- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
Nobel Prize ‘Bob Dylan’ Blowin’ in the wind or mankind? / โดย เรืองยศ จันทรคีรี
คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี
ตอนเขียนบทความชิ้นนี้เป็นจังหวะที่ Bob Dylan นักร้องดังชาวอเมริกัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ก็เป็นเรื่องที่ฮือฮาไม่น้อยเลย ก่อนหน้านี้ผู้ได้รับรางวัลต้องเป็นนักเขียนนวนิยายที่จริงจัง แต่สำหรับ Bob Dylan แล้วแม้จะมีความสามารถรอบตัว เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง จิตรกร แต่ไม่ใช่นักเขียนนวนิยาย จึงถือว่า Bob Dylan คือนักแต่งเพลงคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลด้านวรรณกรรมได้
ผลงานของ Bob Dylan ที่ถูกใช้อ้างอิงในการประกาศรางวัลครั้งนี้คือ งานรวมเล่มบทกลอนที่เรียกว่า “กลอนเปล่า” หรือ prose poetry ซึ่งมักเป็นข้อเขียนหรือบทเพลงที่เขียนไว้อย่างกระจัดกระจายระหว่างปี 2508-2509 เอามารวมเล่มในหนังสือชื่อ “Tarantula” ซึ่งเป็นชื่อแมงมุมดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง มีอยู่ในโลกหลายร้อยสายพันธุ์ ตั้งแต่ในทะเลทรายถึงเขตร้อนชื้น แม้กระทั่งในประเทศไทยก็มี โดยเรียกว่า “บึ้ง” อาศัยอยู่ทั้งในรูใต้ดินและบนต้นไม้ มีคุณสมบัติที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ จะไม่ชักใยจับเหยื่อ แต่จะตามล่าเหยื่อ
อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่าเหตุสำคัญที่ทำให้ Bob Dylan ได้รับรางวัลครั้งนี้น่าจะมาจากความโดดเด่นในฐานะนักร้องเพลงต่อต้านสงคราม โดยเฉพาะบทเพลงชื่อ “Blowin’ in the Wind” ที่ดังกระหึ่มไปทั่วโลก มีผลอย่างมากในการต่อต้านสงคราม โดยเนื้อหาคือ “ถนนกี่สายกันที่คนเราต้องก้าวเดินไปก่อนที่คุณจะเรียกได้เต็มปากว่าเขาเป็นคนเต็มคน มหาสมุทรกี่แห่งกันหนอที่เจ้านกพิราบขาวบินผ่านก่อนที่มันจะได้หลับใหลบนผืนทราย และอีกกี่ครั้งกี่คราวที่ลูกกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงออกไปก่อนที่จะมีคนสั่งระงับไม่ให้ยิงออกไป… คำตอบนั้นหรือ เพื่อนของข้าทั้งหลาย มันอยู่ในสายลม คำตอบไม่มีหรอก…”
เมื่อกล่าวถึงบทเพลงของ Bob Dylan ก็ต้องยอมรับว่าเขาได้รับอิทธิพลสำคัญในแบบนักร้องชาวอังกฤษรุ่นพี่คือ John Lennon วงดนตรีสี่เต่าทอง ซึ่งพยายามต่อต้านสงครามและรณรงค์สร้างสันติภาพขึ้นในโลก โดยเฉพาะบทเพลงชื่อ “Imagine” ซึ่งมีผลไม่น้อยไปกว่าเพลง Blowin’ in the Wind แต่งานของ Bob Dylan ดูจะโดดเด่นกว่า มีการนำไปร้องหลายเวอร์ชั่นโดยนักร้องหลายคนในยุคนั้น แต่ไม่มีเวอร์ชั่นไหนโดดเด่นไปกว่าเวอร์ชั่นของ Bob Dylan
เขียนเรื่องสันติภาพของโลกก็ทำให้นึกถึงและวิตกกังวลแทนหลายคนเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่ง Arnold Toynbee เคยกล่าวถึงบ้างแม้จะไม่โดยตรง เขาเพียงบอกไว้ว่า เป็นเรื่องน่าวิตกกังวลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงในการทำลาย เพราะถ้าคนไม่อดทนพอและขาดคุณธรรม ความขัดแย้งทางการเมืองอาจบานปลายจนเกิดเป็นสงครามได้ ทำให้มีความเสี่ยงในการทำลายล้างชาติพันธุ์มนุษย์ Arnold Toynbee จึงให้ข้อคิดว่า กระบวนการสันติภาพในโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำประเทศใดๆ แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชากรโลกนั่นเอง
ข้อคิดตรงนี้อาจจะเติมคำตอบให้บทเพลงของ Bob Dylan ได้ เพราะสงครามและสันติภาพจะเป็นไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคนทั้งโลกนั่นเอง
เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่หลายคนวิตกนั้น ผมมีข้อสังเกตบางประการหากจะเกิดเป็นชนวนสงครามขึ้นมาจริงๆคือ 1.กระแสการปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องมีอยู่จริง เป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรซึ่งเป็นประเทศกลุ่มยุโรป ขณะที่อีกฝ่ายคือกระแสของวัฒนธรรมในแบบอิสลามที่มีขบวนการรัฐอิสาม (ISIS) เป็นหัวหอก ความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งของมหาอำนาจได้ ทั้งระหว่างสหรัฐ-จีน-รัสเซีย โดยเฉพาะในสถานการณ์ขณะนี้ที่จีนกลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในการครองอวกาศ
2.ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้จีนกลายเป็นประเทศที่รวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีทองคำสำรองมากที่สุด ขณะเดียวกันสหรัฐก็ย่ำแย่มาก มีหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก จึงมีผู้เชี่ยวชาญบางฝ่ายมองว่าระบบทุนนิยมของสหรัฐที่มีนายทุนยิวหนุนหลังอยู่มีความคิดที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการค้าสงคราม
จากข้อสังเกตทั้งหมดผมไม่สรุปว่าสงครามโลกจะเกิดขึ้นหรือไม่? แต่อยากจะกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ผมกับเพื่อนคนหนึ่งคือ คุณเศรณีย์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ได้พยายามจะแปลหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Third World War : The Untold Story ซึ่งเขียนโดย General Sir John Hackett นายพลชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของนาโต้ ผมกับนายพลคนดังกล่าวเคยเขียนจดหมายตอบโต้กันหลายครั้ง ในขณะนั้นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตยังไม่ก้าวหน้า ครั้งหนึ่งผมเคยถามว่าจะมีสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกเกิดขึ้นหรือไม่
ท่านนายพลกรุณาตอบจดหมายมาซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเขาเคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว โดยบอกว่า ถ้ามีสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็คงเป็นสงครามตามปรกติ มีการดำเนินไปโดยยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “การแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางนิวเคลียร์” คือจะเป็นนิวเคลียร์ที่จำกัดเขต และที่น่าวิตกมากคงจะเป็นเฉพาะ frontline ของนาโต้ที่อยู่ในทวีปยุโรปเท่านั้น
ย้อนมามองประเทศไทย ภายหลังการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพ่อหลวง เราต้องยอมรับว่าคนไทยทั้งประเทศเสียใจมาก แต่ก็มีแง่คิดหนึ่งว่าทุกคนควรจะตั้งสติกันได้แล้ว โดยการเดินตามรอยพ่อหลวงทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและหันหน้ารักใคร่สมานสามัคคีกัน เพราะปณิธานของพระองค์ที่ต้องการให้คนไทยเดินตามคือ ความสามัคคีและลดความแตกแยก เพื่อเตรียมตัวสู่การสร้างเอกภาพในชาติและก้าวหน้าต่อไปบนพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบพอเพียงและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
จบท้ายบทความนี้ผมคงต้องขอเปลี่ยนเนื้อร้องบทเพลงของ Bob Dylan ที่ว่า “The answer is blowin’ in the wind” เป็น “The answer is in consciousness mind of mankind” คือ บ้านเมืองและโลกมันจะเป็นไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้คนนี่แหละครับ
You must be logged in to post a comment Login