วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

Main circumstance ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านอย่างไร? / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On November 1, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ผมเขียนถึงทฤษฎีการปฏิวัติสังคมและประวัติศาสตร์ของ Arnold Toynbee เรื่อง Challenge and Respond บทความนี้จึงอยากจะขยายความเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบประวัติศาสตร์ ลัทธิและวิถีความเชื่อทางอำนาจของสังคมไทยได้พอสมควร

ทฤษฎีปฏิวัติสังคมเรื่อง Challenge and Respond ที่หมายถึงการท้าทายและการตอบสนองนั้น Toynbee ได้สรุปจากการศึกษาเรื่อง Rise and fall of civilization ว่าการขัดแย้งต่อสู้ของศิวิไลซ์เก่าและใหม่เหมือนที่ออกมาในรูปของ Challenge and Respond ที่หมายถึงการท้าทายและต่อสู้ ท้าทายเพื่อปฏิเสธวัฒนธรรมเก่าและเพื่อสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นมา โดยเขาเชื่อว่า “ประวัติศาสตร์หรืออารยธรรมจะเปลี่ยนแปลงหรือเป็นการเกิดและเริ่มต้นใหม่จะต้องมีการ challenge หรือท้าทายที่เกี่ยวกับ Morality and Religion ซึ่งก็คือศีลธรรมและศาสนา”

แต่ผมเห็นว่าน่าจะแปลว่าแบบแผนพฤติกรรมตัวตนของจริยวัตรและลัทธิความเชื่อ

นี่เป็นหนึ่งในทฤษฎีของ Toynbee ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ โดย Toynbee ได้ศึกษาวัฒนธรรมในโลกถึง 23 Civilization หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าเป็นการเกิดและตายของแต่ละอารยธรรม เขาจึงสรุปออกมาเป็นทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ โดยโฟกัสไปที่ Morality and Religion หมายถึงเรื่องของความคิดและความเชื่อ โดยทฤษฎีดังกล่าวพูดถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ของกระแสส่วนน้อยที่มีอำนาจ ซึ่งใช้คำภาษาอังกฤษว่า Creative Minority คำดังกล่าวนี้อาจอธิบายได้อีกอย่างว่าเป็น Dominant circumstance หมายถึง เหตุการณ์ที่มีอิทธิพลมากกว่าอีกเหตุการณ์

ทีนี้เราคงต้องมาเปิดพจนานุกรมดูสักหน่อยว่า circumstance หมายถึงการณ์ เหตุการณ์ สภาพการณ์ หรืออาจหมายถึงสภาพแวดล้อมก็ได้

ถ้าจะเอาความหมายที่ชัดเจนก็ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Circumstance is a condition or fact or even that causing a situation the way it is คือสรุปว่า Circumstance หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นมาตามที่มันเป็น

จากอรรถาธิบายเช่นนี้ Dominant circumstance จึงเป็นชุดหรือเหตุการณ์ของความคิดที่สามารถบงการอีกเหตุการณ์เอาไว้ได้ คือเป็นเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลเหนือกว่าที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางลัทธิความเชื่อ

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นการพัฒนาการของตัวมันเอง แต่จะต้องเป็นการเผชิญหน้ากับอีกเหตุการณ์ จึงจะทำให้ Dominant circumstance พลิกไปเป็นด้านหลักคือ Main circumstance

จึงมีคำถามว่าในปัจจุบันนี้ Dominant circumstance ของประเทศไทยคือกระแสความคิดอะไร?

ถ้าผมตอบก็คือ กระแสความคิดของ Bureau authoritarian หมายถึงกระแสความคิดของระบบรัฐราชการ

ส่วนอีกกระแสที่เผชิญหน้าคือ กระแสของระบบประชาธิปไตยเลือกตั้ง

ผมมองสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ แต่ถ้าถามว่าในการเผชิญหน้าแล้วต่อไป Main circumstance จะเป็นอะไร ผมคงไม่กล้าตอบ

หันไปมองข้อมูลด้านโหราศาสตร์ พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวาที่มีความรู้ด้านโหราศาสตร์มาก เคยพยากรณ์ตั้งแต่ต้นปีว่า ดวงเมืองถูกทับด้วยดาวมฤตยูในราศีเมษ ซึ่ง 84 ปีจะมีครั้งหนึ่งและบังเอิญไปตรงกับ พ.ศ. 2475 สภาพเช่นนี้จะดำรงไปอยู่ 7 ปี จากนั้นประเทศไทยจะค่อยๆดีขึ้น แม้ในระยะแรกๆจะไม่ดีนัก ในขณะที่โหราจารย์อีกหลายท่านก็เห็นในทำนองเดียวกัน

ผมเองก็รู้งูๆปลาๆบ้าง ในเวลาที่ผ่านมานั้นดาวพฤหัสบดีมาจากมุมที่ไม่ดี จึงทำให้บ้านเมืองสูญเสียบุคคลสำคัญ ในขณะเดียวกันดาวพุธซึ่งเป็นดาวโลเลอาจส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเปลี่ยนไปเป็น พ.ศ. 2561 แต่การเลือกตั้งก็ต้องมีอย่างแน่นอน อีกแง่มุมของการโคจร ดาวอังคารและดาวเสาร์ที่พบกันน่าจะหมายถึงกองทัพจะต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับชนชั้นล่าง

นี่เป็นแง่มุมของโหราศาสตร์ แต่ถ้าจะให้สรุปจริงๆคงต้องยกเอาคำพูดของศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่มองว่าสถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประเทศไทยเพื่อข้ามความเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบคงต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานสักหน่อย

ดังนั้น ใครที่คิดจะเอาชนะในระยะเวลาสั้นๆก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ คนไทยคงจำเป็นต้องมองปัญหาแบบ optimist คือมองโลกในแง่ดีว่าน้ำยังเหลืออีกครึ่งแก้ว ซึ่งตรงกันข้ามกับการมองแบบ pessimist ซึ่งมองว่าน้ำหมดไปแล้วครึ่งแก้ว

โดยสรุปแล้วผมยังเห็นด้วยกับศาสตราจารย์ธงชัยว่าเราต้องมองเกมยาว อย่างน้อยก็หลีกเลี่ยงความรุนแรงที่ดาวเสาร์จะชนกับดาวอังคาร


You must be logged in to post a comment Login