วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘Collapse’การทำลายตัวเอง อรรถาธิบาย‘Arnold Toynbee’/ โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On October 10, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ผมได้ยินศัพท์คำว่า “collapse” ครั้งแรกแต่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันนับตั้งแต่มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติงานข่าวกรองทางการทหารในสงครามอินโดจีน แต่นั่นก็ทำให้ผมได้สัมผัสกับปัญหาของประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ในวงการมักเชื่อว่า ระหว่างช่วงปี 2515-2519 ประเทศเหล่านี้ล้มตามกันเป็นลักษณะโดมิโน่จนกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ไปหมด

ในการคลุกคลีกับสถานการณ์สงคราม ในด้านหนึ่งก็กลายเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ช่วยผู้สื่อข่าว รวมทั้งถูกว่าจ้างเป็นล่าม จนกระทั่งวันหนึ่งรุ่นพี่ที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ ไพจง ไหลสกุล ซึ่งคลุกคลีอยู่กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศมากมาย เล่าให้ฟังว่า เธอมีโอกาสได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ชาวอเมริกันผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขาบอกเธอว่า ประเทศต่างๆที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจะต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน เช่น ประเทศเวียดนาม เงื่อนไขที่ชัดเจนคือ การรุกรานอย่างเป็นรูปธรรมของมหาอำนาจตะวันตกทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เงื่อนไขตรงนี้จึงทำให้ผู้คนเห็นด้วยและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

หรือประเทศจีน เงื่อนไขที่ชัดเจนคือ ความยากลำบากของประชาชนที่เกิดจากระบอบการปกครองในสภาพกึ่งเมืองขึ้นและกึ่งศักดินา

แต่สำหรับประเทศไทยในเวลานั้น ศาสตราจารย์ท่านดังกล่าวให้ความเห็นว่า ไม่มีเงื่อนไขอะไรชัดเจนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้นอกจากเพียงเงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือคำว่า “collapse”

ผมรับฟังแต่ก็ไม่เข้าใจความหมายลึกซึ้ง จนกระทั่งได้มีโอกาสมาศึกษางานของ Arnold Toynbee ที่อธิบายคำว่า collapse ว่าคือ “การล้มลงของอารยธรรมหรือลัทธิความเชื่อ ซึ่งเป็นการกัดกร่อนตัวเอง” โดยมากแล้วมักจะเข้าใจกันว่าการ collapse เกิดจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม

นอกจากนั้นการ collapse ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหายนภัยทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด หรือกระทั่งดาวพระเคราะห์น้อยโคจรมาชนโลก ทั้งนี้ รูปแบบของการ collapse เขาแบ่งออกมาเป็น 3 ลักษณะคือ

1.การ collapse ย้อนไปสู่ลักษณะเดิม หรืออาจบอกว่าเป็นการย้อนกลับก็ได้ ยกตัวอย่างการล่มสลายของอารยธรรมโรมัน หรือการล่มลงของอารยธรรมมายาในทวีปอเมริกาใต้ รวมทั้งการล่มสลายของจักรวรรดิคุปตะในอดีตของอินเดีย นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างล่าสุดซึ่งความจริง Arnold Toynbee ได้พูดถึงมานานแล้วคือ การล่มสลายของนครวัด-นครธมในเขมร ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้คณะนักสำรวจชาวออสเตรเลียได้ใช้อุปกรณ์ทันสมัยทางวิทยาศาสตร์ยิงแสงเลเซอร์จากอากาศผ่านลงไปในพื้นดินพบนครที่ชื่อ “มเหนทรบรรพต” ที่อยู่ใต้ภูเขาพนมกุเลน ใกล้นครวัดในเขตเขมร ซึ่งเป็นการสั่นไหวทฤษฎีประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ บางคนตีความว่านครดังกล่าวล่มสลายลงเพราะความขัดแย้งของผู้ปกครองหลายราชวงศ์ และคาดหมายว่าคนเขมรส่วนหนึ่งได้อพยพมาที่ลพบุรีและอยุธยา ซึ่งทฤษฎีนี้จะเป็นจริงแค่ไหนก็ต้องมีการค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม

2.การ collapse แบบผสมกลมกลืน หมายความว่ามีอารยธรรมต่างชาติเข้าไปกลืนอารยธรรมพื้นถิ่น จึงทำให้อารยธรรมพื้นถิ่นถูกทำลายไป เขายกตัวอย่างกรณีของอียิปต์ หรือช่วงที่มหาอำนาจตะวันตกล่าเมืองขึ้น กรณีของตะวันออกกลางหลายประเทศ จีนหรือญี่ปุ่นก็เป็นการ collapse ในเงื่อนไขนี้ด้วยเช่นกัน

3.การ collapse ในลักษณะการโต้ตอบกัน ก่อให้เกิดการวิบัติวอดวายทุกๆฝ่าย ส่วนมากแล้วจะเกิดจากระบอบการปกครองที่มีเงื่อนไขของเรื่องชาติพันธุ์หรือเงื่อนไขอื่นๆที่โดดเด่น โดยเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นมาจากผู้ปกครองระดับบนที่กระทำต่อประชาชนชั้นล่าง อาจจะด้วยความเข้าใจว่าตัวเองนั้นดีกว่าและถูกต้องกว่า ซึ่งผลที่สุดแล้วฐานข้างล่างก็จะเอาใจออกห่างจนถึงกับโต้ตอบด้วยความรุนแรงและนำมาสู่การโค่นล้ม

การ collapse ลักษณะสุดท้ายนี้น่ากลัวมาก เป็นการ break down ที่ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของ cycle life ซึ่งควรจะเริ่มต้นที่ genesis หรือลักษณะอันเดียวกับ disintegration ซึ่งหมายความว่าการเสื่อมสลายของวัฒนธรรมกับการกำเนิดขึ้นมาใหม่คือสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนไป จากนั้นก็ถึงวงจรของวิกฤตและการแก้ไขปัญหาจนเข้าสู่สถานการณ์ทั่วไป และลงท้ายคือการ collapse ทำลายตัวเอง

เขียนบทความชิ้นนี้ก็เพื่อต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ทุกรูปแบบของการทำลายตัวเองนั้นเกี่ยวข้องกับความเชื่อของกระแสที่เป็นอคติฝ่ายหนึ่งที่คิดว่าตัวเองมีเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จนลงท้ายแล้วก็ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านลงเอยด้วยการทำลายตัวเอง นี่คือข้อสรุปจากการอธิบายของ Arnold Toynbee


You must be logged in to post a comment Login