- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ช่องทางสู้ของ‘ยิ่งลักษณ์’ / โดย ลอย ลมบน
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน
หลังรัฐบาลโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลังเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 35,000 ล้านบาท ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าช่องทางการต่อสู้ของอดีตนายกฯมีกี่ช่องทาง และจะทำอะไรได้บ้าง
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยืนยันว่าไม่คิดหนี แต่จะสู้ทุกช่องทางที่ทำได้ตามกฎหมาย
ช่องทางแรกที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ทำได้และต้องรีบทำภายใน 90 วันหลังจากถูกเรียกค่าเสียหายคือ การยื่นอุทธรณ์คำสั่ง โดยต้องยื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณา ประเด็นที่ยื่นสามารถทำได้ 2 แนวทางคือ ยื่นให้ทุเลาคำสั่ง หรือยื่นให้ศาลพิจารณาว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครองโดยมิชอบ ให้สั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีผลบังคับ
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองต้องใช้เวลานานกว่าที่คำสั่งจะมีผลบังคับให้จ่ายเงิน ดังนั้น การยื่นอุทธรณ์ไม่ว่าจะยื่นเพื่อทุเลาคำสั่งหรือให้ยกเลิกคำสั่งต้องยื่นให้ศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลบังคับใช้จนกว่าศาลปกครองจะตัดสินคดีตามคำร้อง
ทราบว่าทีมทนายความของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์กำลังรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ทีมทนายความของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยังได้เตรียมฟ้องร้องต่อผู้เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่ยังไม่ได้สรุปว่าจะฟ้องใครบ้าง กี่คน เข้าใจว่าภายในเดือนพฤศจิกายนน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้
ประเด็นที่จะใช้ต่อสู้ครั้งนี้นอกจากเรื่องความไม่เป็นธรรมในการดำเนินการตามความคิดของผู้ที่ถูกให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ฝ่ายเรียกค่าเสียหายชี้ให้เกิดความชัดเจนว่าจำนวนเงิน 35,000 ล้านบาทนั้น มาจากไหน คำนวณจากอะไร
ที่สำคัญคือ คนที่ลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกเงิน 35,000 ล้านบาทนั้น รู้หรือไม่ว่าตัวเลขนี้มาจากไหน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการใช้คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ถือว่าเป็นการทำเพื่อประชาชน
ทางรอดในเรื่องนี้คือ การสู้ด้วยเอกสารที่มีการทักท้วงเรื่องตัวเลขจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปแล้ว
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าเสียหาย 35,000 ล้านบาทที่เรียกจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ คิดเป็นเพียง 20% ของความเสียหายทั้งหมด โดยอีก 80% กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากใครบ้าง รายละเท่าไร ซึ่งเข้าใจว่าคงมีนักการเมืองและข้าราชการทั้งที่ยังทำหน้าที่อยู่และเกษียณอายุราชการไปแล้วถูกเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก
ที่น่าจับตาดูคือ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีโอกาสไม่น้อยที่จะถูกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็น ให้ความเห็นชอบการทำโครงการรับจำนำข้าว
หากออกมาในรูปนี้เชื่อว่าคงทำให้อุณหภูมิการเมืองทวีความร้อนแรงขึ้น เพราะเท่ากับล้างบางขั้วการเมืองฝั่งเพื่อไทยกันเลยทีเดียว
แนวทางที่สองคือยอมจำนน ยอมเป็นบุคคลล้มละลาย
หากพิจารณาจากตัวเลขทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จากการประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังพ้นจากตำแหน่งนายกฯครบ 1 ปี พบว่ามีทรัพย์สินประมาณ 612 ล้านบาท หนี้สิน 33 ล้านบาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 579 ล้านบาท
เมื่อเทียบตัวเลขทรัพย์สินที่มีกับจำนวนเงินที่ถูกเรียกชดใช้ค่าเสียหายจึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะจ่ายเงิน 35,000 ล้านบาทตามที่ถูกยื่นโนติสมา
ในทางกฎหมายหากถูกยึดทรัพย์แล้วทรัพย์สินไม่เพียงพอกับจำนวนค่าเสียหายก็จะถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย และการเรียกค่าเสียหายที่ถือว่าเป็นคดีแพ่งนั้นไม่ต้องติดคุกเหมือนคดีอาญา
หนทางสุดท้ายที่ใช้ต่อสู้ได้คือ การร้องขอความเป็นธรรมจากองค์การสหประชาชาติ เพราะคำสั่งทางปกครองดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดกฎบัตรสหประชาชาติ แต่ไม่รู้ว่าหนทางนี้จะใช้ได้จริงแค่ไหน อย่างไร
ดังนั้น จึงต้องสู้ตามช่องทางกฎหมายภายในประเทศให้ถึงที่สุดเสียก่อน โดยเริ่มจากการยื่นให้ศาลปกครองพิจารณายกเลิกคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ระหว่างการพิจารณาคดีให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อไม่ให้คำสั่งทางปกครองมีผลบังคับใช้จนกว่าศาลจะตัดสินคดี
ช่องทางนี้ดูเหมือนจะเป็นช่องทางเดียวที่ใช้ต่อสู้ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้
You must be logged in to post a comment Login