วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เมื่อคนนี้ถูกยึดทรัพย์.. คนนี้ก็คงรับของโจร? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On November 2, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“ดิฉันขอยืนยันจะใช้สิทธิทุกช่องทางทางกฎหมายที่มีในการต่อสู้ครั้งนี้ และขอปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ รวมถึงการใช้คำสั่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม และจะเปิดแถลงการณ์ในเวลาอันควร เพราะเป็นช่วงที่คนไทยทั้งประเทศโศกเศร้า เราคิดว่าเราคงจะไม่พูดอะไรมากในตอนนี้”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงการคลังส่งคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายในคดีโครงการรับจำนำข้าว 35,717 ล้านบาท (21 ตุลาคม) ว่า ได้รับหนังสือทางปกครองแล้ว การออกคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับตนเป็นอย่างมาก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องนโยบายและยังไม่เคยมีใครถูกกระทำในเวลาอันเร่งรีบมาก่อน ตนไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการพิจารณาค่าเสียหายตั้งแต่ต้น ส่วนจะทำอย่างไรต่อไปนั้นจะยังไม่ขอแถลงการณ์ใดๆขณะนี้จนกว่าจะถึงเวลาอันควร เพราะเป็นช่วงที่คนไทยกำลังโศกเศร้า

อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยังกล่าวว่า การดำเนินคดีนี้จะทำให้การบริหารนโยบายเพื่อชาวนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง การคิดถึงเรื่องกำไร ขาดทุน รัฐบาลต่อไปคงจะดูแลประชาชนและชาวนาได้ยากขึ้น และมาตรการต่างๆคงจะไม่สามารถมีได้อีกต่อจากนี้

ไม่ผิดแต่ปล่อยปละละเลย

การลงนามคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายในคดีโครงการรับจำนำข้าว 35,717 ล้านบาท โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามแทนนายกรัฐมนตรี และนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยค่าเสียหายที่เรียกจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ 35,717 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของความเสียหายทั้งหมด 178,586,365,141.17 บาท ส่วนความเสียหายที่เหลืออีกร้อยละ 80 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องชดใช้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ และอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวอีก 80% นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวว่า คดีความที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวและ ป.ป.ท. พิจารณาอยู่มีทั้งหมด 986 คดี ได้ทยอยส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาและมีมติสั่งให้ไต่สวนแล้ว 125 คดี หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการตามจำนวนคดีและตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาชี้มูลต่อไป หากมีมูลและเป็นคดีอาญาจะส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องร้อง หากเป็นเรื่องวินัยหรือค่าเสียหายจะส่งให้ต้นสังกัดดำเนินการตามขั้นตอน โดยยืนยันว่าการทำงานของ ป.ป.ท. เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทำงานตามขั้นตอน และทุกชุดอนุกรรมการจะทำงานอย่างรวดเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (25 ตุลาคม) กรณีที่ทนายอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยื่นต่อศาลปกครองเพื่ออุทธรณ์คำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวในเดือนพฤศจิกายนนี้ว่า ก็ถือเป็นสิทธิไม่ว่าใครก็ตามที่จะเรียกร้องหรือยื่นอุทธรณ์ ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายระบุว่า ตามขั้นตอนหากอุทธรณ์ไม่ได้ก็ไปขอทุเลาในชั้นศาลได้ ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปรกติ ตนมีหน้าที่ในการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น และไม่เคยบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถูกหรือผิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากพอสมควร ก็ต้องไปชี้แจงกันในชั้นศาล ส่วนที่มองว่าคำสั่งทางปกครองขัดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้น ได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อปี 2539 ยืนยันว่าไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ แล้วจะให้ตนว่าอย่างไรต่อได้

“มันเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ฝ่ายกฎหมายยืนยันว่าไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ ดังนั้น หากมีข้อชี้แจงอย่างไรก็ขอให้ไปชี้แจงในชั้นศาล อย่ามาชี้แจงกันในสื่อ ผมจะไม่ขอพูดตอบโต้ในเรื่องเหล่านี้อีก เพราะผมถือว่าผมนำเรื่องเหล่านี้เข้าไปแล้ว อย่างไรก็ขอให้ไปชี้แจงด้วยหลักฐานที่มีอยู่ อย่าลืมว่าทุกคดีผมไม่ได้เริ่มต้น เป็นคดีที่ค้างคามานาน ผมก็ต้องรับมาปฏิบัติต่อไปในกระบวนการยุติธรรม เมื่อเข้าไปแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ของผมตรงนี้ ขอให้รอฟังว่าผลจะออกมาอย่างไร ไม่อยากให้สร้างความขัดแย้งต่อไปในทุกเรื่องในสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แม้เจ้าหน้าที่รัฐหากไม่ผิด แต่ปล่อยปละละเลยก็ถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งรัฐบาลใช้กับทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้ทำเพื่อความสะใจ และไม่เกี่ยวกับเรื่องพวกพ้อง

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ว่า “ไม่ได้ระบุว่าถูกหรือผิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก จึงต้องมีการชี้แจงในศาล” นั้น นายพชร ธรรมมล หรือฟลุค เดอะสตาร์ 5 ได้โพสต์เฟซบุ๊ค Phachara Thammon ถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า “ลุงตู่เหมือนยอมรับว่าคุณยิ่งลักษณ์ไม่ผิด แต่โครงการรับจำนำข้าวทำรัฐเสียหายเยอะ แม้เป็นการพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตรเอาไว้ให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรพอใจ แต่คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้เงิน 35,000 กว่าล้าน ลุงตู่ทำรัฐประหาร (นิรโทษกรรมแล้ว) ก็ไม่ผิด แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายเยอะกว่ารับจำนำข้าวเสียอีก แถมความเสียหายนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและพี่น้องเกษตรกร นายกฯตู่ต้องชดใช้หรือไม่ครับ ด้วยความเคารพ”

ขณะที่กระแสโซเชียลได้เปรียบเทียบคดีโครงการรับจำนำข้าวกับคดีนายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการ ปรส. พร้อมพวก กระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ ปรส. กับเอกชนโดยมิชอบ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 800,000 ล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ศาลอาญาตัดสินว่านายอมเรศและนายวิชรัตน์มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การฯ ให้จำคุกจำเลยทั้งสองเป็นเวลา 2 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่ศาลเห็นว่าทั้งสองทำคุณให้กับประเทศชาติและมีอายุมาก จึงเห็นสมควรให้กลับตัวกลับใจ โทษจำคุกจึงรอลงอาญา 3 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี พร้อมบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ไม่เซ็นเพราะกลัวถูกฟ้องกลับ

นายคณิน บุญสุวรรณ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า คำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ แล้วยังไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีก เพราะ 1.คณะรัฐมนตรีที่นำเอาบทบัญญัติในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญไปจัดทำเป็นโครงการและแถลงต่อรัฐสภาแล้วนั้น ย่อมเป็นทั้งเอกสิทธิ์และหน้าที่ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2.ถ้าดูตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังต้องได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการเสียก่อนจึงจะกำกับดูแลงานในกระทรวงได้ แต่งานนี้ไม่ใช่งานในกระทรวง ถือเป็นงานของสำนักนายกฯ

ดังนั้น อย่าว่าแต่รัฐมนตรีช่วยจะข้ามหัวรัฐมนตรีว่าการไปรับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เซ็นคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเลย แม้แต่รัฐมนตรีว่าการก็ไม่มีสิทธิเซ็นหรือมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยเซ็นคำสั่งทางปกครองในลักษณะนี้

