วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปัญญาและกรุณายามวิกฤต / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On October 24, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

สังคมไทยกำลังอยู่ในโมงยามวิกฤต อันเนื่องมาจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัชกาลที่ 10 ทั้งยังมีปัญหาความแตกแยกทางความคิดที่สืบเนื่องมากว่า 10 ปี และความไม่แน่นอนในระบอบประชาธิปไตย (democratization) ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร

ในสถานการณ์เช่นนี้การแสดงออกในโลกโซเชียลมีหลากหลายอารมณ์ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ม็อบล้อมบ้านคนที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นในหลวงทางเฟซบุ๊คที่ภูเก็ตและพังงาตามที่เป็นข่าว

ความเป็นจริงที่ควรตระหนักคือ เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงไม่มีบรรทัดฐานเสรีภาพในการแสดงออกเป็นกรอบในการตัดสินว่าการแสดงออกแบบไหนเหมาะสม ไม่เหมาะสม บรรทัดฐานที่เราใช้ในการตัดสินขณะนี้คือ บรรทัดฐาน “ความจงรักภักดี” ทุกฝ่ายจึงควรใช้สติให้รอบคอบในการแสดงออก

ในยามเช่นนี้ผมอยากชวนให้เรานึกถึงด้านบวกของพุทธศาสนา นั่นคือแง่คิดเรื่อง “ปัญญาและกรุณา” ที่ท่านติช นัท ฮันห์ สื่อด้วยภาษาเรียบง่ายว่า ปัญญาและกรุณาคือ “ความเข้าใจและความรัก” กล่าวคือ พุทธศาสนาถือว่าปัญญากับกรุณาหรือความเข้าใจกับความรักเป็นของคู่กัน

ในมุมมองของพุทธศาสนา ปัญญาและกรุณาคือ ความเข้าใจใน “ความเป็นมนุษย์” เมื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ เราจะเกิดความรักในความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่น

ความเป็นมนุษย์นั้นมีทั้งด้านดีและไม่ดี อย่างที่พระท่านว่า บางทีคนเราก็กระทำอะไรลงไปด้วยความโลภ โกรธ หลง บางทีก็กระทำด้วยความเสียสละ แบ่งปัน เมตตา และใช้ปัญญา รู้ผิดชอบชั่วดี มนุษย์มีทั้งด้านที่อ่อนแอและเข้มแข็ง แต่ถึงที่สุดแล้วพุทธศาสนาก็ถือว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน

การเข้าใจความเป็นจริงด้วยปัญญาว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ย่อมทำให้เรามีสำนึกในความเป็นพี่เป็นน้อง หรือมี “ภราดรภาพ” สำนึกเช่นนี้คือความเมตตากรุณา

ความรักหรือที่พุทธศาสนาเรียกว่าเมตตากรุณาคือ ความรู้สึกเป็นมิตรไมตรี คนที่มีความรักหรือเมตตากรุณาในจิตใจย่อมไม่คิดร้ายหรือคิดเบียดเบียนทำร้ายใคร

มองจากหลักเมตตากรุณาตามคำสอนของพุทธะ ถ้าเรา “รักในหลวง” อย่างแท้จริง ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ความรักนั้นจะทำให้เราเกลียดชังหรือคิดร้ายต่อคนที่ไม่รักเหมือนเรา เพราะถ้าเป็นความรักที่เกิดจากปัญญาหรือความเข้าใจถ่องแท้ เป็นไปไม่ได้ที่ความรักจะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความเกลียดชังคนที่คิดต่างจากตัวเอง

พุทธะคือตัวอย่างของผู้ที่มีความรักซึ่งเกิดจากปัญญาที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ตามความเป็นจริง ดังนั้น พุทธะจึงมีความรักแก่ทุกคนเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นอดีตพระชายาอย่างพระนางยโสธรา ราหุล องคุลิมาล และเทวทัต ความรักที่มีแก่ทุกคนเสมอกัน แม้ว่าคนนั้นจะเป็นมิตรหรือศัตรูก็ตาม เป็นความรักที่เกิดจากปัญญาที่ยอมรับใน “ความเป็นคนเท่ากัน” และเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายเสมอกัน

พุทธศาสนามองว่าทุกคนมีความเป็นคนเท่ากัน ในความหมายว่าทุกคนมี “โพธิปัญญา” หรือ “พุทธภาวะ” อันเป็น “ศักยภาพ” (potentiality) ด้านในเสมอกัน ไม่ว่าใคร จะเป็นคนดี คนเลว เป็นเพศ ภาษา หรือศาสนาอะไร ทุกคนต่างมีโพธิปัญญา หรือปัญญาตื่นรู้ หรือมีพุทธภาวะ คือความเป็นพุทธะเป็นศักยภาพด้านในของตนเองเสมอกัน

เมื่อเรามีโพธิปัญญาหรือพุทธภาวะภายในตัวเองเสมอกัน เราก็มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีกิเลสตัณหาที่ทำให้เราอ่อนแอ หลงผิด หรือประสบทุกข์ต่างๆนานา รวมทั้งความทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตายที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่คนเราจะเกลียดชังหรือเบียดเบียนทำร้ายกัน แต่ควรเรียนรู้ที่จะเข้าใจและมีความรักความเมตตาต่อกัน

แต่ทำไมในสังคมที่เราแสดงออกซึ่ง “ความรัก” มากที่สุด จึงเป็นสังคมที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกหวาดกลัว ดังเฟซบุ๊คของอาจารย์ Thasnai Sethaseree บอกความรู้สึกของตัวเองในสถานการณ์ขณะนี้ว่า

ความรู้สึกและสัญชาตญาณบอกกับผมเบาๆในใจว่า บรรยากาศไม่ต่างจากวันแรกๆของการทำรัฐประหาร ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในสังคมนี้?

-รัฐ ที่ไม่ทำหน้าที่เป็นนิติรัฐ หากกลับมีลักษณะที่เป็นรัฐนาฐกรรมในรูปแบบใหม่ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือของสื่อสมัยใหม่

-รัฐ ที่สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนไม่เคยได้รับการคุ้มครอง

-รัฐ ที่ชนชั้นนำและชนชั้นปกครองไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารสังคม

-รัฐ ที่เหตุผลไม่เคยลงหลักปักฐาน การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นถูกปิดกั้น

-รัฐ ที่แม้แต่การแสดงความรู้สึก อารมณ์ปรารถนา และจินตนาการของปัจเจกชนถูกปิดกั้น และต้องเก็บงำเอาไว้

-รัฐ ที่บรรทัดฐานทางศีลธรรมไม่เคยถูกตั้งคำถามและถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความรุนแรงทางสังคม ไม่ว่าจะปีไหน พ.ศ. ไหน สถานการณ์แบบไหน รัฐในแบบนี้ไม่น่าอยู่อาศัย และเต็มไปด้วยบรรยากาศที่น่าหวาดกลัว

นี่คือตัวอย่างของคำตอบ สังคมที่พูดถึงความรักมาก ขณะที่เต็มไปด้วยความกลัว ความรักจึงต้องการ “ปัญญาและกรุณา” หรือต้องการความเข้าใจความเป็นมนุษย์และเคารพความเป็นคนเท่ากันเป็นรากฐาน

แน่นอน การจะทำให้เกิดความรักด้วยปัญญาบนฐานของการเคารพความเป็นคนเท่ากัน เราจำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างรัฐที่เรารักให้เป็นรัฐที่ตรงกันข้ามกับรัฐที่อาจารย์ทัศนัยตั้งข้อสังเกต


You must be logged in to post a comment Login