- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ประจักษ์ ก้องกีรติ : ทำไมระบอบเผด็จการจึงประสบความสำเร็จในสังคมไทย
http://themomentum.co/ ได้เผยแพร่งานวิจับของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เรื่อง “ ทำไมระบอบเผด็จการจึงประสบความสำเร็จในสังคมไทย”
ถ้าประชาธิปไตยคือจุดหมายปลายทางที่สำคัญของประเทศ แทนที่จะตีอกชกหัวพร่ำโทษว่าทำไมประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย เราอยากชวนคุณมากลับมุมคิดกับงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ ผศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้เวลานานกว่า 6 เดือน เก็บตัวอย่างศึกษาระบอบเผด็จการอย่างจริงจังที่ประเทศสิงคโปร์ จนสุดท้ายกลายมาเป็นผลงานวิจัยที่ใช้ชื่อว่า ‘A Tales of Three Authoritarianism’ หรือ ‘เรื่องเล่าจากระบอบเผด็จการ 3 ยุค’
แม้ว่าผลวิจัยนี้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการศึกษาครั้งนี้ น่าจะทำให้เราเห็นภาพของระบอบการปกครองเผด็จการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทำไมเราต้องเข้าใจเผด็จการ?
“ประโยคที่เราชอบพูดกันซ้ำๆ ว่าประชาธิปไตยไทยอายุ 80 กว่าปีแต่ก็ยังล้มเหลว จริงๆ ประโยคนี้ผิดตั้งแต่ต้น เพราะสังคมไทยไม่ได้แต่งงานกับประชาธิปไตย แล้วใช้ชีวิตคู่อย่างราบรื่นมาโดยตลอด มันมีการหย่าร้างกันหลายช่วง”
ประจักษ์เริ่มต้นตอบคำถามของเราด้วยการอ้างถึงความเข้าใจแบบผิดๆ ที่เราถูกพร่ำสอนมานาน ก่อนจะเสริมว่า
“หลังจากศึกษาเรื่องประชาธิปไตยมานาน พอทำไปถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้สึกถึงทางตันกับการตอบคำถามว่า ‘ทำไมประชาธิปไตยไทยถึงล้มเหลว’ ซึ่งนักวิชาการหลายคนสรุปแทบไม่ต่างกัน เช่น วัฒนธรรมไทยไม่เอื้อ สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ไม่ได้เชื่อเรื่องความเท่าเทียมกัน บางคนใช้คำว่าเนื้อดินมันไม่เอื้อ วัฒนธรรมเราเป็นแบบหนึ่ง ประชาธิปไตยเป็นของนอก เอามาปลูกเลยไม่โต หรือคนมักจะบอกว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจมันเยอะเกินไป ยากที่ประชาธิปไตยจะเติบโตในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยสูงหรือบางคนก็อธิบายว่าไทยมีความพิเศษบางอย่าง ทำให้จำเป็นต้องมีระบอบการปกครองเฉพาะของตัวเอง
“พอคำตอบที่ได้มันเริ่มวนและไปไหนต่อไม่ได้ เลยอยากหาโจทย์วิจัยใหม่ๆ ดังนั้นผมเลยอยากมองไปที่อีกด้านของเหรียญ แทนที่จะมองว่าทำไม 84 ปีมานี้ประชาธิปไตยล้มเหลว ก็มองว่าทำไมระบอบเผด็จการถึงประสบความสำเร็จ โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบทั้ง 3 ยุค คือ ยุคสฤษดิ์-ถนอม ยุคสุจินดา และยุคปัจจุบัน”
“คนมักจะเข้าใจผิดว่าระบอบเผด็จการคือความสงบ มั่นคง มีแบบแผน คาดเดาได้แต่จริงๆ แล้วหัวใจของระบอบเผด็จการคือการคาดเดาไม่ได้”
รัฐธรรมนูญ = เครื่องมือสร้างการยอมรับของระบอบเผด็จการ
สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ได้ค้นพบจากการทำงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ ระบอบเผด็จการไทยมักจะยึดโยงตัวเองเข้ากับรัฐธรรมนูญในทุกยุคทุกสมัย นั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เพราะหลังจากรัฐประหารเสร็จสิ้น สิ่งแรกที่รัฐบาลเผด็จการต้องทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทิ้ง และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่