“ส่วนนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ที่ไม่กล้าเซ็นเองเพราะรู้ดีว่าถ้าขืนเซ็นไปนอกจากจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์แล้ว ยังจะถูกร้องขอให้รัฐบาลในอนาคตออกคำสั่งเรียกค่าชดใช้ความเสียหายจากทุกโครงการที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินนโยบายสาธารณะอีกด้วย” นายคณินกล่าว

เช่นเดียวกับนายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ กล่าวว่า การออกคำสั่งทางปกครองเป็นสิ่งไม่ชอบธรรม เพราะ 1.ต้องมีการทำละเมิดกับเอกชนจนรัฐต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชน ซึ่งต้องมีการตัดสินคดีว่ารัฐละเมิดเอกชนจนต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชน 2.ผู้รับผิดชอบที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดหมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ได้หมายรวมถึงนายกรัฐมนตรี 3.ความชัดเจนตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯในมาตรา 10 ต้องทำละเมิดหน่วยงานรัฐที่สังกัด ไม่ใช่การทำละเมิดต่อรัฐ ซึ่งรัฐในที่นี้หมายถึงประเทศไทย ถ้ากล่าวหาว่าละเลยต่อหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้ไม่ใช่การทำละเมิดต่อหน่วยงานรัฐ แต่เป็นเรื่องความผิดต่อรัฐหรือประเทศไทย หากผิดจริงตามที่กล่าวหา รัฐจะต้องฟ้องแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อศาลยุติธรรมปรกติ 4.ถ้าบังคับใช้กฎหมายถูกต้องตามข้อ 3 ผลคือการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องไม่ผิดสภาพในการใช้กฎหมายตามมาตรา 44 ด้วยการออกคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจบังคับคดีตามคำสั่งทางปกครอง

นายวันชัยยังกล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเป็นการใช้กฎหมายที่ขัดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องระบุให้ชัดเจนว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มีความผิดอย่างไร เพราะในอนาคตหากมีการฟ้องกลับจะได้ดำเนินการฟ้องทั้งทางละเมิดและหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 35,000 ล้านบาทกลับคืนบ้าง

“ยิ่งลักษณ์” เหยื่อการทำลายล้าง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การใช้คำสั่งทางปกครองกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เท่ากับสร้างเงื่อนไขที่ทำลายความหวังของชาวนา จึงเรียกร้องให้หยุดใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ ทำลายประชาธิปไตยและนิติรัฐ ตนเห็นใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่เผชิญความกดดันครั้งสำคัญของชีวิตจากนโยบายและความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้ชาวนาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้มอบความไว้วางใจเลือกเข้ามาบริหารประเทศ แต่ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำทั้งโดยการรัฐประหารและใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทั้งที่ไม่มีตำแหน่งและรัฐธรรมนูญก็ถูกยกเลิกแล้ว เพื่อทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เร่งรัดรีบเร่งไต่สวนคดีทั้งหลายเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี

นายภูมิธรรมยังตั้งคำถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีนำนโยบายที่แถลงและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อรัฐหรือ ที่ผ่านมามีโครงการสาธารณะจำนวนมากที่ใช้งบประมาณแก้ปัญหา แต่ไม่ปรากฏว่ามีอดีตนายกรัฐมนตรีท่านใดต้องรับผิดชอบ แม้จะเห็นชัดเจนว่ามีความเสียหายต่องบประมาณของรัฐ ที่สำคัญคือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีความชอบธรรมที่จะชี้ผิดถูกกับรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจหรือไม่

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ผู้รู้ทางกฎหมายหลายท่านตั้งประเด็นว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้คุมนโยบายมิใช่เจ้าหน้าที่รัฐตามบทนิยามของกฎหมายนี้ ยังไม่นับรวมประเด็นว่าการกระทำทางนโยบายไม่เป็นการละเมิดตามความหมายของกฎหมายนี้แต่อย่างใด การออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้ยึดและอายัดทรัพย์จึงจะยิ่งสร้างความขัดแย้งในสังคม เพราะประชาชนตระหนักดีว่าอดีตนายกฯเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม

