิดไม่เหมือน เสียงที่แตกต่าง ลุกขึ้นมาท้าทาย แล้วในสังคมไทย จริงๆ พันธมิตรฯ (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ตอนเติบโตนั้น มันถึงจุดที่แทบจะทำให้รัฐบาลทักษิณก็อยู่ไม่ได้โดยการยึดถือความชอบธรรมของเสียงข้างมากแบบนั้น เราคิดว่ามันเป็นอธิบายสถานการณ์แบบเกินจริง โดยไม่คิดถึงเงื่อนไข ณ ตอนนั้นของการเมืองไทย”

คนเดือนตุลาคือ Lost Generation ที่ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง

กนกรัตน์เท้าความกลับไปอีกครั้งเพื่อเชื่อมโยงกับปัจจุบันว่า ในยุคหนึ่ง การที่ทำให้เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กลายเป็นฮีโร่ประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ถือเป็นความสำเร็จในการ rewrite ประวัติศาสตร์เดือนตุลาใหม่ด้วย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะชอบหรือไม่ชอบเสกสรรค์ในช่วง 14 ตุลาและ 6 ตุลา ก็ตาม

“การชู figure บาง figure ที่เป็นข้อถกเถียงอย่างเสกสรรค์หรือธีรยุทธ (บุญมี) ซึ่งคน 6 ตุลาจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับคนพวกนี้ เขาก็ยอม เพราะมันเป็นกระบวนการทำให้ทุกคนมีที่ยืน การทำให้เขาเป็นคนเดือนตุลา ทั้งที่ทุกคนไม่ได้คิดเหมือนกัน ทำให้เขากลับมามีที่ยืนได้ อย่างเช่น ไปสัมภาษณ์วิภา ดาวมณี บอกว่าพอออกจากป่าก็ไปอยู่เซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นมือเขียน สคริปไรท์เตอร์ ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ สโลแกนพวกนี้ แกคิดทั้งนั้น เพราะแกทำอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่จัดงานแต่งงานในป่า

“เขาเหมือนกับซากที่อยู่กับชุดอุดมการณ์และวิธีอธิบายโลกแบบเดิม ซึ่งก็รู้ว่ามันไม่เข้ากับโลกที่เปลี่ยน แต่เขาเป็น Established Middle Class ในระดับหนึ่ง เขาไม่จำเป็นต้องอธิบายโลกเขาก็อยู่ได้ เพราะประสบความสำเร็จไปแล้วในแง่หนึ่ง พอทักษิณกลับมา เขาไม่มีเครื่องมือทางอุดมการณ์อะไรจะไปต่อกรกับทักษิณแล้ว …ก็พยายามมิกซ์แอนด์แมทช์สิ่งที่เขาเคยรู้กับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในสังคมไทย มันก็เลยผิดร่องผิดรอย ผิดฝาผิดตัวอย่างที่เห็น ถ้าจะอธิบายก็คือเขาอยู่ท่ามกลางข้อจำกัดทางอุดมการณ์ เขาอธิบายโลกไม่ค่อยได้”

“ถามว่า ตอนพฤษภาทมิฬช่วงแรกๆ ทำไมไม่มาเข้าร่วม เขาตอบว่า เวลาจะส่ง CV ให้ใครยังไม่กล้าส่ง เพราะชีวิตหายไป 4-5 ปี สมัครงานทุกที่คนจะถามว่าไปไหนมา 4-5 ปีนี้ ก็พูดแบบอึกๆ อักๆ กระอักกระอ่วน แต่พอช่วงพฤษภาทมิฬ คำว่าคนเดือนตุลามันมาแล้ว วิภาบอกว่าช่วงนั้นเขากล้า เขาเริ่มเห็นเพื่อนๆ คนเดือนตุลาทุกคน แล้วทุกคนก็ไม่ทะเลาะกันเหมือนเดิม เพราะก่อนหน้านั้น เขาไปงาน ไปสัมมนามา 2-3 ครั้งหลังออกจากป่า เขารู้สึกว่ามันน่าหดหู่มาก คนที่เคยจัดตั้งเขาก็ไปขายก๋วยเตี๋ยวแล้ว คือเลิกแล้ว ขณะที่เขากลับมาอยากเคลื่อนต่อ คน 14 ตุลา ก็มีงานของเขา แต่เขาไม่มีที่ยืน แต่พอมันมีคำว่าคนเดือนตุลา อาจารย์วิภาบอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขากล้าที่จะส่งแฟกซ์ไปชวนคน เขากล้าไปม็อบ เขาเริ่มรู้สึกว่าบนเวทีเห็นพี่ๆ เต็มเลย แล้วก็มีการประกาศว่าคนเดือนตุลาก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤษภาทมิฬ แต่พอหลังจากความขัดแย้งเหลือง-แดง ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกคนก็เริ่มชี้หน้ากันแล้วว่า แกใช้ตุลามาหากิน ยิ่งพวกนักการเมืองเอาตุลามาหากินทั้งนั้น ทั้งที่จริงๆ มันเป็นสินทรัพย์ที่ทุกคนช่วยกันสร้างและช่วยกันใช้ แต่พอทะเลาะกันแล้ว ทำให้คิดว่าสินทรัพย์ที่ช่วยกันสร้างมา มันถูกใช้โดยฝ่ายตรงกันข้าม”

ความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ และชุดคำอธิบายที่มีมาตั้งแต่ครั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ในแง่หนึ่งก็กลายเป็นกับดักที่ทำให้สังคมไทยได้เห็นคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งขวาหันกลับไปสนับสนุนรัฐประหารและต่อต้านทักษิณ กนกรัตน์มีคำอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า คนเดือนตุลาอยู่ท่ามกลางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทยที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาอย่างที่สังคมไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงรุนแรงเท่านี้มาก่อน ทำให้พวกเขาเป็น Lost Generation ที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายเมืองไทยอย่างไร

สังคมไทยแบบที่คนเดือนตุลารู้จักในช่วงทศวรรษ 70 ไม่มีเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน ขณะที่พวกเขากลับมีเพียงชุดความรู้ชุดเดิมที่จะอธิบายโลกได้ เพราะหลังจาก พคท. จบลง คนเหล่านี้จำนวนน้อยมากที่จะพยายามพัฒนาความเข้าใจในเชิงอุดมการณ์และการวิเคราะห์ทางการเมืองที่หลากหลายมากขึ้น เท่าที่กนกรัตน์สัมภาษณ์คนเดือนตุลาหลังจากออกจากป่าพบว่า คนเหล่านี้อ่านหนังสือน้อยมาก ไม่มองโลกอย่างที่มันกำลังเปลี่ยนจริงๆ มีเพียงไม่กี่คนที่พยายามจะอธิบายโลกอย่างที่มันกำลังเปลี่ยน

“เพราะฉะนั้นเขาเหมือนกับซากที่อยู่กับชุดอุดมการณ์และวิธีอธิบายโลกแบบเดิม ซึ่งก็รู้ว่ามันไม่เข้ากับโลกที่เปลี่ยน แต่เขาเป็น Established Middle Class ในระดับหนึ่ง เขาไม่จำเป็นต้องอธิบายโลกเขาก็อยู่ได้ เพราะประสบความสำเร็จไปแล้วในแง่หนึ่ง พอทักษิณกลับมา เขาไม่มีเครื่องมือทางอุดมการณ์อะไรจะไปต่อกรกับทักษิณแล้ว หยิบอะไรได้ที่พอเข้ากันและถูกนำไปโฆษณาต่อโดยสนธิ (ลิ้มทองกุล) และกลุ่มอื่นๆ ที่รู้ว่าคนเหล่านี้เคยเชื่ออะไร พวกก้าวหน้าไทยก็รู้จักชุดประมาณนี้ ก็พยายามมิกซ์แอนด์แมทช์สิ่งที่เขาเคยรู้กับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในสังคมไทย มันก็เลยผิดร่องผิดรอย ผิดฝาผิดตัวอย่างที่เห็น ถ้าจะอธิบายก็คือเขาอยู่ท่ามกลางข้อจำกัดทางอุดมการณ์ เขาอธิบายโลกไม่ค่อยได้”

