วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘ข้าว’การเมือง?

On November 1, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ปัญหาเรื่องราคาข้าวตกต่ำกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมอีกครั้ง เมื่อชาวนาสามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคากิโลกรัมละ 5-7 บาท แต่เมื่อสีออกมาเป็นข้าวสารแล้วมีราคาขายตั้งแต่กิโลกรัมละ 35 บาทขึ้นไป

จึงเกิดกระแสเอาเปรียบชาวนา ซื้อถูก ขายแพง มีการนำไปเปรียบเทียบเรียกอารมณ์ความรู้สึกว่าปัจจุบันราคาข้าวเปลือก 1 กิโลกรัมถูกกว่าราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ถูกกว่าอาหารสุนัข 1 กิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสทำให้เกิดการรวมตัวกันของชาวนาในหลายพื้นที่เพื่อสีข้าวใส่ถุงขายเอง ทั้งวางขายในชุมชน วางขายข้างถนน และส่งตรงถึงลูกค้าที่สั่งผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

ร้อนถึงรัฐบาลทหาร คสช.ว่าไม่สนใจใยดีต่อชาวนาที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ทำให้รัฐบาลทหาร คสช.ต้องออกมารีแอ็คชั่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสองทาง

ทางแรก ออกมาให้ข่าวทำนองว่าที่ราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากกลไกปรกติตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการรวมหัวกันของนักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่าและโรงสีบางแห่ง

“จากสภาพการณ์ในขณะนี้ อาจมองได้ว่าปัญหาราคาข้าวในปัจจุบันมีความไม่ปรกติ อาจเกิดจากหลายปัจจัย รวมทั้งอาจมีกระบวนการสร้างกลไกราคาเทียมซ้ำเติมเกษตรกร เพื่อหวังผลทางการเมือง”

เป็นคำอธิบายจาก พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งเกษตรกร

แม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ก็เชื่อว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองในพื้นที่ ร่วมกับโรงสีบางโรงสี ในการกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง โดยหวังให้เกิดประเด็นต่อประชาชนให้เกิดการต่อต้านหรือขัดแย้งกับรัฐบาล

ไม่ต่างจาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอกย้ำว่ามีโรงสีร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเก่าทุบราคาข้าวซ้ำเติมชาวนา พร้อมเสนอให้รัฐบาลใช้บริษัทประชารัฐเป็นกลไกเข้าไปแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างยั่งยืน โดยเป็นตัวกลางในการซื้อขายแทนโรงสี หากมีอุปสรรคขัดขวางทำให้ไม่สะดวกให้ใช้อำนาจมาตรา 44 ทะลวงท่อเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง

แนวทางที่สอง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งเป็นผลจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธาน พร้อมด้วยบิ๊กๆในรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องนำผลการประชุมไปทำได้ทันที เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้

แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็หวั่นว่าปัญหาอันเนื่องมาจากราคาข้าวตกต่ำนั้นจะบานปลาย

แนวทางที่เป็นข้อสรุปจากที่ประชุมคือ

1.ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลง 2.5 ล้านไร่ โดยออกมาตรการจูงใจให้ชาวนาปลูกพืชอื่นทดแทน เพื่อลดปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาด

2.มอบเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน10 ไร่ หรือคิดเป็น 1,295 บาทต่อตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ วงเงินรวม 8,600 ล้านบาท

ส่วนชาวนาที่ร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี จะได้รับเงินช่วยเหลือรวม 11,525 บาทต่อตัน ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากโครงการ 8,730 บาทต่อตัน เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ไร่ละ500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ คิดเป็น 1,295 บาทต่อตัน และค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตัน เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 2,591 บาท ซึ่งเป็นโครงการเดิมและอยู่ระหว่างดำเนินการ ทำให้เงินที่ชาวนาจะได้รับรวม 13,586 บาทต่อตัน สำหรับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี จะได้รับเงินช่วยเหลือทั้งหมด 10,995 บาทต่อตัน

จะเห็นได้ว่าแม้รัฐบาลทหาร คสช.จะเชื่อว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นเรื่องทางการเมือง สร้างเรื่องโดยนักการเมืองเพื่อหวังผลทางการเมือง

แต่ก็ไม่อาจนิ่งดูดายปล่อยให้ราคาข้าวตกต่ำดำเนินต่อไปโดยไม่ช่วยเหลือชาวนา เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวให้เกิดการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลได้


You must be logged in to post a comment Login