วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สงครามความชอบธรรม!/ โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

On October 10, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

สถานการณ์บ้านเมืองยุค คสช.

ผมคิดว่าหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ค่อนข้างมีความมั่นใจว่ากลไกที่เขาออกแบบไว้จะเป็นหลักประกันในช่วงเวลาต่อไป สิ่งที่เราเห็นคือ คสช. จะอาศัยเป็นข้ออ้างเหมือนกับประชามติของประชาชนกำหนดไว้ทั้งในตัวรัฐธรรมนูญและโรดแม็พ

จากที่เมื่อก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อาจจะพูดกลับไปกลับมาว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร แต่ที่ไปสหประชาชาติประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอนในปลายปี 2560 คล้ายๆกับว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ซึ่งเขาวางหมากไว้เต็มไปหมด สามารถจะคุมเกมได้ เขาก็ต้องเดินหน้าด้วยความมั่นใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาจะทำตรงนี้คือ ทำให้ประเทศกลับไปสู่ภาวะที่ดูปรกติธรรมดา แต่เป็นความปรกติธรรมดาโดยที่พวกเขาวางกลไกเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นกลไกที่เป็นหลักประกันว่าการจัดสรรความสัมพันธ์ในอำนาจและถึงประโยชน์จะอยู่ในการควบคุมของพวกเขาต่อไป เพราะพวกเขาเป็นฝ่ายได้เปรียบ

แต่ในแง่ที่ 2 ที่เราเห็นคือ เริ่มมีการดำเนินคดีกับกลุ่มการเมืองต่างๆ คล้ายๆกับเพื่อเป็นหลักประกันคือ แม้มีการวางกลไกวางหมากไว้แล้ว แต่ในแง่ของตัวบุคคลก็เป็นไปได้ที่คนที่ไปเลือกตั้งยังมีความภักดี มีความสนิทสนมกับนักการเมืองเก่า ก็จะยังเลือก จึงจะทำยังไงให้ตัวเองได้เปรียบ ให้คนเข้ามาใหม่ได้ เขาต้องการล้างบางคนเก่ากันไปเลยแล้วเอาชุดใหม่เข้ามา ซึ่งจัดการอะไรได้ง่ายขึ้น

ผมคิดว่าเมื่อ คสช. วางไว้ว่าต้องเลือกตั้งปลายปี 2560 อย่างน้อยจะต้องมีนักการเมืองเก่ากลับเข้ามา จึงต้องมีหลักประกันว่านอกจากกลไกที่วางไว้ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบแล้ว คนที่เข้ามาใหม่แบบที่ไม่ประสีประสา จะเป็นคนที่จัดการได้ง่ายหรือเป็นเบี้ยหัวแตกอะไรก็ว่าไป เราจะเห็นว่า ส.ส. จำนวน 500 คน และ ส.ว.สรรหาอีก 250 คน หลักประกันต้องกึ่งหนึ่งคือ 375 คน ทำให้อย่างน้อยคุณต้องคุมเสียงได้ อีก 125 คนก็มาจากพรรคการเมืองเรี่ยราดหรือพรรคที่เป็นนอมินีให้กับทหาร เป็นต้น

ผมยืนยันว่าเป็นเกมที่เขาวางเอาไว้ คือการสร้างความปรกติแบบใหม่เพื่อปูทางไปสู่ประเทศที่เขาอยากจะเห็น ประเทศที่กลุ่มชนชั้นนำจารีตยังมีอำนาจในการควบคุม รวมถึงมีกลไกหรือสถาบันทางการเมืองและกฎหมายซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณส่งอำนาจให้กับประชาชนมันก็ควบคุมยาก เขาจึงต้องออกแบบกลไกที่คนจำนวนน้อยควบคุมได้ อาศัยการหว่านล้อม หรือใช้กลไกทางอุดมการณ์หรือวัฒนธรรมที่จะกล่อมเกลาให้ทุกคนต้องเชื่อในสิ่งที่ทำไป

