วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ราคาข้าวและชาวนา กับเสียงที่ไม่มีคนได้ยิน / โดย มัจฉา พรอินทร์

On November 1, 2016

คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน
ผู้เขียน : มัจฉา พรอินทร์

มัจฉา พรอินทร์ นักศึกษาปริญญาโทสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักรณรงค์หญิงรักหญิงที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ SOGIE (sexual orientation, gender identity and expression) สิทธิเด็ก สิทธิชาติพันธุ์และสิทธิสตรี ในระดับประเทศและนานาชาติ เขียนบทความ “ราคาข้าวและชาวนา กับเสียงที่ไม่มีคนได้ยิน” (23 ตุลาคม 2559) หลังจากมีข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือคำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเสียหายในคดีรับจำนำข้าวจำนวน 35,000 ล้านบาทของกระทรวงการคลัง และกรณี “ฟลุ๊ก เดอะสตาร์” ให้ข่าวว่าจะช่วยบริจาคเงิน 100,000 บาท ช่วยอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ตลอดจนเห็นการแชร์ประเด็นราคาข้าวที่แสนจะตกต่ำของคนในเฟซบุ๊คว่า

เหล่านี้ทำให้ฉันรู้สึกว่า ตนเองในฐานะลูกชาวนาและเป็นชาวนาก็อยากจะสื่อสารกับสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจ รวมทั้งเปิดพื้นที่ในการสื่อสารในประเด็นเหล่านี้

“ฉันทำนาตั้งแต่จำความได้” แม้ไม่แน่ใจว่าตอนนั้น 4 หรือ 5 ขวบ แต่ที่แน่ๆฉันยังไม่เข้าโรงเรียน บางวันพ่อจะปลุกฉันและให้ฉันช่วยจูงวัวจูงควายไปนา โดยเฉพาะฤดูปลูกข้าวและเกี่ยวข้าว ตีสี่ครึ่งคือเวลาตื่นของเด็กเล็กอย่างฉันและครอบครัว

“ผืนนาของฉันเป็นดินปนทราย” ปีไหนฝนตกดี เราก็จะได้ทำนาแบบน้ำเต็มนา ฉันชอบเอาตัวแช่น้ำไปด้วย ดำนาไปด้วย เพราะการก้มๆเงยๆตากแดดไม่ได้สนุกเลยสำหรับเด็กๆอย่างฉัน แต่ถ้าปีไหนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ฉันจะเห็นก้อนทุกข์ปกคลุมทั่วครอบครัว แววตาของแม่จะหม่นเศร้ามากกว่าใคร เพราะแม่รักนา มันเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่บรรพบุรุษเหลือไว้ให้ลูกสาวอย่างแม่ นอกเหนือจากสายเลือดลูกชาวนาที่เข้มข้นกว่าสิ่งใด

นาเรา “ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่มีคลองชลประทาน” ชีวิตของเราจึงอยู่ในเงื้อมมือของธรรมชาติ 100% ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือฝนนั่นเอง และไม่เพียงฝนต้องตกตามฤดูกาล แต่ต้องมีปริมาณที่พอดี เพราะปีไหนไม่มีฝนคือไม่มีข้าว ถ้ามากไปก็ท่วม น้อยไปข้าวก็ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ มีโรคระบาด เราจึงบอบบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

นาที่บ้านฉัน “ปลูกข้าวได้ปีละครั้ง เฉพาะช่วงฤดูฝน” อย่างที่อธิบายข้างต้น เรารอฝน และฝนก็มีปีละครั้ง รอบของการผลิตเริ่มต้นที่ปลายเดือนเมษายนและไปจบเอาปลายเดือนพฤศจิกายน คือใช้เวลาในนาทั้งหมดร่วมๆ 8-9 เดือนเลยทีเดียวที่เราต้องอยู่กับนา กับข้าว กับเครื่องมือการเกษตร หมดฤดูทำนาก็ยังต้องอยู่กับนาเพื่อเลี้ยงควายและวัว จึงนับว่าเราใช้เวลาทั้งหมดในนา นาจึงเป็นชีวิต เป็นวิถีปฏิบัติ เป็นจิตวิญญาณ เป็นความเข้าใจโลก และเป็น Everyday life นั่นเอง