“มีบางคนล้อว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง เพราะมีคนที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการรับจ้างร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนเขียนหนังสือไตรภาค”
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะรัฐธรรมนูญคือเครื่องมือที่ระบอบเผด็จการมักจะนำมาใช้เพื่อสร้างการยอมรับต่อนานาประเทศ
“สังคมไทยไม่เคยเป็นสังคมปิดแบบพม่า เผด็จการไทยจึงเป็นระบอบเผด็จการที่พยายามมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกตลอดเวลา เพราะถ้าปิดประเทศแบบพม่าก็จะเจ๊งกันหมด ชนชั้นนำก็เจ๊ง คนทำรัฐประหารก็เจ๊งด้วย เพราะเราไม่สามารถกลับไปอยู่แบบทำไร่ทำนา โดยไม่ต้องค้าขายกับโลกภายนอกได้ พอคุณพยายามจะสร้างความชอบธรรมกับต่างประเทศ คุณก็ต้องแสดงให้เห็นว่าระบอบเผด็จการของคุณไม่ใช่ระบอบป่าเถื่อนโหดร้าย หรือใช้แต่อำนาจดิบ แต่ยังปกครองโดยยึดหลักกฎหมายด้วย”
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังจะช่วยให้ระบอบเผด็จการสามารถปกครองได้ยาวๆ แบบไม่ต้องเจอแรงกดดันมากนัก เมื่อมีรัฐธรรมนูญก็เท่ากับระบอบนั้นกำลังมีข้ออ้างชั้นดีต่อประชาชนของตัวเองและโลกภายนอก
“คนมักจะเข้าใจผิดว่าระบอบเผด็จการคือความสงบ มั่นคง มีแบบแผน คาดเดาได้ แต่จริงๆ แล้วหัวใจของระบอบเผด็จการคือการคาดเดาไม่ได้ สมมติคุณอยากจะปลดผู้ว่าฯ คนนี้ก็ปลด อันนี้แหละคือธรรมชาติของระบอบเผด็จการ
“แต่ไม่มีใครชอบเจ้านายที่หุนหันพลันแล่นและคาดเดาไม่ได้ เพราะลูกน้องทุกคนจะกลัวและไม่แน่ใจว่าจะโดนปลดเมื่อไร ฉะนั้นระบอบเผด็จการที่อยากจะอยู่ยาวหน่อย และได้รับการยอมรับจากคนใต้ปกครองก็ต้องพยายามสร้างหลัก หรือกฎระเบียบบางอย่างขึ้นมา
“แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกฎระเบียบที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหมือนรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มันก็จะเป็นรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ อย่างจีน หรือรัสเซียก็มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเหล่านี้จะให้อำนาจแก่ผู้นำเยอะ ไม่ได้ให้เสรีภาพกับสื่อหรือประชาชนมากนัก แต่มันก็ยังสำคัญ เพราะอย่างน้อยก็ใช้อ้างกับประชาชนและโลกภายนอกได้”
เทียบอดีตที่วุ่นวายกับปัจจุบันที่มั่นคง… อาวุธลับของ ‘เผด็จการแบบนวด’
ประจักษ์ตั้งข้อสังเกตว่าหนึ่งในอาวุธลับที่ระบอบเผด็จการยุคปัจจุบันหยิบมาใช้บ่อยๆ และมักจะได้ผลทุกครั้งไปก็คือการเปรียบเทียบภาพความวุ่นวายในอดีตกับปัจจุบัน เพื่อค่อยๆ โน้มน้าวให้คนฟังรู้สึกคล้อยตามไปเรื่อยๆ
“ผมว่าระบอบนี้น่าสนใจ เพราะวิธีหนึ่งที่เขาใช้มาตลอดคือ เขาจะไม่พูดถึงสิ่งที่เขาทำเฉยๆ โดยไม่อ้างอิงกับอดีต เช่น จะกลับไปตีกันเหมือนเดิมไหมล่ะ คุณชอบเหรอ แล้วตอนนี้เสียหายตรงไหน บ้านเมืองสงบ เพื่อให้เห็นว่าปัจจุบันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่มันก็ดีกว่าอดีตใช่ไหม