การเมืองสมัยหน้า

การที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ทำให้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่เข้าไปหลังการเลือกตั้งปลายปี 2560 ง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถกำหนดนโยบายของตัวเองได้ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีแนวนโยบายแห่งรัฐ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งฝ่ายบริหารแทบจะทำอะไรไม่ได้ ขยับอะไรไปนิดหนึ่งก็กลัวถูกฟ้อง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทำให้ฝ่ายบริหารทำอะไรติดขัดไปหมด ที่สุดแล้วตัวที่ควบคุมรัฐที่แท้จริงคือกลไกทางกฎหมายที่เขาวางเอาไว้ มีศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มี ส.ว.สรรหาอีก 250 คนที่เป็นแขนขาให้

ประเทศในลักษณะเช่นนี้ก็คือประเทศที่คล้ายๆสถาบันหรือชนชั้นนำแบบจารีตอาศัยกลไกหรือรูปแบบประชาธิปไตยที่เขาฝังอะไรเอาไว้ในการดูแลประเทศนี้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาการที่คุณเปิดโอกาสให้ใช้รูปแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกค่อนข้างจะสั่นคลอนอำนาจและประโยชน์ของชนชั้นนำแบบจารีต ดังนั้น คุณก็ต้องเซตใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธประชาธิปไตยไม่ได้ ก็ต้องออกแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ แบบที่ชนชั้นนำรวมถึงสถาบันจารีตสามารถควบคุมได้แทบจะเบ็ดเสร็จ

ที่สำคัญมีการเขียนรัฐธรรมนูญให้แก้ไขลำบาก มันเดดล็อกมากๆ มันเป็นเงื่อนตาย แต่ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเงื่อนตายตรงนี้จะออกอาการตอนไหน เพราะต้องลองใช้ไปก่อน 2-4 ปี ถึงจะเห็นวิกฤตที่คนเริ่มรู้ว่าไม่น่าจะใช่ แต่ตอนนี้ผู้คนคล้ายๆว่ามีความเบื่อหน่าย อิดหนาระอาใจกับรูปแบบการเมืองแบบเก่าที่มีความขัดแย้งไม่จบสิ้น จึงลองแบบใหม่ดู แต่ผมคิดว่าลองแบบใหม่ภายใต้ความสงบนิ่งและเงียบแบบนี้เขาจะเห็นปัญหาที่จะตามมาเอง ผมคิดว่าเมื่อถึงเวลาหนึ่ง สิ่งที่ คสช. ได้ออกแบบเอาไว้อาจไม่สามารถทานพลังของผู้คนได้ แต่ต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม สภาพประชาชนในการดำรงอยู่กับการเมืองหลังการเลือกตั้งปลายปี 2560 ก็ต้องอยู่กับรัฐบาลที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ทำอะไรก็ทำไม่ได้ นอกจากนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐราชการที่บริหารประเทศผ่านกลไกราชการ มีกลไกองค์กรอิสระเข้ามากำกับดูแล

อีกแง่หนึ่งผมคิดว่าความขัดแย้งในเชิงการจัดสรรหรือผลประโยชน์ในระยะแรกคงทำได้ระดับหนึ่ง เพราะตอนนี้เราได้เห็นแล้วว่าข้าราชการได้รับการเกื้อกูล อุดหนุนจุนเจือ ซึ่งเป็นพลังหลัก อันที่ 2 ฐานที่เป็นในส่วนของคนยากจนก็พยายามจะเจียดหรือแบ่งส่วนบุญในเชิงงบประมาณให้ในรูปแบบต่างๆ แล้วก็มีการลากทุนใหญ่เข้ามาคล้ายๆเป็นพันธมิตรมากขึ้น เราจะเห็นตั้งแต่การตั้งบริษัทประชารัฐที่กลุ่มทุนใหญ่หลักๆเข้ามาเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักประกันที่สมประโยชน์หรือผนึกรวมกันระหว่างชนชั้นนำจารีตกับกลุ่มทุน เป็นทุนแบบใหม่ที่ผนึกกำลังกันค่อนข้างจะแน่น และพยายามหาแรงสนับสนุนในระดับล่าง ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ออกแบบเอาไว้คือ ชนชั้นจารีตบวกกับกลุ่มทุนใหญ่และทำสมประโยชน์กัน คล้ายๆกับโวหารที่ว่าเอื้อเฟื้อเจือจานกับคนข้างล่าง ประเทศไทยจะขยับเป็นแบบนี้

