วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘เปิดไฟไล่โกง’แต่ห้ามตรวจสอบ? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On October 6, 2016

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

สัปดาห์ที่ผ่านมาท่านผู้อ่านที่เป็นคนกรุงเทพฯคงอดคิดถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ได้ เนื่องจากในห้วงนี้ชาวกรุงทั้งหลายต้องเผชิญกับสภาพน้ำท่วมบนถนนสายหลักหลายเส้นที่เป็นสาเหตุของรถติดวินาศสันตะโรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมและครอบครัวก็เป็นหนึ่งในนั้น มีอยู่วันหนึ่งกว่าแม่บ้านผมจะฝ่าการจราจรพาลูกๆกลับมาถึงบ้านได้ก็เกือบ 3 ทุ่ม ต่างคนต่างอ่อนเพลียหมดแรงไปตามๆกัน

แม้วันนี้เราจะมีคำศัพท์เรียกน้ำท่วมว่า “น้ำรอระบาย” และก่อนถูกพักงานท่านผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสภาพรถติดต่อเนื่องยาวนานให้หายไปได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยคนกรุงเทพฯยังนึกถึงใบหน้าที่ตัวเองต้องสวดชยันโตอวยพรหรือบ่นคิดถึงกันพอได้บ้าง

แต่วันนี้ไม่เหลือใครให้คนกรุงเทพฯบ่นหรือตำหนิได้อีกแล้ว จะไปบ่นหรือตำหนิท่านผู้นำสูงสุดก็ยิ่งลำบาก เพราะรายนั้นประกาศชัดเจนว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ ประชาชนทุกคนต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นและต้องเข้าใจว่าการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทำได้อย่างจำกัด เพราะคงไม่มีรัฐบาลหน้าไหนก็ตามแม้แต่รัฐบาลทหารที่จะมีอิทธิฤทธิ์สั่งฟ้าสั่งฝนได้อย่างแน่นอน

เรื่องนี้ผมคิดว่าคงไม่มีใครกล้าเถียงและต้องยอมรับชะตากรรมกันแต่โดยดี แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง แม้จะไม่ได้เลือกให้ท่านเข้ามาบริหารประเทศก็ตาม บางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในขณะที่ปัญหาน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนไม่น้อยทั่วประเทศ และผู้รับผิดชอบทุกท่านก็ยืนยันหนักแน่นว่ามีความพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แต่ถ้าน้ำยังท่วมและประชาชนเดือดร้อน พวกท่านจะถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่?

ผมเชื่อสนิทใจว่าผู้รับผิดชอบทุกคนคงไม่มีใครอยากให้น้ำท่วมและคงพยายามแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ แต่ข้อเท็จจริงที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้คือ น้ำยังท่วมอยู่และคนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้ต่างจากน้ำท่วมในรัฐบาลอื่นๆ แต่น่าสงสัยจริงๆว่าเรื่องแบบเดียวกัน เหตุการณ์แบบเดียวกัน ทำไมอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถูกกล่าวหาอยู่คนเดียว

ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพราะเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังเคารพในเหตุผลข้อเท็จจริง หากปล่อยให้มีการดำเนินคดีกับรัฐบาลที่พยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกของประเทศไทยที่ต้องอดหลับอดนอนหลายเดือนในการเป็นผู้นำแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับประเทศ การใช้กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานเช่นนี้อาจจะกลายเป็นบูเมอแรงย้อนกลับมาถึงผู้เกี่ยวข้องทุกคนในอนาคตได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

นอกจากเรื่องน้ำท่วมแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องไหนร้อนกว่าการเดินทางไปประชุมที่ฮาวายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถูกสังคมตั้งคำถามและกล่าวหาว่าคณะเดินทางไปประชุมครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 38 คน ทำไมจำเป็นต้องเช่าเหมาลำเครื่องบิน“จัมโบ้เจ็ต” หรือ“โบอิ้ง 747” ของบริษัทการบินไทย นอกจากเครื่องบินแบบแอร์บัส 380 แล้ว เจ้าจัมโบ้เจ็ตนี่แหละคือเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก เพราะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้กว่า 400 คน