“ซึ่งตามทฤษฎีอธิบายว่ามีระบอบเผด็จการบางประเภทที่มักจะอ้างอิงความชอบธรรมของตัวเองจากการเปรียบเทียบกับอดีต คือรู้แหละว่าตัวเองบริหารงานไม่เก่งมาก เศรษฐกิจอาจจะไม่ดีมาก ฉะนั้นวิธีที่จะสร้างความชอบธรรมอย่างได้ผลที่สุดก็คือ การบอกว่าอย่างน้อยข้าพเจ้าก็ดีกว่าระบอบที่เพิ่งล้มลงไป ผมเรียกว่าเป็น ‘เผด็จการแบบนวด’ เขาจะค่อยๆ นวดความคิดคุณไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่คุณรู้สึกว่าต้องทำตามที่เขาบอกนั่นแหละ เพราะเป็นทางเลือกที่เสียหายน้อยที่สุดแล้ว”
“ผมคิดว่าสังคมที่ดีไม่ควรจะมีแค่ความสงบเป็นเป้าหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าสมมติว่าความสงบคือเป้าหมายประการเดียวที่สำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกัน แบบนั้นเกาหลีเหนือคงเป็นสังคมที่น่าอยู่ที่สุดในโลก”
ความสงบที่แลกมาด้วยต้นทุนที่สูงลิ่ว
เมื่อผ่านเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนชินชา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะโหยหาความสงบในสังคม ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญของระบอบเผด็จการในปัจจุบัน
แต่ถึงอย่างนั้นความสงบที่ผู้คนต้องการก็อาจจะมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงลิ่ว ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะแลกหรือเปล่า
“ถามว่าอะไรคือสังคมที่ดี ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเมืองก็ได้ ผมคิดว่าสังคมที่ดีไม่ควรจะมีแค่ความสงบเป็นเป้าหมายปลายทางเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าสมมติว่าความสงบคือเป้าหมายประการเดียวที่สำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกัน แบบนั้นเกาหลีเหนือคงเป็นสังคมที่น่าอยู่ที่สุดในโลก เพราะไม่ต้องมีความขัดแย้งใดๆ ไม่ต้องมีสื่อมาคอยวุ่นวาย ไม่มีการประท้วง ไม่มีคนออกมาโหวกเหวกโวยวาย แต่ทำไมเวลานึกถึงเกาหลีเหนือแล้ว ถึงไม่มีใครอยากไปอยู่ล่ะ
“ก็หมายความว่ามันต้องมีอะไรมากกว่าความสงบใช่ไหม ที่คุณก็รู้ว่าคุณต้องการเพื่อที่จะมีชีวิตในสังคมที่ดี ทั้งการศึกษาที่ดี เสรีภาพในการแสดงออกได้ ไม่ใช่แค่ทางการเมืองอย่างเดียว แต่รวมถึงการแสดงความคิดเห็น อัตลักษณ์ของคุณที่จะได้รับความเคารพ สิทธิเสรีภาพของสื่อ หรือสิทธิมนุษยชน คุณอยากอยู่ในสังคมที่อยู่ดีๆ ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐมาเคาะประตูบ้านแล้วลักพาตัวสามีคุณไปเลยไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในระบอบเผด็จการทั่วโลก ทั้งจีน รัสเซีย อิหร่าน หรือแม้กระทั่งเวียดนาม”
อำนาจเด็ดขาดของระบอบเผด็จการอาจเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ เพราะมันมาพร้อมกับความฉับไวในการแก้ปัญหา ความสงบเรียบร้อยในสังคม แต่ประจักษ์มองว่าสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะปัญหาต่างๆ ถูกซุกไว้ใต้พรมจนเราเผลอเข้าใจไปว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี
“ปัญหาของอำนาจเด็ดขาดก็คือ อำนาจแบบนี้ไม่ได้แก้ไขปัญหาระยะยาว หรือไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง คือถ้าสังคมไทยป่วยเป็นโรค มันมีสาเหตุพื้นฐานหลายอย่างที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ แต่อำนาจเด็ดขาดเหมือนฝิ่น คือจะมีฤทธิ์แรงมาก ช่วยระงับความเจ็บปวด พอใช้ปุ๊บก็ฟินเลย แต่วันหนึ่งที่คุณตื่นขึ้นมาแล้ว คุณก็จะรู้ว่ามูลเหตุพื้นฐานทั้งหลายทางเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา หรือระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพมันยังไม่ได้รับการแก้ไข ตอนนี้เราก็แค่สะใจที่ได้ลุ้นว่าวันนี้เขาจะปลดคนไหน แต่มันแก้ไขปัญหาจริงๆ หรือเปล่าล่ะ”
