วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เส้นทางของ‘สี จิ้นผิง’ / โดย กองบรรณาธิการ

On November 1, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด ทำให้ดูเหมือนไม่มีความแตกแยก ไม่มีการแบ่งพวกแบ่งขั้วในพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด สะท้อนให้เห็นถึงภาวะมี “คลื่นใต้น้ำ” อยู่ลึกๆภายในพรรค

เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้คุมอำนาจในจีนแบบเบ็ดเสร็จ ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศ และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์

แต่นักวิเคราะห์มองว่า สี จิ้นผิงเผชิญ “คลื่นใต้น้ำ” มาต่อเนื่อง จากกลุ่มของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิง ซึ่งแม้จะอำลาชีวิตการเมืองไปตั้งแต่ปี 2004 แต่ เจียง เจ๋อหมิงยังคงมีบทบาทหนุนกลุ่มของตนอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมประจำปีของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Committee) ระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่ง

สี จิ้นผิงได้รับชัยชนะครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ประชุมลงมติให้เลื่อนสถานะเป็นผู้นำสูงสุด (Core leader) ของพรรค เทียบได้กับประธานเหมา เจ๋อตง และ เติ้ง เสี่ยวผิง 2 ผู้นำยิ่งใหญ่ของจีนยุคใหม่

สถานะ “Core leader” ไม่มีตำแหน่งรองรับอย่างเป็นทางการ แต่เป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงการได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการกลาง ก้าวเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติผลการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางครั้งต่อไป

นอกจากนั้น การได้รับสถานะ “Core leader” ของสี จิ้นผิง ยังเป็นการสิ้นสุดการครองสถานะเดียวกันของเจียง เจ๋อหมิง ด้วย เพราะสถานะนี้ครองได้เพียงคนเดียวในพรรค

ทั้งนี้ จีนมีกำหนดประชุมสมัชชาพรรคแห่งชาติ (Party Congress) สมัยที่ 19 ในปลายปีหน้า มีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางชุดใหม่กว่า 300 คน โดยมีสมาชิกกรมการเมือง 25 คน ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารสูงสุดของพรรครวมอยู่ด้วย

สมาชิกกรมการเมือง มีสมาชิกถาวร (Politburo Standing Committee of the Central Committee) 7 คน แต่สมาชิก 2 คน คือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และ นายกรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง ยังคงอยู่ในตำแหน่ง ทำให้ต้องเลือกตั้งใหม่เพียง 5 คน

สมาชิกทั้งหมดที่ได้รับเลือกตั้ง มีวาระอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี

การเลือกเฟ้นคณะกรรมการกลาง และสมาชิกกรมการเมืองถาวรชุดใหม่เข้าพรรค เป็นบทบาทสำคัญส่วนหนึ่งของสถานะ “Core leader”

เมื่อสี จิ้นผิงได้รับอาญาสิทธินี้ จึงฟันธงได้ว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในจีนแน่นอน ในอีก 6 ปีข้างหน้า

ส่วนจะมี “คลื่นใต้น้ำ” หรือไม่ เป็นคำถามที่นักวิเคราะห์บอกว่า ต้องติดตามดูต่อไป


You must be logged in to post a comment Login