- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร? / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
“แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร” ที่กล่าวถึงในที่นี้คือนวนิยายขนาดสั้นเล่มใหม่เอี่ยมที่เขียนโดย “อรุณวตี กงลี่” เป็นวรรณกรรมสัจนิยมที่สะท้อนเรื่องเบื้องหลังวงการละครโทรทัศน์ของไทย ดังที่ในคำนำของเรื่องเสนอไว้ว่า “ต้องการเสนอภาพของวงการที่เต็มไปด้วยนางฟ้าเทวดาในวิชาชีพดารา ความพาฝันนั้นก็สามารถมีที่มาจากความจริงอย่างชนิดที่แทบจะระบุได้ว่าตัวละครนั้นๆถอดแบบมาจากใคร”
ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้คือ น่าจะเป็นวรรณกรรมเล่มแรกที่บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จนถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยเอาสถานการณ์การเมืองขณะนั้นมาสร้างเป็นฉาก
เนื้อเรื่องของนวนิยายเล่าถึงตัวเอกชื่อ ศิรินดา หรือเซลีน่า บุช ซึ่งเคยเป็นนางเอกละครที่มีชื่อเสียง แต่หลังจากงานแสดงลดลงก็เดินทางไปอยู่อังกฤษถึง 8 ปี จนกระทั่งได้กลับมาประเทศไทย และนั่งแท็กซี่ผ่านเสาชิงช้าในวันที่ 25 พฤศจิกายน วันที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะแกนนำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและกำจัดระบอบทักษิณ ใช้ยุทธการ “ดาวกระจาย” จัดแบ่งผู้ชุมนุม “มวลมหาประชาชน” เป็น 13 เส้นทาง บุกเข้าปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในกรุงเทพมหานคร ในวันนั้นเซลีน่าเผชิญรถติดขนาดหนักจนต้องลงเดิน และได้พบกับผู้จัดละครที่กำลังเดินทางไปร่วมการชุมนุม จึงได้รับการชักชวนให้กลับไปเล่นละครเรื่อง “พยาบาทรัก” เป็นเรื่องแรก
ต่อมาเซลีน่าได้รับการชักชวนจากอีกบริษัทหนึ่งให้ไปเล่นเป็นตัวละครผีในเรื่อง “เลดี้ฝรั่งดอง” ละครเรื่องหลังนี้เองทำให้ได้รู้จักกับกัมปนาท พระเอกรุ่นน้อง และสร้างสัมพันธ์รักต่อกัน ทำให้เซลีน่าเลื่อนกำหนดเดินทางกลับอังกฤษ แก่นเรื่องความรักที่เกิดขึ้นและพัฒนาในนวนิยายเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องราวที่เล่าเกี่ยวกับปัญหาการสร้างละครโทรทัศน์จะดำเนินไปควบคู่กับสถานการณ์ทางการเมือง เพราะบรรดาดาราจำนวนมากที่ร่วมแสดงในละครต่างเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายสุเทพ โดยเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่รักชาติ เซลีน่าพบว่าในวงการละครมีคนที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงค่อนข้างน้อย ดาราตัวเอกเช่นพี่โก๋ พระเอกดังที่ไม่ยอมท่องบท ก็ตัดคิวการแสดงไปร่วมการชุมนุมที่ราชดำเนิน หรือพี่ปู นางเอกดาวค้างฟ้า แสดงท่าทีรังเกียจคนเสื้อแดงอย่างเปิดเผย
สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนายสุเทพยกระดับในวันที่ 1 ธันวาคม อ้างว่าเป็น “การปฏิวัติของประชาชน” จากนั้นวันที่ 8 ธันวาคม พรรคประชาธิปัตย์ก็ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ทั้งพรรค วันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันชุมนุมใหญ่ที่นายสุเทพอธิบายว่าเป็น “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” มีประชาชนมาร่วมชุมนุมนับแสน รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ขั้นตอนดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งถูกฝ่ายผู้ชุมนุมขัดขวางโดยอ้างคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