จริงๆแล้วชาวนาอย่างแม่ อย่างครอบครัวของเรา และชาวนาอื่นๆ ทำนากันเก่งมาก เป็นผู้เชี่ยวชาญ แม่ทำนาตั้งแต่จำความได้ จนตอนนี้อายุ 70 ก็ยังทำอยู่ และแม่ทำคนเดียว 17 ไร่ จ้างคนช่วยบ้าง ไม่จ้างบ้าง เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าแรงและแรงงานก็หายาก เพราะทุกคนก็ทำของตัวเอง ชาวนาแบบแม่ขยันขันแข็ง ไม่เคยท้อแท้ต่ออาชีพของตัวเองเลย และแม้การปรับตัวจะเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะล้วนต้องอิงกับปัจจัยภายนอกที่หมายถึง ฤดูกาล นโยบายรัฐ ข้อจำกัดของการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิต เงินทุน แหล่งน้ำและชลประทาน เราจึงได้แต่ฝากชีวิตและความหวังไว้กับฤดูกาลและความไม่แน่นอนของราคาผลผลิต

“การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี” จึงเป็นเหมือนหลักประกันเดียวว่าทุนและแรงที่ลงไปทั้งหมดมีสิ่งที่การันตี หมายถึงข้าวจะรวงงามสม่ำเสมอ ไม่มีโรค รา เพลี้ยลงนาข้าว ให้ข้าวเสียหาย บ่อยๆที่คนตั้งคำถามซ้ำๆว่าใส่ทำไมสารเคมี ปุ๋ย ฉันคิดว่าชาวนาคงตอบซ้ำๆว่าเพื่อให้ข้าวงามและไม่มีโรค เพราะถ้าข้าวไม่งาม มีโรค ก็หมายถึงการล่มสลายไร้ซึ่งหลักประกัน นาอินทรีย์จึงเป็นทางสายที่ชาวนาจำนวนมากเสี่ยงไม่ได้ ไม่เลือก

แม่จะเริ่มต้นฤดูกาลตอนเดือนหก (หลังสงกรานต์) ด้วยมีขั้นตอนสำคัญ ขั้นแรกสุดเลยคือ การไหว้ตาแฮก-ยายแฮก เช้าตรู่วันที่ได้ฤกษ์ลงนา แม่จะเตรียมข้าวเหนียว อาหารที่หาได้ รวมทั้งยาสูบ เหล้าขาว ใส่กระทงไปไหว้ที่ต้นแก (ต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง) ที่หัวนา แม่บอกฉันว่า “บรรพบุรุษของเรารวมทั้งตา-ยายอยู่ที่นี่ ไม่เคยไปไหน และคอยอวยพรให้เราได้ข้าวเยอะๆ ไม่มีเพลี้ย ไม่แล้ง ขายข้าวได้ราคาดีๆ”

“ป้านคันนา (ทำคันนา)” เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่คนแถวบ้านฉันต้องทำ ก่อนฝนจะมาเราต้องมั่นใจว่าคันนาจะสูงและมั่นคงพอที่จะกักน้ำได้ตลอดจากนี้อีก 4-5 เดือน เพราะฝนทุกเม็ดที่หล่นจากฟ้า ดินจะดูดซับอย่างรวดเร็ว อย่างที่บอกที่บ้านฉันนาเป็นดินทราย เราจึงจำเป็นต้องให้คันนาสูงที่สุด และลุ้นตลอดว่าฝนที่ตกมานั้นจะเต็มคันไหม แต่ถ้าตกมากเกินไป คันนาแตกหรือขาด เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องรีบแก้ไข “ต้องป้านคันนาใหม่”

