วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สังคมวจีกรรม / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On November 1, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เมื่อมนุษย์ยุคแรกๆรู้จักใช้ “วจีกรรม” หรือคำพูดในการสื่อสาร ทำให้การจัดระเบียบสังคมเริ่มต้นขึ้น เพราะจะรู้ว่าใครเป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง ใครมีสถานะและหน้าที่อะไรย่อมต้องอาศัยการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจร่วมกันได้ ภาษาพูดจึงเป็นภาษาแรกๆที่มนุษย์ใช้กันมายาวนานที่สุด

ในวัฒนธรรมทางปัญญาของตะวันตกตั้งแต่ยุคกรีกมีการใช้คำว่า “Logos” ที่แปลว่า “วจนะ” หรือ “คำพูด” บางทีก็แปลว่า “กฎจักรวาล” จึงเชื่อกันว่าโลกหรือจักรวาลถูกสร้างขึ้นด้วยพระวจนะของเทพเจ้า ในทางศาสนาเชื่อกันว่าพระวจนะของเทพหรือของพระเจ้าเป็น “ประกาศิต” ที่กำหนดความเป็นไปของมนุษย์ โลก และจักรวาล

มนุษย์คือผู้ถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์ผ่านคำพูด เช่น ในยุคดึกดำบรรพ์คำพูดของพ่อมด หมอผี หรือหัวหน้าเผ่า ที่อ้างว่าสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้ย่อมได้รับการเชื่อฟังจากคนในเผ่า คำพูดของผู้สื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติจึงกลายเป็นคำสั่งกำหนดระเบียบประเพณีของชนเผ่านั้นๆไป

เมื่อโมเสสอ้างถึงการสื่อสารกับพระเจ้าได้โดยตรง เขาจึงกลายเป็นผู้นำทาสชาวยิวหนีตายจากอียิปต์ข้ามทะเลแดงได้สำเร็จเพื่อเดินทางแสวงหาแผ่นดินใหม่ พระบัญญัติ 10 ประการที่โมเสสรับฟังมาจากพระวจนะของพระเจ้าโดยตรงจึงกลายเป็นกฎของสังคมศาสนายูดาย

เช่นเดียวกับพระเยซูก็สื่อสารความรักของพระเจ้าสู่เพื่อนมนุษย์ด้วยคำพูดที่ลึกซึ้งกินใจ ขณะที่คำสอนของพระศาสดามูฮัมหมัดก็มาจากการรับฟังพระวจนะของพระอัลเลาะฮ์โดยตรง บันทึกในคัมภีร์อัลกุรอานจึงไม่ใช่บันทึกคำพูดของมนุษย์ หากแต่เป็นบันทึกพระวจนะของพระเจ้าที่ชาวมุสลิมต้องเชื่อฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข

ย้อนไปถึงพุทธะก็ใช้คำพูดในการสอนสิ่งที่ท่านค้นพบแก่ผู้คน หลังจากพุทธะปรินิพพานไปแล้ว คำสอนนั้นก็ยังถูกถ่ายทอดผ่านคำพูดปากต่อปาก (มุขปาฐะ) เป็นเวลาหลายร้อยปีกว่าจะบันทึกเป็นภาษาเขียนในไตรปิฎก

จะว่าไปแล้วสังคมศาสนาคือต้นแบบของ “สังคมวจีกรรม” เพราะพระศาสดา พระสาวก นักบวชหรือผู้นำศาสนา ใช้วจีกรรมในการสอนศาสนามาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน จนปัจจุบันนี้ในสังคมศาสนาก็ยังถกเถียง ขัดแย้งกันอยู่ตลอดว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ “พระวจนะ” ของพระเจ้าหรือพระศาสดาของพวกตน

ขณะที่การเกิดขึ้นของปรัชญากรีกโบราณก็เกิดขึ้นในสังคมวจีกรรมเช่นกัน ดังบรรยากาศการโต้วาทีของโสเครตีสกับนักคิดอื่นๆในยุคเดียวกับสมัยพุทธกาล ที่จีนก็มีปราชญ์เล่าจื๊อ ขงจื๊อ เป็นต้น ในช่วงเวลาร่วมสมัยกัน

