- ปีดับคนดังPosted 16 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ขว้างงูไม่พ้นคอ
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
สถานภาพของรัฐบาลทหาร คสช.เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ทำอะไรมีแต่คำถาม บางเรื่องชี้แจงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังไม่เท่ากับท่าทีปิดกั้นการตรวจสอบที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหาร คสช.อย่างจัง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังแนะนำว่าหากผู้ที่เคลื่อนไหวตรวจสอบใช้สิทธิ์อันพึงมี รัฐบาลทหาร คสช.ควรยินยอมรับการตรวจสอบ ทำทุกอย่างให้โปร่งใส ทุกอย่างก็จะเบาบางลง บางเรื่องอาจมองว่าเป็นการโจมตีทางการเมือง แต่ก็ต้องให้ตรวจสอบเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏ
“มันมี 2 เรื่อง เหมือนกับเรื่องก่อนหน้านี้ ถึงจุดหนึ่งมันก็จะมี 2 ระดับ ระดับ 1 คือ มันผิดกฎหมาย ผิดระเบียบหรือไม่ 2.ความสมควร แล้วถ้ามันผิดระเบียบ หรือผิดกฎหมาย อันนี้มันก็คงมีข้อยกเว้นไม่ได้ ส่วนกรณีความสมควร หรือไม่สมควร 1.คือ แต่ละคนก็คงมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน 2.ถ้าสมมติว่า เห็นว่ามันไม่สมควร การลงโทษทางสังคม หรือระดับของความเหมาะสมที่จะแสดงความยอมรับถึงความไม่สมควรนี้ก็เช่นเดียวกัน จึงอยู่ที่แต่ละบุคคลจะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป”
ประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ พยายามชี้ให้เห็นแยกเป็น 2 เรื่อง คือผิดกฎหมายหรือไม่ กับสมควรหรือไม่
หากตรวจพบว่าผิดกฎหมายจะเป็นใครก็ละเว้นไม่ได้ แต่กรณีสมควรหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับระดับการแสดงความรับผิดชอบของแต่ละคน
ประเด็นสำคัญการตรวจสอบเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ ที่องค์กรที่ทำหน้าที่ต้องแสดงความพร้อมที่จะตรวจสอบ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
การตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อรัฐบาลทหาร คสช.เอง หากตรวจสอบแล้วไม่พบการทำผิดกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหา และเป็นประโยชน์ของประเทศโดยรวมหากผลการตรวจสอบพบว่าผิดกฎหมายแล้วจัดการลงโทษตามกระบวนการโดยไม่ละเว้น
การทำหน้าที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือตอบ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ที่ยื่นให้ตรวจสอบพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม บรรจุ นายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา (บุตรชาย) เป็นนายทหารปฏิบัติการกิจการพลเรือน สังกัดกองทัพภาคที่ 3 โดยมิชอบ
กรณีนี้ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา ไม่รับสอบสวน โดยระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า พฤติการณ์ของ พล.อ.ปรีชา ที่บรรจุ นายปฏิพัทธ์ เข้ารับราชการและแต่งตั้งยศเป็นว่าที่ร้อยตรี เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่กล่าวหา แต่ให้แจ้งเป็นข้อสังเกตไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าในกรณีเช่นนี้ ผู้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควรต้องพิจารณาทำคำสั่งให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ด้วย โดยหากเห็นว่าคนเป็นคู่กรณีอันต้องห้ามมิให้กระทำการพิจารณาทางปกครอง ก็ควรเสนอผู้บังคับบัญชาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งให้รับทราบและมีคำสั่งต่อไป
ไม่พบพฤติการณ์ของ พล.อ.ปรีชา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่กล่าวหา แต่ให้แจ้งเป็นข้อสังเกตไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ทำให้มีคำถามว่าไม่พบพฤติการณ์ที่เป็นความผิดแล้วแจ้งข้อสังเกตทำไม
ตามธรรมชาติการแจ้งข้อสังเกตต้องพบเห็นสิ่งไม่ปรกติก่อนจึงแจ้งข้อสังเกตได้ หากไม่พบเห็นสิ่งผิดปรกติจะเอาอะไรเป็นข้อสังเกตแจ้งไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบ
หรืออย่างกรณีของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ยังไม่ได้สอบเรื่องการใช้งบเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐ ที่ฮาวาย แต่ผู้ว่าการฯ สตง.ก็ออกมายืนยันว่าการใช้งบเดินทาง 20.9 ล้านบาทมีความเหมาะสม พร้อมชี้ว่าการเช่าเหมาลำเครื่องการบินไทยเปรียบเหมือน “กระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา” ไม่มีใครได้ประโยชน์
ทั้งสองกรณี และอีกหลายกรณี หากนำไปเปรียบเทียบกับการตรวจสอบนักการเมืองจะเห็นความแตกต่างความเหลื่อมล้ำอยู่หลายช่วงตัว
ยิ่งรีบตีตก ยิ่งรีบด่วนสรุป ยิ่งส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหาร คสช.
ยิ่งมีข้อกล่าวหากลไกตรวจสอบยิ่งต้องทำงาน คนถูกกล่าวหาก็ต้องแสดงท่าทีพร้อมรับการตรวจสอบ ไม่ใช่หนีตรวจสอบ
“ไม่ผิดจะกลัวอะไร”
You must be logged in to post a comment Login