- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
รอลุ้นปฏิรูปท้องถิ่น / โดย ลอย ลมบน
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน
การปฏิรูปประเทศในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่น แม้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ากับเทศบาล เพื่อให้เหลือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลเพียงอย่างเดียว
แต่ทุกอย่างก็ยังไม่เกิดความชัดเจน
ไม่ชัดเจนเพราะนั่นเป็นเพียงความเห็นของ สปท. ซึ่งเป็นสภาที่มีอำนาจศึกษาและทำข้อเสนอแนะ ไม่มีอำนาจตัดสินชี้ขาด
มติของ สปท. ยังต้องส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ หากเห็นด้วยก็ต้องดำเนินการยกร่างกฎหมายส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้อีกชั้นหนึ่ง
หาก ครม. ไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของ สปท. การยุบ อบต. เพื่อให้เหลือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นเพียงรูปแบบเดียวก็เป็นอันตกไป
นอกจากข้อเสนอให้ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นให้เหลือเพียงรูปแบบเดียวแล้ว ยังมีข้อเสนอปฏิรูปการควบคุมดูแลท้องถิ่นให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้หมายถึง อบต. เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมดที่มีอยู่ โดยข้อเสนอของ ป.ป.ช. เป็นการเสนอตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ป.ป.ช. มีข้อเสนอ 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แสดงทรัพย์สินโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ ห้ามพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และผู้บริหาร อปท. อื่นให้การสนับสนุนผู้สมัครทุกกรณี ห้ามผู้สมัครเป็นผู้บริหาร อปท. แทรกแซงการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น
ให้แก้กฎหมายเพิ่มโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนให้หนักขึ้น กรณีทุจริตเลือกตั้งให้ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต
2.แก้กฎหมายจัดเก็บรายได้ให้ฝ่ายข้าราชการเป็นผู้ประเมินภาษี เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องและเครือญาติ ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการจัดเก็บรายได้โดยมีข้าราชการในหน่วยงานและองค์กรภาคส่วนต่างๆในท้องถิ่นเป็นกรรมการ
ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้ อปท. เพื่อไม่ให้นักการเมืองระดับชาติเรียกรับผลประโยชน์จาก อปท. แต่หากมีกรณีจำเป็นรัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณให้ อปท. เพื่อดำเนินการตามนโยบายได้ ให้ปรับแก้กฎหมาย ระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายโบนัสให้พนักงานส่วนท้องถิ่นให้เกิดความชัดเจนเพื่อป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์จากฝ่ายการเมือง ให้มีคณะกรรมการกลางพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งบุคคลเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
3.ขยายอำนาจการถอดถอนนักการเมืองออกจากตำแหน่งของ ป.ป.ช. ให้ถึง อปท. ให้เผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนช่วยตรวจสอบดูแล
4.ห้ามใช้นโยบายประชานิยมที่ไม่สมเหตุผลกับอำนาจหน้าที่และงบประมาณหาเสียง ไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ในการบริหารงาน ต้องไม่มีพฤติการณ์แสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ห้ามจัดสรรงบประมาณหรือทำโครงการเพื่อสร้างความนิยมก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง
ทั้งหมดเป็นความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
จากนี้ต้องรอดูว่าผู้มีอำนาจจะส่งสัญญาณในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นไปในทิศทางไหน อย่างไร จะเห็นด้วยกับสิ่งที่ สปท. และ ป.ป.ช. เสนอมาหรือไม่
ถ้าไม่เห็นด้วยจะมีแนวทางที่แตกต่างออกไปอย่างไร
หรือสุดท้ายแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้น หากเป็นเช่นนั้นการรัฐประหารครั้งนี้ก็เข้าข่าย “เสียของ” เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญของการยึดอำนาจก็เพื่อปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งเรื่องการปกครองท้องถิ่นก็เป็นหัวข้อใหญ่หัวข้อหนึ่งที่จำเป็นต้องปฏิรูปให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ประชาชนซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจทำได้เพียงปูเสื่อรอดู
You must be logged in to post a comment Login