“ไถนาฮุด” คือการไถเพื่อกลับดินให้หญ้าตาย เพื่อเตรียมลงกล้า เตรียมดำนา ใช้เวลาร่วม 2 เดือนกว่าจะไถเสร็จ วิถีดั้งเดิมของบ้านฉันคือ การไถนาด้วยควาย จึงใช้เวลานาน แต่ละเมียดละไม เพราะนอกจากเราจะตระหนักถึงจิตวิญญาณของอาชีพชาวนา เรายังตระหนักถึงบุญคุณของวัว-ควายที่ช่วยในกระบวนการทำนา และทำให้เราเสียเงินไปกับปุ๋ยเคมีน้อยลง ทำให้ชาวนาอย่างฉันมีภาพความทรงจำว่าครั้งหนึ่งฉันได้ขี่ควาย ได้เล่นน้ำกับควาย ได้ดูแลกัน และบ่อยๆควายก็แกล้งฉัน แน่นอนตัวแสบแบบฉันก็เอาคืนมันด้วย

จะว่าไปฉันอยากพูดถึงควาย ซึ่งภาษาอีสานจะออกเสียงว่า “ควย” นั้น ในบริบทของสังคมไทยกระแสหลัก “ควย (ออกเสียงด้วยภาษาลาว ภาษาอีสาน) เป็นคำด่าที่หยาบคาย” ฉันต้องการเรียกร้องให้ยุติการเหยียบย่ำควย (ควาย) เพราะเวลาที่ชาวนา คนอีสานพูดถึงควยหรือควาย เราไม่ได้กำลังด่าใคร และไม่ใช่คำหยาบคายในตัวของมันเอง

“ความรัก ความผูกพันของชาวนาต่อควายและวัวของเขา” สะท้อนผ่านภาพแม่ของฉันที่เลี้ยงดูควายของเธอเป็นอย่างดี หมดฤดูที่สามารถเลี้ยงควายกลางทุ่ง เมื่อทุ่งหญ้าเปลี่ยนเป็นทุ่งนา แม่และฉันจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปเกี่ยวหญ้าให้ควาย หญ้าแก่ๆแม่จะไม่เกี่ยวมาให้ควายให้วัวของแม่กิน เพราะมันไม่อร่อย แม่ว่า นอกจากเราจะเลี้ยงเขาด้วยหญ้าสด แม่ยังเลี้ยงด้วยรำ จนทุกตัวของแม่อ้วนกลม และเมื่อถึงคราวที่เราจะต้องขายวัว-ควายไป ฉันก็ได้แต่น้ำตาไหล ภาพแม่เอามือลูบวัว-ควายของเธอและพูดเบาๆข้างหูเป็นภาพที่ฉันจำติดตา ฉันไม่เคยได้ยิน ว่าแม่พูดว่าอะไร แต่ฉันรู้ว่าทั้งคู่เจ็บปวดจนไม่มีคำจะบรรยาย และแม้เขียนถึงฉันก็ยังคงร้องไห้

“ดำนาผง” คืออีกความเจ็บปวด ความแร้นแค้นที่ฉันหาคำเปรียบเปรยไม่ได้ ฉันจำได้ว่าฉันเจอกับการทำนาแบบนั้นอยู่ 1-2 ครั้งในชีวิตวัยเด็ก มันคือการใช้ควายไถนาที่ไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียว เราต้องเอากล้าเหี่ยวๆที่รอดตายเพราะความอึดไปปักลงบนดินที่ฝนทิ้งช่วง ฉันตระหนักว่าชาวนาแต่ละคนมีความสามารถที่จะรับมือกับสิ่งนี้ต่างกัน นาลุ่มอาจจะดีหน่อย คืออยู่ใกล้น้ำ แต่ก็ต้องมีเงินซื้อน้ำมัน มีเงินเช่าเครื่องสูบน้ำถึงจะสามารถสูบน้ำขึ้นมาดำนาได้ แล้วก็ต้องไปลุ้นเอาอีกทีว่าหลังจากดำไปแล้วจะมีฝนมาไหม “แม่พาฉันดำนาโดยปักต้นข้าวเหี่ยวๆลงไปบนดินทรายแห้งๆ” อย่างที่ฉันบอก ฉันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ว่าแม่รู้สึกอย่างไร แม้กระทั่งตัวฉันเองก็ไม่รู้จะพรรณนาถึงมันอย่างไร