สิงคโปร์โมเดล’ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเผด็จการของคนไทย
เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับระบอบเผด็จการ ตัวอย่างที่คนไทยมักจะหยิบยกมาพูดถึงคือประเทศสิงคโปร์ ที่มีภาพลักษณ์เป็นเผด็จการที่อาจจะมีเสรีภาพไม่มากเท่าประเทศประชาธิปไตย แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับแซงหน้าประเทศเพื่อนบ้าน จนหลายคนขนานนามว่าเป็น ‘สิงคโปร์โมเดล’
“จากที่ผมไปเป็นนักวิจัยอยู่ที่สิงคโปร์ 6-7 เดือน จึงพบว่าสังคมไทยสร้างสมการที่ผิดมาตลอดเวลาพูดถึงสิงคโปร์โมเดล ที่มีความเจริญ เศรษฐกิจดี โดยไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็ได้ ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิงคโปร์ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มร้อยแน่นอน แต่เขาก็ไม่ใช่เผด็จการอย่างที่เราเข้าใจ คือสิงคโปร์ไม่ใช่เผด็จการทหาร ถ้าจะเรียกว่าเผด็จการก็เป็นเผด็จการพรรคการเมือง แต่เขามีที่มาจากการเลือกตั้ง
“ที่พรรคของลีกวนยูชนะการเลือกตั้งมาตลอด ก่อนจะขึ้นสู่อำนาจแต่ละครั้ง เขาต้องมีการแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่น อาจจะมีคนกล่าวหาว่าเขาใช้งบประมาณทุกอย่างเพื่อทำให้ตัวเองได้เปรียบ แต่คนเลือกเขาก็เพราะเขาทำผลงานดี สร้างระบบคมนาคมที่ดี การศึกษาดี และอีกเรื่องที่ทำให้เขาเป็นที่นิยมมากคือนโยบาย Government Housing หรือการจัดโครงการที่อยู่อาศัยให้คนรายได้น้อย แค่ทำ 3-4 เรื่องนี้ได้ คนก็แฮปปี้แล้ว เวลาเลือกตั้งคนก็ต้องเลือกพรรคนี้ เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าทำงานได้ เขาเลยชนะมาตลอด ถามว่าเขาเป็นเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจ หรือกดขี่ข่มเหงประชาชนไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ แค่เป็นพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน”
ขนาดสีเทายังมีหลายเฉด เผด็จการ หรือประชาธิปไตยก็คงไม่ต่างกัน ที่ต้องทำก็คือแยกให้ออกว่าเผด็จการแต่ละแบบเป็นอย่างไร เพื่อจะได้รับมือกับระบอบนั้นได้อย่างตรงจุด
“ถ้าเราไม่สามารถแยกเผด็จการที่มีหลายเฉดออกจากกันได้ เราก็จะไม่เข้าใจวิธีการทำงานของเผด็จการ ประชาธิปไตยก็มีหลายแบบ เผด็จการก็มีหลายประเภท วิธีแยกง่ายๆ คือดูว่าอำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ใคร อย่างจีนถือเป็นเผด็จการพรรคการเมือง สิงคโปร์ก็เช่นกัน ส่วนเกาหลีเหนือเป็นเผด็จการครอบครัว
“เราต้องเข้าใจว่า OS หรือระบบปฏิบัติการของแต่ละระบอบมีความต่างกัน ของไทยเป็นเผด็จการแบบกองทัพ เพราะฉะนั้นถ้าจะไปเปรียบเทียบกับจีนหรือสิงคโปร์ก็จะเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัว”
“เรากำลังใช้ระบบปฏิบัติการ หรือ OS ที่โลกเลิกใช้ไปแล้ว แต่เราหยิบมาใช้ แล้วยังคาดหวังว่ามันจะเวิร์ก แรงเสียดทานจึงสูงมาก เพราะโลกได้ก้าวไปสู่ OS อื่นๆ แล้ว”
ประเทศไทยเป็นเผด็จการกองทัพที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวในโลก!