ปีใหม่ 2557 เป็นปีใหม่ที่เงียบเหงา เพราะการชุมนุมของ กปปส. และวันที่ 29 ธันวาคมก่อนถึงวันสิ้นปี นายสุเทพประกาศจะชัตดาวน์ (ปิด) กรุงเทพฯในวันที่ 13 มกราคม เพื่อปิดบัญชีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้เซลีน่าไม่ได้ไปฉลองปีใหม่ที่ไหน พักผ่อนอยู่ที่คอนโดฯถนนเจริญกรุง กัมปนาทและกลุ่มเพื่อนที่สนับสนุนเสื้อแดงก็มาร่วมฉลองปีใหม่ด้วย
เหตุการณ์ผ่านจากเรื่องปิดกรุงเทพฯสู่การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งกลุ่มสนับสนุนนายสุเทพรณรงค์ไม่ให้มีการเลือกตั้งอย่างหนัก กลุ่มนักแสดงที่สนับสนุน กปปส. ก็พยายามชักชวนเซลีน่าไม่ให้ไปเลือกตั้ง จนกัมปนาทต้องเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็นำกำลังไปปิดกั้นคูหาไม่ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างสมบูรณ์โดยความร่วมมือของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเซลีน่าได้เล่าในนวนิยายด้วย แต่เหตุการณ์จริง การขัดขวางการเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปัตย์และ กปปส. นั้นได้เปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในวันที่ 27 มีนาคม โดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้ทำการเลือกตั้งให้เสร็จในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในความผิดโยกย้ายข้าราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คนคือ นายถวิล เปลี่ยนศรี ช่วงนี้เซลีน่าก็ผูกพันกับกัมปนาทมากขึ้น จนเริ่มมีข่าวซุบซิบตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่กัมปนาทก็ไม่สนใจ
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนายสุเทพกรณีการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญนำไปสู่การรัฐประหาร โดยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กองทัพเริ่มส่งหน่วยทหารมาตั้งบังเกอร์ในกรุงเทพฯ อ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัย เมื่อมีเสียงวิจารณ์ กองทัพก็สั่งให้นำดอกไม้มาประดับบังเกอร์ให้ดูดี แต่ไม่ได้สั่งถอนกำลังทหารออกไป ส่วนชีวิตของเซลีน่าก็เริ่มมีปัญหา เพราะแม่ของกัมปนาทนำคู่หมั้นมากองถ่าย ทำให้เซลีน่ากับกัมปนาทหมางเมินกัน เซลีน่าตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินกลับลอนดอนหลังจากการถ่ายละครจบ แต่กัมปนาทตามมาง้อทำความเข้าใจ
วันที่ 10 พฤษภาคม กลุ่มคนเสื้อแดงจัดการชุมนุมต้าน กปปส. ที่ถนนอักษะ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศวันเปิดประเทศไทยเพื่อตอบโต้การปิดกรุงเทพฯของ กปปส. ละครเลดี้ฝรั่งดองปิดกล้องและนัดเลี้ยงนักแสดงที่ร้านเหล้าย่านประชาชื่นวันที่ 20 พฤษภาคม คืนวันนั้นเวลา 03.00 น. มีการประกาศกฎอัยการศึกและนำมาสู่การยึดอำนาจใน 2 วันต่อมา ขณะที่เซลีน่าเตรียมตัวเดินทางกลับลอนดอน แต่ในนาทีสุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาพบกัมปนาทที่คอนโดฯถนนเจริญกรุง
นวนิยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกลับไปทบทวนและอธิบายถึงที่มาของสังคมไทยสมัยรัฐประหารในปัจจุบัน อย่างน้อยในสายตาของคนเขียนวรรณกรรมผ่านนวนิยายรักโรแมนติก เราก็เห็นถึงชะตากรรมอันขมขื่นของสังคมไทยที่คนหลายกลุ่มมีส่วนร่วมกันสร้างขึ้นมา!
You must be logged in to post a comment Login