ฉันยังจำภาพหนึ่งติดตาคือ ภาพที่แม่เอาถังไปตักน้ำมารดข้าวที่ปลูก แม่พูดกับต้นข้าวของตัวเองว่า “ขอให้รอดนะ” ฉันเห็นความหวังของผู้หญิงคนหนึ่งต่อต้นข้าว แรงกาย แรงใจและจิตวิญญาณของเธอ ท่ามกลางความสิ้นหวัง ไร้ที่พึ่งพิง เพราะแม้แต่ฤดูกาลก็ไม่เข้าข้างเรา

“ถอนหญ้า หว่านปุ๋ย ดูคันนา ดูหนอน ดูแมลง เกี่ยวหญ้าให้วัว ควาย” เหล่านี้เกิดขึ้นควบคู่กันกับการหาปู หาปลา ซึ่งเป็นการไปนาทุกวันหลังการดำนาแล้วของชาวนา แปลว่าแม้จะดำนาเสร็จเราก็ยังมีงานในนาที่ต้องทำ

“เกี่ยวข้าว” สำหรับแม่คือการเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะแปลงที่รวงข้าวหนักๆ แม่จะมีความสุขมาก เพราะนั่นหมายถึงผลผลิตที่มากขึ้น ต่างกับฉันที่ทำหน้าหน้าเหยเก เพราะมือน้อยๆรับน้ำหนักข้าวไม่ไหว เด็กอย่างฉันอาจจะไม่ได้สนุกเท่าไร เดือดร้อนแม่ต้องหาของเล่นให้ จำได้ว่าแม่สอนฉันทำปี่จากซังข้าว และฉันก็เป่ามันไปด้วย เกี่ยวข้าวไปด้วย เพลินทีเดียว เราเกี่ยวข้าวและตากไว้แบบนั้น จนบ่ายก็จะมัดและเก็บไปกองรวมกันที่ลานข้าว

“ฟาดข้าว (นวดข้าว)” เป็นขั้นตอนที่ฉันได้ทำน้อยสุด เพราะตอนนั้นฉันเด็กเกินกว่าจะนวดข้าวได้ แม้ความทรงจำผ่านการลงมือปฏิบัติจะเลือนราง แต่ภาพเด็กน้อยๆนอนรอแม่ พ่อ นวดข้าว ดูดาว เผาข้าวหลาม และผิงไฟอุ่นๆ กระจ่างชัดพอๆกับคืนเดือนหงายที่พระจันทร์เต็มดวง และแม้ในคืนข้างแรมดาวบนฟ้าก็ส่องประกายวาววับ ฉันจำดาวไถที่รูปร่างเหมือนไถ ดาวห่าว (เป็นชื่อดาวที่แม่เรียก) เป็นดาวที่บอกเวลา ซึ่งแม่สอนให้ฉันดูดาว ฉันชอบการนวดข้าว ฉันชอบที่เห็นแม่มีความสุขกับการได้เห็นผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของแม่ แม่สะท้อนความสุขผ่านการร้องเพลง ซึ่งในภาวะปรกติฉันแทบจะไม่ได้ยินแม่ทำแบบนั้นเลย