“ตอนนี้เราเป็นเผด็จการโดยกองทัพประเทศเดียวในโลกที่ยังคงมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน…
“ก่อนหน้านี้มีเยอะแยะ เพราะช่วงพีกของเผด็จการโดยกองทัพคือช่วงปี 1970 ซึ่งมีประมาณ 20-30 ประเทศ โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาอย่าง ชิลี บราซิล อาร์เจนตินา หรือแม้แต่เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ ถ้าเป็นเมื่อก่อนถือว่าอินเทรนด์นะ”
ตัดภาพกลับมาในยุคปัจจุบัน ระบอบที่ได้รับความนิยมเมื่อ 46 ปีที่แล้วกลับกลายเป็นระบอบที่ค่อยๆ หายไปจากแผนที่โลก
“เหตุผลที่ตายไปเพราะมันไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากไม่มีประสิทธิภาพแล้วยังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอีก คือไม่ตอบโจทย์ทั้งสองทาง อย่างจีนถึงจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ แต่ยังมีความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นโมเดลเผด็จการพรรคการเมืองที่ใช้เทคโนแครตที่มีความสามารถมาช่วยบริหารเศรษฐกิจ ยิ่งมีโลกาภิวัตน์ ทั่วโลกก็ยิ่งต้องการระบอบการเมืองการปกครองที่รู้เท่าทันการจัดการระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งเผด็จการกองทัพจะสวนทางกับแนวทางนี้ เพราะฉะนั้นจึงค่อยๆ สูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ
“พูดง่ายๆ ว่าเรากำลังใช้ระบบปฏิบัติการ หรือ OS ที่โลกเลิกใช้ไปแล้ว แต่เราหยิบมาใช้ แล้วยังคาดหวังว่ามันจะเวิร์ก แรงเสียดทานจึงสูงมาก เพราะโลกได้ก้าวไปสู่ OS อื่นๆ แล้ว ขนาดพม่าก็ยังรู้แล้วว่า OS นี้ไม่เวิร์ก เขาจึงต้องปรับตัว”
ถ้าทุกคนถูกดัดแปลงความคิดจนคิดเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน แล้วความคิดนั้นตรงกับรัฐ ก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองอีกต่อไป จะเหลือแต่การปกครอง ทุกคนจะเป็นพลเมืองเชื่องๆ เหมือนหุ่นยนต์
ทำไมเผด็จการจึงยังไม่ตายไปจากสังคมไทย?
ในเมื่อหลายประเทศเลิกใช้ระบอบการปกครองนี้ไปแล้ว สงสัยไหมว่าทำไมระบอบเผด็จการทหารถึงยังใช้ได้ในประเทศไทย คำตอบที่ได้คือ…
“เผด็จการจะอยู่ได้ด้วยเครื่องมือ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือควบคุมด้วยอำนาจดิบ หรือความกลัว ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สุด แต่ไม่ยั่งยืนที่สุด เพราะไม่มีใครชอบโดนกดขี่บังคับไปตลอด เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นให้ประชาชนเลย สักวันก็ต้องโดนประท้วงขับไล่
“ฉะนั้นจึงต้องมีเครื่องมือตัวที่ 2 คือคุณต้องบริหารจัดการประเทศให้ดี ให้เศรษฐกิจยังพอไปได้ ให้คนรู้สึกว่าต่อให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพ แต่ชีวิตด้านอื่นๆ ก็ยังได้รับความสะดวกสบาย แต่เครื่องมือนี้ก็ยังมีความเปราะบาง เพราะวันหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจล่มสลาย ชีวิตไม่ได้ดีเหมือนก่อน การบริหารจัดการล้มเหลว คนก็จะออกมาเรียกร้องหาระบอบอื่น เหมือนอินโดนีเซียที่ซูฮาร์โตอยู่มา 31 ปี พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจก็เกิดการประท้วงจนอยู่ไม่ได้
“แต่จะอยู่ได้นานต้องใช้เครื่องมือที่ 3 ซึ่งลึกซึ้งที่สุด ถ้าทำได้ก็จะอยู่ได้นานที่สุด คือการควบคุมทางอุดมการณ์ ถ้าคุณสามารถควบคุมความคิดคนให้เห็นว่าการปกครองของคุณ ต่อให้ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นทางเลือกเดียวที่ดีที่สุดสำหรับสังคม ไม่มีทางอื่นที่ดีกว่านี้ ถ้าทุกคนถูกดัดแปลงความคิดจนคิดเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน แล้วความคิดนั้นตรงกับรัฐ ก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองอีกต่อไป จะเหลือแต่การปกครอง ทุกคนจะเป็นพลเมืองเชื่องๆ เหมือนหุ่นยนต์ ถ้าอย่างนั้นคุณก็ปกครองได้ตลอดไป”
แล้วเราจะรับมือกับระบอบเผด็จการได้อย่างไร?