รัฐบาลหลังเลือกตั้งปี 2560

ผมเข้าใจว่าทหารคงไม่ยอมปล่อยให้พรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าเขาต้องพยายามอย่างสุดกำลังความสามารถที่จะทำยังไงก็ได้ให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากปีกของพวกเขา อย่างที่ผมบอกว่า ส.ส. 500 คน บวก ส.ว.250 คน และ ส.ว. มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แค่หา ส.ส. อีก 125 หรือ 126 คน ก็ได้อำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว ด้วยวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่และบัญชีรายชื่อมันผกผันกับจำนวน ส.ส. จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีจำนวน ส.ส. ลดลง และพรรคขนาดกลางจะได้มากขึ้น ที่สำคัญพรรคการเมืองขนาดกลางพวกนี้ก็พร้อมจะสวามิภักดิ์กับทหารหรือสถาบันหลักอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเกิดเขาตั้งพรรคคล้ายๆกับนอมินีเพิ่มขึ้น 1-2 พรรค ซึ่งแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น

อีกข้อหนึ่งผมคิดว่า คนเพิ่งจะอัพเซตหรือเซตอัพกับรูปแบบพรรคการเมืองแบบเก่า ผมเข้าใจว่าคนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากยินดีที่จะลองให้พรรคตัวแทนทหารเข้ามาบริหารประเทศสักครั้งหนึ่ง อย่างตอนนี้ก็เชียร์ “ลุงตู่” กันเต็มไปหมด ทั้งกลไกที่วางเอาไว้ รวมถึงการปูอารมณ์ของผู้คนในประเทศที่เป็นฐานเสียงสนับสนุน

สิ่งที่เราจะเห็นคือ จะมีรัฐบาลซึ่งเป็นปีกที่ตรงข้ามทหารง่อยเปลี้ยเสียขาทำอะไรไม่ได้ แต่แนวโน้มน่าจะเป็นปีกที่เขาควบคุมได้ ทำงานประสานเพื่อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำจารีตและกองทัพก็ว่าไป ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ คสช. มีการล็อบบี้พรรคการเมืองต่างๆไว้แล้ว ยกเว้นพรรคเพื่อไทย เพื่อจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2560 พรรคเพื่อไทยจะถูกโดดเดี่ยวเป็นพรรคฝ่ายค้าน อย่างที่ผมบอกตอนนี้เขาปูอารมณ์สังคมไว้เรียบร้อยแล้ว คนก็จะยินดีที่จะให้ทหารขึ้นมาบริหารประเทศ

“บิ๊กตู่” จะเป็นนายกฯคนนอก

มีความเป็นไปได้สูง เพราะขณะนี้เขาได้มีการปูอารมณ์และวางหมากเอาไว้ เดิมทีในช่วงเวลาหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำประเทศ แต่ตอนหลังมีการเกลี่ยหรือปรับดุลอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำให้ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ดูเป็นผู้นำที่มีศักยภาพที่จะนำประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตอนหลังๆ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้พูดว่าจะไม่เอาแล้ว พูดแบ่งรับแบ่งสู้ จนกระทั่งตอนท้ายถ้าให้ก็พร้อม

ยิ่งภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้คงปล่อยให้มาต่อรองกันไม่ได้ เขาจึงต้องเอาคนที่มีอำนาจอยู่ข้างหลังคือ พล.อ.ประยุทธ์มานั่งตรงกลางเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าปล่อยให้ฝ่ายการเมืองซัดกันเองทั้งหมดก็กังวลว่าจะคุมเกมไม่อยู่ จะเกิดความวุ่นวายโกลาหลอีก ผมคิดว่าเป็นไปได้สูงมากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ผมคิดว่าจะไม่มีกระแสที่จะต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเขาอ้างความชอบธรรมที่ขึ้นมาตามขั้นตอนปรกติตามการเลือกตั้งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ต่างประเทศ นานาชาติก็ไม่สามารถค้านอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายในซึ่งคนชั้นกลางในเมืองพร้อมจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมา เขามองตรงนี้เป็นความสำเร็จของกลุ่มปฏิกิริยาขวาหรืออนุรักษ์นิยมใหม่ที่จะนำประเทศ โดยไม่แคร์ว่าประชาธิปไตยจะเสียหายขนาดไหน

รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คงไม่สามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ ปัญหาความขัดแย้งต่างๆยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มาเพื่อจะแก้โจทย์ความขัดแย้ง สิ่งที่เขาทำคือ พยายามจะสยบฝ่ายที่เห็นต่าง ซึ่งคิดว่ายังไงก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้มาเห็นด้วยกับเขาได้ คือใครที่เห็นต่างจะถูกกำราบและใช้วิธีการที่รุนแรง ขณะที่ปีกที่หนุนพวกเขาจะได้รับการเอาอกเอาใจ

ปัญหาคนตระกูลจันทร์โอชา

อย่างที่ผมบอกว่าคนอยู่ในโมหจริต หูตามันมืดบอด ไม่พร้อมที่จะมองเห็นความผิดปรกติ ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่เขาวางตัวเอาไว้ พวกเขาพร้อมที่จะมองไม่เห็น ถ้าจะเอาจริงๆ มีสิ่งที่สามารถตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น โครงการอุทยานราชภักดิ์ ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นกับคนในตระกูลจันทร์โอชาผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดผลกระเทือนอะไรนัก สื่อพยายามจะเล่น เช่น เอารูปผ่องพรรณขึ้นหน้าปก แต่ผมคิดว่าเป็นกระแสไม่นานก็หายไป แล้วก็มีประเด็นใหม่เข้ามาภายใต้โมหจริตของคนจำนวนมากในสังคม โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง จะทำให้ความอัปลักษณ์หรือความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในกองทัพหรือ คสช. ไม่เป็นเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ต่างจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 แค่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตระบัดสัตย์ เสียสัตย์เพื่อชาติก็ยอมกันไม่ได้แล้ว นี่หนักกว่าแยะยังทนกันได้หรือมองข้ามได้ ผมคิดว่านอกจากโมหจริตแล้ว พวกนี้ไม่ได้ตระหนักเลยว่าราคาที่ต้องจ่ายไปเพื่อขจัดนักการเมืองที่ตัวเองคิดว่าฉ้อฉล เพื่อจะออกแบบกลไกกำจัดนักการเมืองโกงหรือไม่ให้เข้ามาโกงนั้นจะราคาแพงขนาดไหน พวกนี้ตกอยู่ในโวหาร วาทกรรม วาทศิลป์ หรือการโฆษณาชวนเชื่อของอีกปีกหนึ่งว่าเข้ามาเพื่อกำจัดนักการเมืองทุจริตฉ้อฉล เพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ที่นักการเมืองโกงไม่ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่เลย

ตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้ามาก็ฉ้อฉลแล้ว อำนาจและกลไกที่วางไว้ไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลจากภายนอก ยิ่งเอื้ออำนวยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันมากเข้าไปใหญ่ คุณจะไปทานอำนาจอะไรได้ จะไปตรวจสอบอะไรได้ สิ่งเหล่านี้ถูกมองข้ามไปหมดในช่วงเวลาที่คนตกอยู่ในโมหจริต อยู่ในความมืดบอดทางปัญญามากๆ ความคาดหวังที่นายกรัฐมนตรีบอกให้มีการตรวจสอบคนในตระกูลของตัวเองนั้น ผมคิดว่าปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ตอนนี้เขาเป็นฝ่ายได้เปรียบ

สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือความชอบธรรมที่เขาจะไม่ได้โดยง่าย เขาคงปิดปากไม่ได้ เพราะอำนาจที่ได้มาไม่สามารถจะอ้างความชอบธรรมได้อย่างเบ็ดเสร็จ เขาก็อยู่ไปท่ามกลางการถูกกระทุ้งกระแทกไปเรื่อยๆ แต่คงไม่มีใครล้มเขาได้ในฉับพลันทันใด ต้องอาศัยระยะเวลา ต้องมีแบบจังหวะก้าวทางการเมือง ถึงช่วงเวลาหนึ่งคนอาจจะเปลี่ยนไป อาจมีการแก้รัฐธรรมนูญ มีอะไรก็ว่ากันไป กระแทกไปเรื่อยๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี เพราะสิ่งที่เขาทำมันฝืนกับความเป็นจริงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งเคลื่อนตัวไปมากแล้ว ไม่สามารถอาศัยรูปแบบทางการเมืองที่ออกแบบตอนนี้ทำให้คนทั้งประเทศมาอยู่ร่วมกันได้

