วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยุคแฟชั่นยั่งยืน! / โดย ณ สันมหาพล

On October 17, 2016

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

มุมหนึ่งของธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าคือ การออกแบบเสื้อผ้าที่ทันสมัย ซึ่งต้องใช้นักออกแบบและสำนักที่เชี่ยวชาญ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของธุรกิจนี้คือ การหาวัตถุดิบที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งต้องมีความคงทนในการใช้ โดยเป็นการขยับสู่ผ้าทอจากเส้นใยพืชที่การเพาะปลูกมีความต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์แฟชั่นเครื่องแต่งกายที่เรียกว่า “แฟชั่นยั่งยืน” หรือ Sustainable Fashion

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดจากการตื่นตัวในพืชที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผ้าเพื่อนำมาตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำมากในการเพาะปลูก โดยองค์การยูเนสโกประเมินว่าการปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทำเป็นกางเกงยีนส์ใช้น้ำมากถึง 10,000 ลิตร โดยราว 8,000 ลิตรใช้ระหว่างการเพาะปลูกเพื่อนำมาเป็นเส้นใยในการทอผ้า ที่เหลือใช้ในการทอย้อมและตัดเย็บ เพราะฝ้ายเป็นพืชเส้นใยที่ต้องใช้น้ำมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการจัดเก็บหลังตัดเย็บ ทั้งการขนส่งกางเกงยีนส์เกือบทั้งหมดที่ตัดเย็บมาจากพื้นที่ห่างไกลคือทวีปเอเชีย ซึ่งอยู่ไกลนับหมื่นกิโลเมตรจากตลาดซื้อขายหลักในยุโรปและอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเสื้อผ้าอื่นๆอีกมากมายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กันตั้งแต่การผลิตกางเกงในจนถึงเสื้อนอก ซึ่งในภาพรวมทำให้เห็นความสูญเสียจากการใช้น้ำที่อาจทำให้เกิดผลกระทบกับโลกหากชาวโลกไม่ร่วมกันช่วยยับยั้งการใช้น้ำ ซึ่ง 2 พี่น้องชาวสวิส Marcus และ Daniel Freitag เจ้าของสำนักแฟชั่นกระเป๋า Freitag ชื่อเดียวกับนามสกุลที่โด่งดังจากการนำวัสดุที่ใช้แล้วมาผลิต โดยกระเป๋าของเขาที่ผลิตจากผ้าใบที่ใช้คลุมรถบรรทุกถูกนำมาแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก เพื่อแสดงถึงความล้ำหน้าทางศิลปะจากผลิตภัณฑ์นี้

Marcus และ Daniel คิดค้นวิธีการตัดเย็บกางเกงยีนส์ที่ไม่ใช้ผ้าฝ้าย เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นกางเกงที่เหมาะกับคนงานในโรงงานตัวเอง ซึ่งใช้เวลานานถึง 4 ปี ในการหาผ้าชั้นดีที่จะใช้ตัดเย็บกางเกงยีนส์ที่มีความคงทนสูง เพื่อลดต้นทุนค่าวัตถุดิบ พบว่าลินินและปอที่ปลูกได้ในยุโรปสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ ทั้งยังใช้น้ำน้อยและไม่ส่งผลกระทบกับการปลูกพืชชนิดอื่น

หลังจากนั้นนำผ้าที่ได้มาตัดเย็บกางเกงคนงานและต่อยอดเป็นกางเกงยีนส์ ซึ่งตอบรับกระแสที่ผู้คนตื่นตัวสวมใส่เสื้อผ้า Green Fashion หรือแฟชั่นสีเขียว โดยสำนักแฟชั่นชั้นนำให้การตอบรับในฐานะลูกค้า

นี่คือที่มาของกางเกงยีนส์แบรนด์ Freitag ซึ่งประชาสัมพันธ์ว่าเป็นการเกงยีนส์ที่มีวัตถุดิบในพื้นที่รอบๆนครซูริกระยะไม่เกิน 2,500 กิโลเมตร ไม่ใช่ 10,000 กิโลเมตรเหมือนกางเกงยีนส์แบรนด์อื่น คือพืชที่นำมาเป็นใยผ้าปลูกในฝรั่งเศส ปั่นเส้นใยในตูนิเซีย ทอในอิตาลี และตัดเย็บในโปแลนด์

แต่กางเกงยีนส์ Freitag ก็มีประเด็นที่สาวกกางเกงยีนส์อาจไม่พอใจคือ มีน้ำหนักมากกว่ากางเกงยีนส์ปรกติถึง 2 เท่า ทั้งยังซึมซับน้ำเร็วกว่า จึงใช้เวลาตากนานกว่า อีกทั้งยังมีราคาแพงกว่ากางเกงยีนส์ปรกติถึง 2 เท่า คือตัวละ 190 ยูโร หรือ 7,400 บาท

Marcus และ Daniel ชี้แจงว่า ปัญหาดังกล่าวทดแทนด้วยการช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ขณะที่เสื้อคอกลมที่ใส่กับกางเกงยีนส์มีราคาเพียงตัวละ 5 ยูโร คุ้มกับการใส่กับกางเกงยีนส์ในทุกโอกาส ถือเป็นวิวัฒนาการความนิยมกางเกงยีนส์ที่เปลี่ยนไปจากกางเกงคนต้อนวัว คนงานในโรงงาน หรือคนระดับล่าง ขยับเป็นวัยรุ่น คนชั้นกลาง และคนชั้นสูงในที่สุด

ทำให้คาดหวังกันว่ากางเกงยีนส์ที่ตัดเย็บจากผ้าที่ทำมาจากลินินและปอจะเป็นแฟชั่นที่ยั่งยืนและแพร่หลายมากขึ้นจนมีการสวมใส่ทั่วไป สุดท้ายก็คือการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ไทยเองก็มีผ้าพื้นเมืองหลากหลายที่อาจพัฒนามาเป็นผ้าตัดเย็บตามแฟชั่นยั่งยืนได้ ซึ่งพัฒนาได้ไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่ทอจากใยพืชที่ปลูกในชุมชนอยู่แล้ว เพียงแต่ต่อยอดความรู้ให้เหมาะสมกับการนำมาผลิตเท่านั้น

หลังจากนั้นต้องมีการออกแบบและตัดเย็บที่ทันสมัยและมีคุณภาพ โดยออกแบบให้ครอบคลุมเสื้อผ้าหลากหลายประเภทมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อใส่นอน พักผ่อน เล่นกีฬา ใส่เล่น หรือใส่ทำงาน

การพัฒนาและต่อยอดสู่การเป็นแฟชั่นยั่งยืนจึงต้องมีความเป็นศิลปะและอิสระ ไม่ใช่การบังคับอย่างเสื้อผ้าสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องแต่งเครื่องแบบ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าการบังคับไม่ได้ผล และไม่ได้ทำให้คนไทยมีวินัย

ควรให้นักเรียนนักศึกษามีอิสระในการแต่งกาย แต่เน้นใช้ผ้าพื้นเมืองที่ทอจากใยพืชยั่งยืน อาจทำให้ประเทศไทยก้าวเป็นหนึ่งในแฟชั่นยั่งยืนของโลก แล้วยังจะสร้างความมั่งคั่งให้คนไทยอย่างทั่วถึงอีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login