ก่อนอื่นผมขอแสดงความบริสุทธิ์ใจก่อนว่าผมไม่ได้มองการเดินทางของท่านครั้งนี้เป็นเรื่องเกินความจำเป็น เพราะการที่สมาชิกของคณะรัฐมนตรีท่านใดก็ตามต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปเจรจาสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับมิตรประเทศ ประชุมเจรจาด้านการค้าการลงทุน หรือเดินทางไปประชุมเรื่องความมั่นคงเหมือนในครั้งนี้ ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับการเตรียมการและการปฏิบัติอย่างสมเกียรติในฐานะตัวแทนของประเทศไทยที่ต้องไปมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆบนเวทีโลก

การเดินทางไปราชการทุกครั้งย่อมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ซึ่งข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการเตรียมการเดินทางและงบประมาณคงดำเนินการทุกอย่าง ดังนั้น ผมคิดว่าเรารอดูต่อไปดีกว่าว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้รับผิดชอบหน้าที่ในการตรวจสอบค่าใช้จ่ายและรายละเอียดของการเดินทางไปประชุมของคณะครั้งนี้จะมีผลการตรวจสอบออกมาอย่างไร

ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพราะเมื่อครั้งที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้รับเชิญจากนานาอารยประเทศมากมายทั่วโลก ท่านผู้อ่านคงจำได้ดีว่ามีการโจมตีกล่าวหานายกฯปูอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองและได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงภายหลังการไปเยือนประเทศต่างๆที่นักธุรกิจของไทยและมิตรประเทศมีโอกาสได้เปิดธุรกิจใหม่และทำให้การค้าระหว่างประเทศเฟื่องฟูขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบคือ ตลอดเวลาในการดำรงตำแหน่งของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ การเดินทางไปเยือนมิตรประเทศและการไปร่วมประชุมสุดยอดในเวทีต่างๆทั่วโลกมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 5.7 ล้านบาทต่อครั้งเท่านั้น ต่างจากการไปเยือนรัสเซียของท่านผู้นำสูงสุดที่ใช้งบประมาณไป 16 ล้านบาท และการเดินทางไปฮาวายของรองผู้นำสูงสุดที่ใช้จ่ายงบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท

ผมคงไม่บังอาจนำเรื่องต่างกรรมต่างวาระมาเปรียบเทียบแล้วตัดสินว่าใครดีกว่าใคร หรือใครถูกใครผิดอย่างแน่นอน เพราะการเดินทางในแต่ละครั้งคงเปรียบเทียบกันได้ยาก แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงมองเห็นอะไรได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดคือ ความพร้อมที่จะให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านและองค์กรอิสระต่างๆสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างละเอียด ใครอยากเอกซเรย์ดูตรงไหนก็สามารถดำเนินการได้อย่างง่ายดาย กระบวนการตรวจสอบครบวงจรแบบนี้กลับถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นระบบที่มีจุดอ่อนและเปิดโอกาสให้โกงได้ง่าย

แต่ในระบบปัจจุบันในยุคที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและท่านผู้นำสูงสุดร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วยตัวเองในการโปรโมตการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยแคมเปญ “เปิดไฟไล่โกง” กลับเป็นยุคที่ทุกฝ่าย “ไม่สามารถทำการตรวจสอบเรื่องที่สังคมสงสัยได้อย่างสะดวกสบายอีกต่อไป”

เรื่องนี้ผมไม่ได้เป็นคนบ่นนะครับ แต่สื่อมวลชนหลายค่ายฝากบ่นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายชื่อของผู้เดินทางทริปฮาวายทั้ง 38 คนนั้นถือเป็นความลับทางด้านความมั่นคงไปได้อย่างไร? ใครรู้ช่วยบอกทีครับเจ้านาย!


You must be logged in to post a comment Login