- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ปกป้องพุทธศาสนา(?) / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
ปัญหาว่า “ศาสนาคืออะไร?” ถกเถียงกันมานาน นักคิดตะวันตกมองว่า “religion” หมายถึง “การผูกพันกับพระเจ้า” ด้วยศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าและด้วยพันธะระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ การนับถือศาสนาจึงหมายถึงการมีศรัทธาต่อพระเจ้า และยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎศีลธรรมของพระเจ้าในฐานะเป็นพันธะหรือข้อผูกพัน (obligation) ที่ต้องปฏิบัติตาม
ภายใต้ข้อผูกพันดังกล่าวถ้าปฏิบัติตามก็จะได้รับรางวัลตอบแทนจากพระเจ้าคือความสุขในสวรรค์ชั่วนิรันดร์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้รับบทลงโทษคือไฟนรกชั่วนิรันดร์เป็นสิ่งตอบแทน
แต่พุทธศาสนาไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า และไม่มีพันธะที่จะปฏิบัติตามคำสอนหรือกฎของพระเจ้าในความหมายดังกล่าว นักคิดตะวันตกจึงมองว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ religion แต่เป็น “ปรัชญาชีวิต” (philosophy of life) ประเภทหนึ่ง
ส่วนนักคิดตะวันออกมองว่าศาสนามีความหมายซับซ้อนกว่า religion เพราะศาสนาหมายถึง “คำสอน” ของพระศาสดาต่างๆก็ได้ ลักษณะของ “ความเป็นศาสนา” คือการมีศรัทธาในคุณค่าของคำสอน ความเชื่อ หรือแนวปฏิบัติบางอย่างที่เชื่อว่าปฏิบัติตามแล้วจะทำให้บรรลุความหลุดพ้นได้ ความเชื่อดังกล่าวนี้จะเกี่ยวกับพระเจ้าหรือไม่ก็ได้ ดังศาสนาในอินเดียที่มีคำสอนเรื่อง “ความหลุดพ้น” ก็มีทั้งที่เชื่อในพระเจ้าและปฏิเสธพระเจ้า
ความหมายของศาสนาที่ขยายความเกินไปจาก “religion” เช่นนี้ ทำให้กินความกว้าง ไม่มีขอบเขตที่แน่ชัด บางทีก็พูดอย่าง “เหมารวม” ว่าความเชื่อใดๆที่คนยึดถือกันอยู่ก็คือ “ศาสนา” ทั้งนั้น เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ การยึดติดบริโภคนิยม การเชื่อถือในประสิทธิภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ก็คือ “ศาสนาใหม่” ของโลกปัจจุบัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดรวมๆศาสนามักมีลักษณะเป็น “พันธนาการ” ในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ สังคมอินเดียที่เป็นสังคมศาสนามายาวนานได้สร้างวัฒนธรรมพื้นฐานที่ “ย้อนแย้ง” (paradox) คือ “วัฒนธรรมที่ยึดติดในประเพณีความเชื่อทางศาสนา” และ “วัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์เพื่ออิสรภาพจากประเพณีความเชื่อทางศาสนา” ภายใต้วัฒนธรรมที่ย้อนแย้งเช่นนี้ได้ให้กำเนิด “คุรุทางจิตวิญญาณ” คนแล้วคนเล่านับแต่อดีตยาวไกลจวบจนปัจจุบัน
คุรุทางจิตวิญญาณชาวอินเดียร่วมสมัยที่เรารู้จักกันดีคือ “กฤษณมูรติ” (พ.ศ. 2438-2529) ผู้ซึ่งมีมุมมองเกี่ยวกับอิสรภาพด้านในคล้ายกับพุทธะมาก เขาถึงกับเสนอว่าอิสรภาพจะเกิดขึ้นได้จริงต้อง “โยนศาสนาและจารีตประเพณีทิ้งไปเลย” เพราะศาสนาและจารีตประเพณีคือ “พันธนาการ” ที่ลึกซึ้งที่สุดที่ทำให้คนเราไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือไม่ “คิดเอง” เพื่อจะสร้างทางเลือกให้กับตัวเองได้อย่างแท้จริง