ข้อสังเกตคือ Logos ที่แปลว่าพระวจนะ กฎจักรวาลในภูมิปัญญากรีก มีความหมายเน้นไปในทางให้ความสำคัญกับ “กฎเกณฑ์” ซึ่งหมายความว่าวจนะหรือคำพูดถูกใช้ในการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม หรือกลายเป็นวาทศิลป์ในการแสวงหาและสร้างระบบสังคมการเมืองที่ดียิ่งขึ้น

เช่น ในกรณีของโสเครตีส เมื่อถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อกล่าวหาดูหมิ่นเทพเจ้า ระหว่างที่ติดคุกรอวันประหารมีคนเสนอความช่วยเหลือให้หนีคุกเนรเทศตัวเองไปอยู่เมืองอื่น แต่เขาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า “เมื่อข้าพเจ้าเรียกร้องให้ชาวเอเธนส์เคารพกฎหมาย ข้าพเจ้าก็ต้องเคารพกฎหมายแห่งเอเธนส์” นี่คือวจีกรรมที่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่ระบบหรือกติกาของสังคม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของวิธีคิดแบบตะวันตก

ฉะนั้นแกนกลางของการถกเถียงในปรัชญาตะวันตกจึงเป็นเรื่องของปัญหาว่า จะสร้างระบบสังคมการเมืองที่ดีอย่างไร แม้จะพูดถึงเรื่องการมีชีวิตที่ดีของบุคคล แต่ชีวิตที่ดีนั้นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อบุคคลได้ใช้ชีวิตเป็นพลเมืองอยู่ในรัฐที่ดี จนกระทั่งถึงยุคปรัชญาสมัยใหม่ แม้แต่การถกเถียงเรื่องศีลธรรมก็เป็นเรื่องของกฎหรือหลักการทางศีลธรรมในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างเคารพความเป็นคนเท่ากัน

สังคมวจีกรรมแบบตะวันตกที่ผสมผสานวจีกรรมทางปรัชญาและศาสนาคริสต์จึงเป็นสังคมที่ปะทะสังสรรค์ระหว่างวจีกรรมอันเป็นพระวจนะของเทพหรือพระเจ้าที่เน้นศรัทธา กับวจนะหรือวาทกรรมของนักปรัชญาที่เน้นความสงสัย การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และการแสวงหาความมีเหตุผล ทำให้ประวัติศาสตร์ความคิดของโลกตะวันตกกลายเป็นประวัติศาสตร์ของการแสวงหาและสร้างจุดสมดุลลงตัวระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องสาธารณะ

จนได้ข้อสรุปว่าเรื่องชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน เช่นเรื่องความเชื่อทางศาสนา เป็นเรื่องที่ต้องอดกลั้นหรือมีใจเปิดกว้างต่อกันและกัน ส่วนเรื่องชีวิตสาธารณะหรือเรื่องส่วนรวม เรื่องการเมือง เป็นเรื่องที่ทุกคนในฐานะพลเมืองต้องมีส่วนร่วมภายใต้การมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม

ต่างจากสังคมวจีกรรมแบบศาสนาตะวันออกที่ทั้งเรื่องส่วนตัวและสังคมถูกอธิบายและออกแบบกฎเกณฑ์โดยศาสนาเป็นหลัก จึงแยกกันยาก หรือสับสนระหว่างการให้ความสำคัญสูงสุดกับ “ตัวบุคคล” กับ “หลักการ” หรือระบบสังคม ในที่สุดเมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งก็มักจบลงที่การยึดตัวบุคคล กลุ่มบุคคล เหนือหลักการหรือระบบ

ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 การแบ่งแยกตะวันตกกับตะวันออกเป็นเรื่องที่เชยไปแล้ว เพราะยากจะหา “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจน การยึดหลักการหรือระบบกลายเป็นความจำเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การกระตุ้นให้คนคิด และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงมีความจำเป็นมากกว่า “การอบรมสั่งสอน” แต่สังคมไทยยังเป็นสังคมวจีกรรมที่เน้นการอบรมสั่งสอนจากพระ จากชนชั้นนำ และมีค่านิยมไม่เปิดกว้างต่อการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์

สังคมวจีกรรมแบบไทยจึงยากที่จะหาจุดสมดุลลงตัวระหว่างการให้ความสำคัญกับตัวบุคคลและหลักการหรือระบบได้ และเมื่อไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกในโลกจริง โลกโซเชียลจึงกลายเป็นโลกเสมือนจริงที่ผู้คนพูดอะไรได้ตรงกับความจริงหรือพูดความจริงได้มากกว่าโลกจริง


You must be logged in to post a comment Login