คนเดือนตุลาหมดความชอบธรรมในการผูกขาดความหมายประชาธิปไตย

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การผูกขาดการอธิบายประชาธิปไตยของคนเดือนตุลาหมดความชอบธรรมและสิ้นสุดลง กนกรัตน์กล่าวว่า ในช่วงแรก กลุ่มคนเดือนตุลาให้ความหมายของประชาธิปไตยไทยตั้งแต่ 14 ตุลา คนกลุ่มนี้สร้างการเล่าเรื่องขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งธีรยุทธ บุญมี เขียนหนังสือหลายเล่มและพยายามจะสร้างการเล่าเรื่องผ่านหนังสือพิมพ์ว่า ประชาธิปไตยไทยเริ่มต้นที่ 2475, 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ผลที่ตามมาคือทำให้สังคมไทยเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการโค่นล้มเผด็จการ แต่ไม่ได้พูดถึงความต่อเนื่องของระบบการเลือกตั้ง แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อประชาธิปไตยเริ่มมีความต่อเนื่อง คนเหล่านี้จึงถูกทำให้เป็นชายขอบและไม่สามารถอยู่ในระบบการเลือกตั้งปกติได้

“ก่อนหน้านี้ ที่คนพวกนี้ต่อต้านเผด็จการเพราะเขาเป็น New Immerging Middle Class สิ่งที่เขาต้องการคือต่อต้านระบบที่กดขี่เขาอยู่ นั่นก็คือทหาร แต่ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังกลับมาจากป่า คนเหล่านี้ก็พัฒนาสถานภาพตัวเองเป็น Established Middle Class และการเป็น Established Middle Class ในสังคมที่เขาเป็นเสียงส่วนน้อย ไม่มีช่อง ไม่มีพื้นที่ทางการเมือง เขาจึงยอมรับไม่ได้ต่อระบอบที่ทำให้เขากลายเป็นชายขอบในสังคม”

“ชนชั้นกลางเหล่านี้ถูกทำให้เป็นชายขอบจากประชาธิปไตยที่เริ่มมีความต่อเนื่อง และคนที่ถูกนับรวมเข้ามาก็คือมวลชนที่เป็นคนเสื้อแดงหรือใครก็ตามที่คุณจะให้ค่าเขาเข้ามา คนเดือนตุลายังเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไรในแบบของเขา ซึ่งเขายังเข้าใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นอำนาจเผด็จการ ผลที่ตามมาก็คือทั้งสังคมยอมรับไม่ได้กับการอธิบายประชาธิปไตยด้วยความหมายแบบนี้ของเขา ในขณะที่ทางออกของเขาคือการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาจึงไม่เหลือความชอบธรรมแล้วในสังคมที่คนส่วนใหญ่เรียนรู้ประชาธิปไตยไปแล้วในระดับหนึ่ง

“ก่อนหน้านี้ ที่คนพวกนี้ต่อต้านเผด็จการเพราะเขาเป็น New Immerging Middle Class สิ่งที่เขาต้องการคือต่อต้านระบบที่กดขี่เขาอยู่ นั่นก็คือทหาร แต่ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังกลับมาจากป่า คนเหล่านี้ก็พัฒนาสถานภาพตัวเองเป็น Established Middle Class และการเป็น Established Middle Class ในสังคมที่เขาเป็นเสียงส่วนน้อย ไม่มีช่อง ไม่มีพื้นที่ทางการเมือง เขาจึงยอมรับไม่ได้ต่อระบอบที่ทำให้เขากลายเป็นชายขอบในสังคม

“ในยุโรปก็มีประสบการณ์เช่นนี้ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องมีกลไกการออกแบบระบบสภาให้มีที่ยืนของคนพวกนี้ด้วย แต่ปัญหาคือคนพวกนี้ไม่คิดจะเข้าสู่สภา ทางลัดที่สุดคือล้มระบบสภาจึงจะมีที่ยืนได้ เช่น ส.ว.แต่งตั้ง มีนักวิชาการหลายคนที่บอกว่ามันอาจทำให้มีที่ยืนสำหรับคนพวกนี้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเราไม่เห็นด้วย แต่มันต้องคิดว่าจะออกแบบยังไงให้คนพวกนี้ซึ่งมีพาวเวอร์ในสังคมจริง มีสถานะในสังคมจริง และเราฆ่าเขาไม่ได้ ไล่เขาออกไปก็ไม่ได้ มันจะสร้างระบบยังไงให้อยู่ด้วยกันได้ในช่วงที่สังคมเปลี่ยนมาก จนทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจกันและกัน ไม่เข้าใจว่าอีกฝ่ายมีตัวตนอยู่จริงและที่สำคัญก็คือ สร้างกฎเกณฑ์ทางการเมืองยังไงที่ให้ทุกคนเชื่อว่าทุกคนจะไม่แพ้ตลอดไป”


You must be logged in to post a comment Login