วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ลักพาศพ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On November 7, 2016

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

โจรไม่ทราบจำนวนบุกรุกเข้าไปในสุสานยามวิกาล ลักลอบขุดศพและรีบขนหนีออกไปอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศพเคราะห์ร้าย และอาจไม่มีใครให้ความสนใจหากไม่ใช่ศพของอภิมหาเศรษฐีอันดับที่ 3 ของอเมริกา

เช้าวันที่ 7 พฤศจิกายน 1878 แฟรงค์ ปาร์เกอร์ ผู้ดูแลสุสานโบสถ์เซนต์มาร์กในกรุงนิวยอร์ก รู้สึกประหลาดที่เห็นกองดินกองหนึ่งกลางสุสาน เขาสำรวจรอบสุสานแต่ไม่พบสิ่งผิดปรกติใดๆ

แต่แฟรงค์ยังเคลือบแคลงใจ เขาขอแรงพระลูกวัดให้ช่วยยกป้ายสุสานที่จารึกคำว่า “STEWART” ซึ่งล้มลงกับพื้น ทำให้พบหลุมว่างเปล่า สิ่งที่หายไปคือแผ่นเงินจารึกชื่อและร่างเจ้าของหลุมศพ

ศพที่หายไปไม่ใช่ศพคนทั่วไป แต่เป็นศพของอเล็กซานเดอร์ สต๊วร์ต อภิมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเป็นอันดับที่ 3 ของอเมริกา ณ วันที่เสียชีวิตเขามีทรัพย์สินประมาณ 46,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน (วิกิพีเดียประเมินว่าอาจสูงถึง 90,000 ล้านดอลลาร์)

เสื่อผืนหมอนใบ

อเล็กซานเดอร์เกิดที่เมืองลิสเบิร์น ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อปี 1801 พออายุได้ 18 ปี เขาตัดสินใจเดินทางมาเสี่ยงโชคที่อเมริกา หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นครูในโรงเรียนเอกชนและช่วยดูแลร้านขายของแลกกับอาหารและที่พัก และนั่นเป็นที่มาของความสนใจการทำธุรกิจร้านขายปลีกในเวลาต่อมา

1 ปีผ่านไป อเล็กซานเดอร์เดินทางกลับมาที่บ้านเกิดเพื่อรับมรดกที่ปู่ทิ้งให้ไว้ราว 3,000 ดอลลาร์ เขานำเงินทั้งหมดซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อของเมืองลิสเบิร์นคือผ้าลูกไม้และผ้าลินิน ซึ่งได้ชื่อว่ามีความสวยงามและคุณภาพดี

อเล็กซานเดอร์ขนผ้าลูกไม้และผ้าลินินกลับมาที่นิวยอร์ก เช่าร้านเล็กๆแห่งหนึ่งบนถนนบรอดเวย์ เขาลาออกจากอาชีพครูและยึดการค้าขายเป็นอาชีพหลักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้แต่งงานกับคอร์นิเลีย คลินช์ ในปีเดียวกันนี้เอง

อเล็กซานเดอร์อยู่ถูกที่ ถูกเวลา เพราะในช่วงเวลานั้นนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางแหล่งจำหน่ายสินค้าที่จำเป็น ไม่ใช่เฉพาะคนในรัฐนิวยอร์กเท่านั้น แม้แต่คนในรัฐข้างเคียงก็ยังเดินทางมาซื้อหาสินค้าที่นิวยอร์กด้วยเช่นกัน

เจ้าพ่อค้าปลีก

กิจการค้าปลีกเติบโตอย่างรวดเร็ว อเล็กซานเดอร์สรรหาสินค้าชนิดอื่นๆมาขาย เขาเชื่อว่าเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกไม่ใช่ทำเลที่ดี หากแต่เป็นราคาสินค้าที่ถูกกว่าร้านอื่นในละแวกเดียวกัน

จากห้องเช่าเล็กๆในปี 1825 ก็ขยายกลายเป็นร้านขนาดใหญ่ อาคารสูง 4 ชั้น สร้างด้วยหินอ่อนในปี 1848 ได้รับการขนานนามว่าเป็นจุดเริ่มต้นของห้างสรรพสินค้า

ปี 1862 อเล็กซานเดอร์สร้างอาคารสูง 6 ชั้น บนถนนบรอดเวย์ ช่วงระหว่างถนนสายที่ 8 และ 9 ขายสินค้าแทบจะทุกชนิด มีพนักงานราว 2,000 คน ได้ชื่อว่าเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคสมัยนั้น

อเล็กซานเดอร์ได้รับสมญานามว่าเป็นเจ้าชายธุรกิจค้าปลีก แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เขาวางแผนที่จะทำธุรกิจแบบครบวงจร โดยลงทุนสร้างโรงงานทอผ้าขนสัตว์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับตัดเย็บเสื้อขนสัตว์ที่จะนำมาวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า