ถ้าใครเคยได้อ่านงานเขียนของ จอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง 1984 จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่พี่เบิ้ม หรือ Big Brother หวาดกลัวที่สุดก็คือพลเมืองที่สามารถรักษาความคิดอิสระของตัวเองไว้ได้
แม้จะเป็นเพียงนิยาย แต่หลายอย่างใน 1984 ก็ทาบทับได้อย่างพอดิบพอดีกับโลกความเป็นจริง และ Big Brother ในเรื่องก็ไม่ต่างจากระบอบเผด็จการในยุคปัจจุบันมากนัก ดังนั้นวิธีรับมือกับระบอบนี้ได้ดีที่สุดจึงเป็นการรักษาจุดยืนทางความคิดของตัวเองเอาไว้ให้มั่นคง และไม่สั่นคลอนไปตามวาทกรรมชวนเชื่อที่รัฐพยายามปลูกฝัง
“ในฐานะคนสอนหนังสือ ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ โดยที่ยังสามารถรักษาความคิดอิสระของตัวเองไว้ได้ เพราะหน้าที่ของคนที่เป็นนักคิดคือ การชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่าโลกไม่จำเป็นต้องเป็นในแบบที่มันเป็นอยู่ มันมีโอกาสที่จะมีสิ่งที่ดีกว่านี้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นถ้าระบอบเผด็จการทำงานอยู่บนฐานของการเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันให้คุณยอมรับว่าตอนนี้ดีที่สุดแล้ว ความหวังของสังคมไทยก็อยู่ที่นักคิดที่ต้องชี้ให้เห็นว่ามันมีอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน”
ทำไมต้องประชาธิปไตย?
ในทางรัฐศาสตร์ เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่งที่ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง แต่ถ้าเลือกได้คุณอยากจะอยู่ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบไหน
อย่าเพิ่งตอบคำถามนี้จนกว่าได้จะฟังแนวคิดของประจักษ์ที่มีต่อระบอบการปกครองทั้ง 2 แบบ
“ผมไม่ได้มองว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เลิศเลอ เผด็จการก็เช่นกัน สำหรับนักรัฐศาสตร์เวลาพูดถึงระบอบการปกครองจะถือว่าเป็นความหมายธรรมดาสามัญมากเลย แค่พูดถึงระบอบการเมืองต่างชนิดกัน เหมือนเป็น OS ทางการเมือง
“ทีนี้ทำไมผมถึงเชื่อในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า ก็เพราะอย่างน้อยมันผ่านการพิสูจน์ และทดลองใช้มาแล้วในที่ต่างๆ ทั่วโลก มันเป็น OS ที่มีศักยภาพในการปรับตัวได้มากกว่าระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะระบอบเผด็จการแบบทหารซึ่งเป็น OS ที่ล้าหลังที่สุด”
คุณจะไปคาดหวังให้เขาเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเอาทหารประเทศไหนก็ตามมาบริหารประเทศก็ต้องเจอแบบนี้แหละ เพราะทหารส่วนใหญ่ถูกฝึกมาให้คิดถึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก นอกนั้นเป็นเรื่องรองหมด
ถึงแม้จะยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยอาจจะยังไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดในปัจจุบัน แต่ข้อดีของมันคือเป็นระบอบที่ยังอัพเดตให้ดีขึ้นได้ ต่างจากระบอบเผด็จการที่อาจเดินทางมาถึงทางตันจนไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้