“ผมไม่มีอะไรที่จะขอร้องรัฐบาล เพราะดูเหมือนท่านจะปักธงของท่านไว้แน่น แต่ในฐานะผู้เกี่ยวข้องเช่นในฐานะผู้คิดและมีส่วนกำหนดนโยบาย ในฐานะเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยอาศัยกลไกรัฐประหารยึดอำนาจมาโดยตลอด ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจผนึกกำลังความคิดและสติปัญญาโดยวิถีทางแห่งอารยชนช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้รอดพ้นจากอันตรายใดๆ ผมเชื่อว่าท่านมิได้ทำอะไรผิด แต่ตกเป็นเหยื่อของการทำลายล้างบนความแตกแยกร้าวฉานของสังคมไทยที่มีมาโดยช้านานนั่นเอง”

ยุติธรรมเหมาเข่งประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Banyong Pongpanich เรื่องคดีโครงการรับจำนำข้าวและผลกระทบที่จะตามมาว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรับจำนำข้าวและแสดงความเห็นคัดค้านมาตลอดว่าทำให้ข้าวไทยถอยหลังแล้วยังมีความเสียหายมากมาย แต่ก็ยอมรับว่าชาวนาได้รับประโยชน์บางส่วน แต่ไม่คุ้มค่า เช่น เสียหาย 500,000 ล้านบาท ชาวนาได้รับประโยชน์อย่างมากแค่ครึ่งเดียวคือ 250,000 ล้านบาท ส่วนที่หายไปไม่ใช่เป็นการโกงทั้งหมด โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่หายไปกับความไร้ประสิทธิภาพของระบบมากกว่า ส่วนการโกงมีแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ข้าราชการ และนักการเมือง แต่ไม่น่าจะเกิน 50,000 ล้านบาท ตนไม่เห็นด้วยกับการเร่งรัดรวบรัดเกินไปในการเอาผิดกับหัวหน้ารัฐบาลที่ทำเรื่องนี้และทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

“จะต้องคิดให้ดีนะครับว่ามัน “ยุติธรรม” จริงไหม กับจะส่งผลกระทบอะไรต่อไปอีกบ้าง อย่างข้อหาที่ว่า “ทำนโยบายที่มีการเปิดโอกาสให้มีการทุจริตได้” ผมอยากถามเลยว่า ในประเทศนี้มีนโยบายอะไรบ้างที่รัฐจ่ายเงินแล้วไม่มีโอกาสเกิดทุจริตเลยแม้แต่น้อย ผมกลัวว่าถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้นแทนที่เราจะไปหาว่าใครโกง กระบวนการไหนที่บกพร่องจับคนผิดคนโกงมาลงโทษ ว่ากันไปตามเนื้อผ้า เรากลับเล่นหัวตลอดลำตัวไปถึงหางอย่างนี้ว่าใครอยู่ในกระบวนการต้องรับผิดชอบหมดทุกคน ไม่ว่าโกง ไม่โกง ใครมีอำนาจต้องโดนหมด ไม่ว่าจะได้ประโยชน์เข้าพกเข้าห่อหรือไม่ แถมใจร้อนใช้กระบวนการเร่งรัด ใช้ศาลเดียว ใช้อำนาจยึดทรัพย์เร่งด่วน ไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้ตามครรลอง (เหมือนคดีกรุงไทยแหละครับที่ผมขอยืนยันว่าผู้ที่ถูกลงโทษทั้ง 20 กว่าคน ไม่ใช่ทุกคนที่มีการทุจริตอย่างแน่นอน แต่ดันตัดสินรวบยอดในศาลเดียว)”

นายบรรยงยังเตือนว่า หากทำเช่นนี้ต่อไปก็จะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย เพราะนโยบายที่จะปลอดทุจริตร้อยเปอร์เซ็นต์ในประเทศนี้เวลานี้หาแทบไม่มี