รูปแบบอย่างนี้คุณอาจจะหว่านล้อมให้ผู้คนเชื่อได้ในช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะประสบความสำเร็จในการวาดผีตัวหนึ่งขึ้นมาให้คนหวาดกลัว แล้วพร้อมที่จะจ่ายทุกบาททุกสตางค์ให้ แต่เมื่อพ้นตรงนั้นไป เมื่อคนพบว่าราคาที่จ่ายไปนั้นแพงไป และเอาเข้าจริงไม่ได้ทำอย่างที่บอกเอาไว้ เมื่อถึงเวลานั้นการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าฝ่ายเราคงต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและคงเส้นคงวา ส่วนเขายังมีกองทัพคอยสนับสนุนก็ไม่เป็นไร ผมยืนยันว่าตัวตัดสินตรงนี้คือสงครามความชอบธรรม

ที่เขายังสามารถอยู่ได้เพราะยังมีความชอบธรรม ที่อ้างเหตุผลต่างๆในการเข้ามาและอยู่ในอำนาจต่อเพราะยังมีเสียงสนับสนุน กลุ่มคนที่มีปากมีเสียงทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง จึงอยู่ได้ ลำพังแต่ปืนอย่างเดียวอยู่ไม่ได้หรอก ต้องอาศัยการสร้างความชอบธรรม เขามีวิธีการหว่านล้อมให้คนเชื่อและบังเอิญได้ผล เราจะทำอย่างไรให้มายาคติอันนี้ คือมนต์มายาตรงนี้มันเสื่อมคลาย ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่คงไม่ใช่ในตอนนี้หรือในอนาคตอันใกล้ ต้องผ่านด่านการเลือกตั้งไปก่อน

มองพรรคเพื่อไทย-ยิ่งลักษณ์

ผมคิดว่าบอบช้ำ ไม่แน่ใจว่าจะปิดฝาโลงวันไหน เพราะเขาจะตามล้างบางไปเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ออกมาไม่มีแรงปฏิกิริยาโต้ตอบจากคนที่เป็นมวลชนหรือกลุ่มต่างๆเลย พรรคเพื่อไทยจะถูกโดดเดี่ยวไปเรื่อยๆ และถูกจัดการตามกระบวนการทางกฎหมาย หลงคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์ถูกจัดการแล้วจะมีคนเสื้อแดงลุกขึ้นมาปกป้อง แต่ปรากฏว่าเงียบสนิท นิ่งมาก ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ติดคุกก็คงติดจริงๆ แต่คงต่อสู้คดีกันยาว ตอนนี้คุณยิ่งลักษณ์โดนไป 15 คดีแล้ว บางทีก็น่าเศร้าที่สังคมนี้ปล่อยให้ความเลวร้าย ความอยุติธรรมเกิดขึ้นโดยทุกคนไม่ยี่หระ

อย่าลืมว่ากระบวนการเสื้อแดงไม่มากก็น้อยเกิดขึ้นจากการออร์แกไนซ์ของพรรคเพื่อไทย มาถึงตอนนี้คุณไม่ทำอะไรเลย กลไก โครงสร้างอะไรที่วางไว้ก็พังไปหมด คนเสื้อแดงไม่มีความเป็นเอกภาพ กระจัดกระจาย ไม่รู้จะทำยังไง แกนนำจะเอาอย่างไรก็ไม่รู้เลย มีแต่ความเจ็บแค้นขมขื่น ไม่รู้จะรอวันปะทุวันไหน หรือจะปะทุยังไง หรือจะเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร ไม่มีเลย เรียกว่าอับจนและสิ้นหวังมาก


You must be logged in to post a comment Login