จะว่าไปสิทธัตถะก็เดินตามความเชื่อทางศาสนาและลัทธิต่างๆเป็นเวลานาน เมื่อหลุดจากพันธนาการศาสนาได้จึงเกิดปัญญารู้แจ้ง “ความจริง” และจึงนำความจริงนั้นมาสนทนากับคนอื่นๆ
ครั้งแรกเลยที่นำเสนอความจริงนั้นก็เริ่มด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ “ลัทธิศาสนาที่สุดโต่ง” ว่าไม่ใช่ทางสู่อิสรภาพ แต่ทางสู่อิสรภาพคือการรู้แจ้งความจริง (อริยสัจ) และพุทธะก็ไม่เคยเรียกความจริงที่ท่านรู้แจ้งว่า “ศาสนา” แต่อย่างใด
ยุคแรกๆเมื่อมีคนเข้ามาเป็นสาวกโดยสมัครใจเดินตามวิถีแห่งพุทธะ คือวิถีเรียนรู้ฝึกฝนตนเองเพื่อรู้แจ้งความจริงที่ทำให้มีอิสรภาพทางจิตวิญญาณ พุทธะไม่ได้บัญญัติ “วินัยสงฆ์” หรือกฎเกณฑ์พิธีกรรมใดๆเลย เพราะการใช้ชีวิตที่มุ่งสู่การรู้แจ้งความจริงเพื่ออิสรภาพทางจิตวิญญาณไม่ต้องการกฎเกณฑ์และพิธีรีตองหยุมหยิมใดๆเลย แม้แต่การรับคนเข้ามาเป็นสาวก พุทธะเพียงแต่กล่าวสั้นๆว่า “ท่านจงมาเป็นภิกษุและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์เถิด” แค่นี้คนนั้นก็กลายเป็นภิกษุสาวกแล้ว ไม่มีพิธีกรรมการบวชที่ศักดิ์สิทธิ์ยืดยาวเหมือนปัจจุบันนี้
แต่ “ความเป็นศาสนา” เริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีคนเข้ามาเป็นสาวกจำนวนมากขึ้นๆ และเขาเหล่านั้นไม่ได้มุ่งรู้แจ้งความจริงแบบพุทธะ แต่ใช้สถานภาพนักบวชหลอกลวงหากินกับศรัทธาประชาชน จึงเป็นเหตุให้พุทธะบัญญัติวินัยสงฆ์มากขึ้นเรื่อยๆตาม “กรณีความประพฤตินอกทาง” ที่มีมากขึ้น ฉะนั้นวินัยพระภิกษุ 227 ข้อ ภิกษุณี 311 ข้อ แทบทั้งหมดเกิดจากความประพฤตินอกทางของพุทธะทั้งนั้น
ต่อมาวินัยบัญญัติเหล่านี้เองที่มี “ความเป็นศาสนา” ที่ดูเหมือนจะศักดิ์สิทธิ์เหนือ “ความจริง” ที่พุทธะสอน เพราะพระสงฆ์ในยุคต่อๆมาถึงปัจจุบันจำเป็นต้องประกอบพิธีกรรมการบวชให้ถูกต้องตามวินัยบัญญัติ แต่ไม่จำเป็นว่าบวชมาแล้วจะปฏิบัติธรรมเพื่อรู้แจ้งความจริงที่พุทธะสอนหรือไม่
ฉะนั้นถ้าถือตามวิถีแบบพุทธะในยุคแรกๆ นอกจากศาสนาไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อการเข้าถึงความจริงแล้ว ยังจำเป็นต้องหลุดพ้นจากพันธนาการศาสนาก่อนจึงจะสามารถรู้แจ้งความจริง แต่ปัจจุบันเราถูกพันธนาการโดยศาสนาอันเป็น “กฎและพิธีกรรมที่เกิดจากความประพฤตินอกทางแห่งพุทธะ” จนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความจริงที่พุทธะสอน
การปกป้อง “พุทธศาสนา” ที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันก็คือ การปกป้องพุทธศาสนาในความหมายที่เป็น “พันธนาการ” มากกว่าจะเป็นการปกป้อง “ความจริง” ที่พุทธะสอน
ถ้าเป็นการปกป้องความจริงที่พุทธะสอนก็ต้องเคารพ “ความใจกว้าง” ของพุทธะด้วย เพราะพุทธะถือว่าการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาเป็นเรื่องปรกติ ท่านเองก็วิจารณ์ความเชื่อของศาสนาอื่นๆว่าสุดโต่งบ้าง งมงาย เป็นมิจฉาทิฐิบ้าง ฯลฯ ดังที่เห็นคำวิจารณ์เช่นนี้มากมายในไตรปิฎก
ขณะเดียวกันเมื่อมีคนวิจารณ์หรือกระทั่งด่าพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ ท่านก็แนะนำให้ชาวพุทธมีสติ ไม่โกรธ ถ้าจำเป็นก็ชี้แจงเหตุผลให้เขาทราบ ถ้าเขาเชื่อก็อนุโทนา ถ้าไม่เชื่อเขาจะวิจารณ์หรือด่าต่อไปก็เป็นเรื่องของเขา เพราะคำวิจารณ์หรือคำด่าไม่สามารถทำลายความจริงที่พุทธะสอนได้
You must be logged in to post a comment Login