“ลองคิดดูว่าประเทศไทยเป็นระบบที่รัฐใหญ่ทั้งขนาดบทบาทและอำนาจ เรามีกฎข้อบังคับกว่าแสนฉบับ แถมขยันออกกฎใหม่เพิ่มทุกวัน รัฐธรรมนูญใหม่ก็มุ่งเน้น “ขยายรัฐ” เข้าไปอีก แต่ในขณะเดียวกันกลับมีภาครัฐที่มีแต่ความกลัว ไม่กล้าทำอะไรใหม่เลย อย่างนี้ไม่เรียกว่า “ติดกับดัก” ตัวเองแล้วจะเรียกอะไร ไม่ต้องหวัง 4.0 อะไรจากประชาชนหรอกครับถ้ารัฐยังเป็นแค่ 2.0 อยู่”

ถ้าเรามีกระบวนการยุติธรรมที่อาจไปลงโทษคนที่แค่พลาด คนที่ไม่ได้โกง คนที่กล้าทำ คนที่แค่ไม่ได้ตรวจกฎให้ครบแสนฉบับก่อนลงมือทำ อีกหน่อยจะมีใครกล้าทำอะไรกัน ทุกคนย่อม “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” กันไปหมด ประเทศจะเดินได้อย่างไร ไม่ใช่ไม่ให้ดำเนินคดีหรือสอบสวนเอาผิดคนที่ทำให้เสียหาย เพียงแต่ให้แยกแยะให้ดีและใช้กระบวนการที่ยุติธรรมจริงๆ และต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ขณะนี้ด้วย

เมื่อคนนี้ถูกยึดทรัพย์.. คนนี้ก็คงรับของโจร?

จึงไม่แปลกที่จะเกิดปฏิกิริยามากมายทันทีที่มีการลงนามคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายในคดีโครงการรับจำนำข้าวจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ทั้งที่คนไทยทั้งแผ่นดินกำลังอยู่ในบรรยากาศความโศกเศร้า

ปฏิบัติการอีกด้านหนึ่งก็ดำเนินการต่อไป จนทำให้ถูกมองว่าเป็นการฉวยโอกาสเล่นงานอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์โดยหวังไม่ให้ฝ่ายที่สนับสนุนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก่อความวุ่นวายหรือลุกขึ้นมาปกป้องหรือไม่?

กระบวนการยุติธรรมภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จากการรัฐประหาร โดยเฉพาะการใช้อำนาจมาตรา 44 ที่ถูกตั้งคำถามมากมายว่าไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร จึงยิ่งทำให้ถูกตั้งคำถามว่าทั้งหมดก็เพียงเพื่อต้องการกำจัดตระกูลชินวัตรและเครือข่ายให้สะเด็ดน้ำใช่หรือไม่?

แน่นอนว่าการใช้มาตรการยึดและอายัดทรัพย์มีแต่ชนะ ไม่มีแพ้ ถ้าจ่ายก็เท่ากับยอมรับว่าผิด ถ้าดื้อแพ่งก็บังคับยึดทรัพย์ ฟ้องล้มละลาย เพราะใช้คำสั่งมาตรา 44 เปิดช่องให้กรมบังคับคดีทำการยึดทรัพย์แทนกระทรวงการคลังไว้เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ถูกกำจัดออกจากเส้นทางการเมือง หากจะหนีคดีก็ยิ่งเข้าทางกลุ่มผู้มีอำนาจ จนนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมชื่อดัง โพสต์เสียดสีว่า “หาเงินไม่เก่ง แต่ยึดทรัพย์เก่ง” ทั้งยังตั้งคำถามว่า หากทำนาแล้วไม่ได้กำไร ทำไมชาวนาไม่เลิกทำนา ซึ่งก็เป็นคำถามที่ไม่ง่ายที่จะตอบ

เช่นเดียวกับคำถามว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าวร่ำรวยอย่างมหาศาล แต่ทำไมชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน และเป็นหนี้เป็นสินจนยากที่จะเยียวยา