“คุณจะไปคาดหวังให้เขาเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเอาทหารประเทศไหนก็ตามมาบริหารประเทศก็ต้องเจอแบบนี้แหละ เพราะทหารส่วนใหญ่ถูกฝึกมาให้คิดถึงเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก นอกนั้นเป็นเรื่องรองหมด ดังนั้นทหารจึงมองทุกอย่างจากเลนส์ของความมั่นคง โปเกมอนโกก็เป็นภัยความมั่นคงได้ ถ้าคุณเป็นนักธุรกิจ โปเกมอนโกอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจ ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น โปเกมอนโกคือการพักผ่อนหย่อนใจ แต่ถ้าคุณเป็นทหาร คุณจะมองว่าโปเกมอนโกเป็นภัยความมั่นคงหรือเปล่า เพราะโดยธรรมชาติเขาถูกฝึกมาปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยของพวกเรานี่แหละ
“ฉะนั้นพอเราเอาเผด็จการทหารมาใช้ในฐานะระบอบการเมือง นี่คือสิ่งที่คุณจะได้ คุณจะไปคาดหวังในสิ่งที่เขาไม่มีไม่ได้ ทั้งความโชติช่วงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก ในขณะที่ประชาธิปไตยมีความลื่นไหล ยืดหยุ่นมากกว่า แล้วก็มีตัวอย่างให้เห็นเป็นไม่รู้กี่สิบประเทศ ระบอบเผด็จการสร้างแค่ความสงบ แต่เป็นความสงบที่มีต้นทุนสูงมาก และเป็นต้นทุนที่ถูกทำให้มองไม่เห็น เพราะมีการควบคุมข้อมูลข่าวสาร มีปัญหาเราก็พูดไม่ได้อย่างเต็มที่หรอก มันถึงดูสงบสุขดี ต้นทุนก็เลยสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการอยู่แบบสงบอย่างนี้”
สุดท้ายถึงวันนี้เราจะเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองรูปแบบไหน แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือพยายามเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นอยู่ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้รู้เท่าทัน และช่วยกันเฝ้าระวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป เหมือนที่ประจักษ์ทิ้งท้ายไว้ว่า
“วิกฤติในสังคมตอนนี้ ถ้าจะมีข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ อย่างน้อยสังคมไทยก็เรียนรู้แล้วว่าระบอบประชาธิปไตยมีความบกพร่อง ผิดพลาดได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เราจะได้รู้จักตรวจสอบนักการเมือง รัฐบาล หรือใครก็ตามที่ใช้อำนาจประชาชนผ่านการเลือกตั้งในนามของประชาธิปไตย
“แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดก็คือ สังคมไทยยังไม่ได้วิพากษ์ หรือรู้เท่าทันระบอบเผด็จการเท่าๆ กับที่เราวิพากษ์ระบอบประชาธิปไตย พูดง่ายๆ คือสังคมไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังโลกสวยกับเผด็จการ เวลาพูดถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะตื่นตัวมาก อยากจะตรวจสอบ
“แต่พอเป็นระบอบเผด็จการ เรากลับบอกว่า ให้เขาบริหารบ้านเมืองไปเถอะ เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ซึ่งจะว่าไปมันก็ประหลาดนะ”
FACT BOX:
1984: นวนิยายที่พูดถึงโลกซึ่งมีสงครามตลอดกาล การสอดส่องดูแลของรัฐบาลทุกหนแห่ง และการชักใยสาธารณะทางการเมือง ภายใต้การควบคุมของอภิชน ‘พรรคใน’ ที่มีอภิสิทธิ์ในการก่อกวนการคิดอย่างอิสระ โดยมี ‘พี่เบิ้ม’ หรือ Big Brother เป็นผู้นำพรรคกึ่งเทพ ซึ่งได้ประโยชน์จากลัทธิบูชาบุคคลที่เข้มข้น แต่อาจไม่มีอยู่จริง ซึ่งพรรคใช้อ้างเหตุผลในการปกครองอย่างกดขี่ ประพันธ์โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ
You must be logged in to post a comment Login