- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
เส้นทางสายไหมทางทะเล / โดย ณ สันมหาพล
คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล
จีนกำลังสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเล” อย่างจริงจัง เหมือนในอดีตที่เคยมีเส้นทางสายไหมบนบก เพื่อยึดเส้นทางการเดินเรือทะเลทั่วโลก โดยเช่าหรือซื้อเพื่อสร้างท่าเรือใหม่ในทุกประเทศที่มีโอกาส รวมทั้งสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆรองรับ องค์กรที่ดำเนินการคือ Shanghai International Port Group หรือกลุ่มท่าเรือนานาชาติเซี่ยงไฮ้ มีสำนักงานอยู่บนตึกระฟ้าในเขตธุรกิจการเงินผู่ตง โดยหยาน จุน นักธุรกิจวัย 56 ปีที่คล่องแคล่วทั้งด้านภาษาและการสมาคมเป็นผู้บริหารสูงสุด
หยาน จุน ดูแลท่าเรือที่ขนถ่ายสินค้าเข้าออกจีนมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าปีละกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 70 ล้านล้านบาท ล่าสุดเพิ่งสิ้นสุดการตระเวนดูท่าเรือทั่วโลกนานหลายสัปดาห์เพื่อวางแผนเส้นทางสายไหมตั้งแต่กรุงจาการ์ตาไปจนถึงนครรัฐจิบูตีในแอฟริกา และตั้งแต่ปากีสถานไปจนถึงปานามา
การสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลมาจากการประกาศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กรุงจาการ์ตาเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่าจีนจะสร้างเส้นทางคมนาคมที่ยิ่งใหญ่ทางทะเลเหมือนเส้นทางสายไหมในอดีต ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าในการสร้างเส้นทางคมนาคมทางทะเลของจีน
นักสังเกตการณ์ต่างตะลึงกับการที่จีนเลือกประกาศที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายหลายด้าน สะท้อนถึงความสำคัญของเส้นทางคมนาคมทางทะเลว่ามีมากแค่ไหน ซึ่งอินโดนีเซียกำลังจะจัดประชุมผู้นำโลกที่บาหลี แม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมเพราะกำลังเผชิญปัญหาด้านงบประมาณในประเทศ
เส้นทางสายไหมทางทะเลแตกต่างจากเส้นทางสายไหมบนบก 3 ประเด็นคือ หนึ่ง ประเทศที่อยู่ในเส้นทางทางทะเลมีมากกว่าเส้นทางบนบก ทั้งยังมีตลาดที่ใหญ่กว่ามาก ขณะนี้จีนใช้ปานามาเป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งบริษัทจีนแห่งหนึ่งเพิ่งซื้อท่าเรือใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และกำลังจะเปิดพื้นที่การเดินทางมาที่ออสเตรเลีย โดยปีที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้เช่าท่าเรือนครดาร์วินนาน 99 ปี
สอง จีนได้พัฒนาโครงการต่างๆรองรับเส้นทางสายไหมทางทะเลแล้วหลายสิบแห่ง ทั้งการเช่า ซื้อ และสร้าง ซึ่งใช้เงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ตัวอย่างเช่นนิคมอุตสาหกรรมในมาเลเซียและท่าขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ในเบลเยียม โดยในเบลเยียมดำเนินการโดยกลุ่มท่าเรือนานาชาติเซี่ยงไฮ้ที่เข้าไปซื้อกิจการ เพราะท่าเรือน้ำลึก Yangshan Deep Water Port ในเซี่ยงไฮ้ เป็นท่าขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ละปีมีตู้คอนเทนเนอร์ถูกขนถ่ายมากกว่า 36 ล้านตู้ มากกว่าท่าเรือฮัมบูร์กในเยอรมนีถึง 4 เท่า
สาม การฟื้นฟูเส้นทางสายไหมบนบกที่ตัดผ่านประเทศเอเชียกลางไปทะลุยุโรปตะวันออกอาจสร้างความวิตกให้รัสเซียและประเทศยุโรป แต่การสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลก็ทำให้อินเดียและสหรัฐอเมริกาวิตกถึงอิทธิพลของจีนเช่นกัน โดยเฉพาะอินเดียที่มีปัญหากับจีนมายาวนานและกำลังยกฐานะตัวเองเป็นมหาอำนาจโลกเช่นเดียวกับจีน ส่วนสหรัฐก็ต้องระมัดระวังไม่ให้จีนมีอิทธิพลทางทะเลจนเป็นปัญหาความมั่นคงกับสหรัฐและโลกแน่นอน
โดยเฉพาะบริเวณทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกที่จีนพยายามเข้าไปก่อสร้างและทำอะไรต่างๆในพื้นที่ เช่นเดียวกับเส้นทางสายไหมทางทะเลตั้งแต่กรุงโคลัมโบ ซึ่งจีนให้ความสนใจศรีลังกามาตั้งแต่ยังมีสงครามกลางเมือง เพราะศรีลังกาเป็นเส้นทางสำคัญในมหาสมุทรอินเดียที่สามารถคานอิทธิพลของอินเดียได้เป็นอย่างดี
ขณะนี้บริษัทวิศวกรรม China Harbour Engineering Company ของจีนกำลังก่อสร้างนครที่ท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งจะเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่หรูหราริมมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากนี้ยังมีที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ ประเทศเล็กๆที่มีพลเมืองเพียง 130,000 คน บนเนื้อที่ 6 ตารางกิโลเมตร ขณะนี้กลุ่มทุนจากจีนได้เข้าไปลงทุนและเปลี่ยนภูมิทัศน์จากที่ล้าหลังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัย
การพัฒนาทั้ง 2 แห่งเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนถึงการเอาจริงเอาจังกับเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน ทั้งการสร้างท่าเรือและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเล แล้วยังมีการพัฒนาเมืองและนครตามเส้นทาง โดยมีบริษัททั้งของรัฐและเอกชนเข้าไปดำเนินการ
เส้นทางสายไหมทางทะเลจึงทำให้มหาอำนาจทั่วโลกต่างจับตามองอย่างใกล้ชิด
You must be logged in to post a comment Login