ขณะที่ลูกชาวนาอย่าง น.ส.มัจฉา พรอินทร์ นักรณรงค์หญิงรักหญิงที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ SOGIE (sexual orientation, gender identity and expression) สิทธิเด็ก สิทธิชาติพันธุ์และสิทธิสตรี ในระดับประเทศและนานาชาติ ได้บรรยายถึงชีวิตชาวนาในบทความ “ราคาข้าวและชาวนา กับเสียงที่ไม่มีคนได้ยิน” ว่า เพราะข้าวทุกเม็ดในแต่ละจานที่กินอย่างเอร็ดอร่อยในบ้านเมืองนี้ก็คือ การเชือดเฉือน กินเลือดกินเนื้อของชาวนาด้วยความเลือดเย็น เพื่อให้คนในบ้านนี้เมืองนี้กินข้าวถูก ส่วนกำไรที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบไปตกอยู่ในกระเป๋าของใคร จึงอย่าถามว่า “ทำไมชาวนาอยากได้นโยบายประกันราคาข้าว ทำไมชาวนาเป็นหนี้ ทำไมลูกชาวนาถึงไม่ทำนา ทำไมชาวนาถึงยอมขายนาที่เขารัก ทำไมแม่สอนว่าให้ไปเป็นเจ้าคนนายคน” เพราะความเป็นธรรมต่อคนที่ทำอาชีพนี้ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ประเทศนี้ (อ่านเพิ่มเติมหน้า 6)

เสียงของชาวนาจึงไม่มีคนได้ยินในบ้านนี้เมืองนี้ เพราะแม้แต่คนที่พยายามช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากและขายข้าวได้ในราคาที่เป็นธรรมจากโครงการรับจำนำข้าวยังถูกกล่าวหาต่างๆนานา และกำลังจะถูกยึดทรัพย์ เพราะความยุติธรรมภายใต้อำนาจเผด็จการแบบไทยๆที่อะไรก็เกิดขึ้นได้

ดังนั้น เมื่ออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มีความผิดเพราะโครงการรับจำนำข้าวก็ต้องถือว่าเป็น “โจร”

ชาวนาจึงสมควรถูกไล่เบี้ยในความผิดฐาน “รับของโจร” และเรียกเงินคืนด้วยหรือไม่? เพราะมีหลักฐานในการโอนเงินค่าจำนำข้าวทุกบาททุกสตางค์เข้าบัญชีชาวนาผ่านธนาคารของรัฐอย่างชัดเจนขนาดนี้

ไหนๆจะไล่บี้ยึดทรัพย์ “อีปูว์” ด้วย “เกมกลปล้นจนชิน (วัตร) ภาค 2” แล้ว ก็น่าจะไล่เบี้ยไปถึงชาวนาที่รับเงินไปด้วย และจะดีอย่างยิ่งถ้าจะย้อนไปไล่ยึดทรัพย์อดีตนายกฯทุกรัฐบาลที่ผ่านมาด้วยเสียเลย เพราะไม่เคยมีรัฐบาลไหนเลยที่ไม่มีนโยบายช่วยอุดหนุนให้แก่เกษตรกรแม้แต่รัฐบาลเดียว ทุกรัฐบาลยอมทำความเสียหายเพื่อช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรผู้ยากไร้มาแล้วทั้งสิ้น

น่าเสียดายที่น้ำดันท่วมเอกสารจนเอกสารชำรุดสูญหายและคดีหมดอายุความ จน ป.ป.ช. ไม่สามารถเอาผิดรัฐบาลอื่นๆได้

ไม่เช่นนั้นรัฐบาล “คนดี” ปัจจุบันจะมีรายได้เข้ารัฐอีกหลายแสนล้านจากการยึดทรัพย์ ไม่ใช่แค่ยึดทรัพย์จากตระกูลชินวัตรเท่านั้น!!?


You must be logged in to post a comment Login