เกลือเป็นหนอน

อเล็กซานเดอร์เสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 1876 ทิ้งมรดกมูลค่ากว่า 46,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน โดยไม่มีทายาทคนอื่นนอกจากคอร์นิเลียผู้เป็นภรรยา

ร่างของอเล็กซานเดอร์ถูกนำไปฝังในสุสานเซนต์มาร์กเป็นการชั่วคราว เพราะเขาได้สร้างวิหาร Cathedral of the Incarnation ที่เมืองการ์เดนซิตี เพื่อใช้เป็นสุสานประจำตระกูล ซึ่งมีกำหนดจะก่อสร้างเสร็จในปลายปี 1878

ศพของอเล็กซานเดอร์ถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 1878 ก่อนหน้ากำหนดเวลาขุดร่างเขาขึ้นมาเพื่อนำไปฝังที่วิหารเพียงสัปดาห์เดียว จึงไม่น่าจะเป็นเหตุบังเอิญ คนร้ายอาจจะรู้กำหนดเวลาจึงรีบชิงลงมือก่อน

ตำรวจพบแม่กุญแจล็อกประตูรั้วทางเข้าสุสานตกอยู่ข้างถนน ไม่พบร่องรอยการงัดแงะ ทำให้เชื่อได้ว่าคนร้ายมีกุญแจ แต่ไม่พบข้อพิรุธใดๆจากการสอบปากคำคนดูแลสุสานและพระ

ตื่นตระหนก

ตำรวจเชื่อว่าคนร้ายต้องการเรียกค่าไถ่ศพ เพราะอเล็กซานเดอร์ร่ำรวยมหาศาล แต่เรื่องนี้ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวนิวยอร์กทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย เพราะในยุคสมัยนั้นมีการขโมยศพเพื่อนำร่างไปศึกษาทางการแพทย์ แต่ศพประเภทนี้เป็นศพที่เพิ่งเสียชีวิต ไม่ใช่ศพที่ตายค้างปีอย่างกรณีของอเล็กซานเดอร์

คอร์นิเลียประกาศให้รางวัล 25,000 ดอลลาร์กับผู้ที่สามารถให้เบาะแสที่ซ่อนศพสามีของเธอ มีจดหมายกว่า 700 ฉบับอ้างว่ารู้ที่ซ่อนศพ แต่ไม่มีใครสักคนที่พิสูจน์ได้ว่ามีข้อมูลจริง

เดือนมกราคม 1879 พอลโจนส์ หัวหน้าไปรษณีย์เมืองนิวยอร์ก ได้รับจดหมายส่งมาจากมอนทรีล ประเทศแคนาดา โดยชายใช้ชื่อว่าโรเมน อ้างว่าเขามีร่างของอเล็กซานเดอร์ ต้องการให้พอลทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายและต่อรองกับครอบครัวอเล็กซานเดอร์

พอลขอให้โรเมนพิสูจน์ว่ามีร่างของอเล็กซานเดอร์จริง โรเมนจึงส่งพัสดุบรรจุแผ่นป้ายเงินติดหลุมฝังศพอเล็กซานเดอร์ สต๊วร์ต มาให้ พอลรีบติดต่อกับตำรวจทันที

มีแต่พระเจ้าที่รู้

เฮนรี่ ฮิลตัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและคนสนิทของอเล็กซานเดอร์สมัยที่ยังมีชีวิต ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าไถ่ศพ และกล่าวหาว่าพอลเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด การเจรจาไม่เป็นผล และโรเมนก็หายเข้ากลีบเมฆ ไม่ส่งข่าวอีกเลย

ปี 1887 อดีตอธิบดีกรมตำรวจนิวยอร์กเปิดเผยว่า เมื่อปี 1884 คอร์นิเลียได้รับการติดต่อจากคนร้าย เธอส่งหลานชายไปพบคนร้ายที่จุดนัดพบ หลังจากคนร้ายได้เงินค่าไถ่จำนวน 20,000 ดอลลาร์ พวกเขาก็ส่งมอบถุงบรรจุกระดูก

กระดูกของอเล็กซานเดอร์ถูกนำไปฝังในสุสานที่วิหาร Cathedral of the Incarnation ตามเจตนารมณ์ของเขา และหลังจากที่คอร์นิเลียเสียชีวิตในปี 1886 ร่างของเธอก็ถูกนำไปฝังข้างๆสามี

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สเขียนบทความตั้งข้อสงสัยว่า คอร์นิเลียถูกฝังเคียงข้างศพสามีของเธอจริงหรือ? ไม่มีใครรู้ว่าคนร้ายคืนร่างของอเล็กซานเดอร์จริงหรือเปล่า

ไมเคิล สนิฟฟิน เจ้าอาวาสวิหาร Cathedral of the Incarnation ปฏิเสธที่จะบอกตำแหน่งที่ฝังร่างของคอร์นิเลียและอเล็กซานเดอร์เพื่อป้องกันไม่ให้ศพถูกขโมยไปอีก แต่ที่แน่ๆไม่ได้อยู่ในสุสานที่สร้างเอาไว้


You must be logged in to post a comment Login