“เล้าข้าว (ฉางข้าว)” เป็นสิ่งสะท้อนปริมาณผลผลิตได้ดีทีเดียว บ้านไหนเล้าใหญ่แปลว่ามีข้าวเยอะ ก็จะมีฐานะที่ดีหน่อย แต่ที่บ้านเป็นเล้าขนาดกลางๆ เราย้ายเอากองข้าวจากลานนามาที่บ้าน โดยการจ้างวัวเทียมเกวียนขนข้าวมาใส่เล้า ฉันจำไม่ได้ว่าค่าจ้างเที่ยวละเท่าไร แต่ฉันชอบนั่งไปกับเกวียน อ้อ… ครั้งสุดท้ายที่เราได้จ้างเกวียนขนข้าวมาที่เล้าเนี่ยได้สัก 15 เกวียน ซึ่งตอนนั้นฉันไม่รู้หรอกว่ามากหรือน้อย แต่คนที่มีนาเยอะที่สุดเกือบ 100 ไร่ เขาได้มากกว่า 100 เกวียนแน่ๆ

“ราคาที่ชาวนาไม่สามารถควบคุมเองได้ และเป็นไปตามกลไกของตลาดที่มีการเมืองคอยแทรกแซงตลอดเวลา เป็นเหมือนผีที่คอยตามหลอกหลอนชาวนาอย่างแม่ เพราะราคาต้นทุนที่แท้จริงคือค่าความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ค่าแรงตลอดทั้งปีที่ชาวนาต้องขลุกอยู่ที่นา ราคาเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และแม้แม่ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง แต่คนอื่นๆใช้ก็ต้องนับค่ายาด้วย ค่าเกวียน ค่าแรงวัวควายที่ช่วยเราทำนา”

ต้นทุนเหล่านี้หายไปจากการคำนวณราคาข้าว กลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม และการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวในทุกยุคทุกสมัย เพราะไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับอาชีพที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทำ โดยนับจากภูมิภาคที่ยังทำนาอยู่คือ อีสาน เหนือ ตะวันตก กลาง และใต้บางส่วน

ในมุมมองของชาวนาอย่างฉัน การคำนวณราคาข้าวที่แท้จริงต้องคำนวณจาก 1.ราคาที่ดิน 2.ค่าความชำนาญ 3.ค่าแรง 4.ค่าเมล็ดพันธุ์ 5.ค่าเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งรวมทั้งเครื่องมือและค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และต้องมี 7.กำไร เพื่อเป็นทุนในการดำรงชีวิตของคนในอาชีพนี้ด้วย

ดังนั้น ราคาข้าวที่แท้จริงที่เราต้องซื้อจากชาวนาคือกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท เพราะนี่คือราคาที่เป็นธรรมที่จะทำให้อาชีพนี้อยู่และมีที่หยัดที่ยืนในสังคม และเป็นราคาที่ฉันคำนวณตามจริง เพราะฉันเป็นชาวนา ฉันทำ และฉันคำนวณมันด้วยมือของฉันเอง

นั่นสะท้อนข้อเท็จจริงว่า ข้าวทุกเม็ดในแต่ละจานที่เรากินอยู่อย่างเอร็ดอร่อยในบ้านเมืองนี้คือการเชือดเฉือน กินเลือดกินเนื้อของชาวนาด้วยความเลือดเย็น ข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 5 บาท 16 บาท ห่างไกลเป็นสิบเท่าจากราคาต้นทุนการผลิต แปลว่าชาวนาทำนาติดลบเพื่อให้คนในบ้านนี้เมืองนี้กินข้าวถูก ราคาค่าแรงจะได้ไม่แพง กำไรที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบแบบนี้ไปตกอยู่ในกระเป๋าของใคร

ถึงตอนนี้แล้ว “อย่าถามว่าทำไมชาวนาอยากได้นโยบายประกันราคาข้าว ทำไมชาวนาเป็นหนี้ ทำไมลูกชาวนาถึงไม่ทำนา ทำไมชาวนาถึงยอมขายนาที่เขารัก ทำไมแม่สอนว่าให้ไปเป็นเจ้าคนนายคน”

เพราะความเป็นธรรมต่อคนที่ทำอาชีพนี้ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ประเทศนี้


You must be logged in to post a comment Login