- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
คนดี-ระบบอุปถัมภ์-เผด็จการ / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
เคยได้ยินอาจารย์คนหนึ่งบอกว่า “นักวิชาการบางคนก็พูดหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอะไรต่ออะไรดีอยู่ดอก แต่เขาอาจไม่ใช่คนดีก็ได้ ศีล 5 รักษาได้กี่ข้อก็ไม่รู้ บางคนยังดื่มเหล้าเบียร์อยู่เลย” ผมยังจำได้จนทุกวันนี้
ว่าตามความหมายของคนดีที่นิยมพูดกันในสังคมไทย อาจารย์คนนั้นก็เป็น “คนดี” คนหนึ่ง เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ รับผิดชอบครอบครัว ก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน พูดจาดี อ่อนน้อมถ่อมตน มีมนุษยสัมพันธ์ แต่ผมก็มีคำถามในใจว่า คนดีแบบอาจารย์ที่ผมรู้จักนี้เคยทำอะไรที่เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องหลักการที่ถูกต้องหรือความยุติธรรมทางสังคมหรือไม่ นึกไม่ออกว่าเคยเห็นบทบาทด้านนี้ของแก
ผมคิดว่าบรรดาคนที่ไปล้อมบ้านคนที่พวกเขาเชื่อว่า “ทำผิด” ตามที่เป็นข่าวที่ภูเก็ต พังงา เป็นต้น คนเหล่านั้นก็น่าจะเป็น “คนดี” และทำลงไปด้วย “เจตนาดี” ที่ต้องการปกป้องบุคคลที่ตัวเองรัก
หรือพูดรวมๆ หลายคนที่เข้าไปร่วมงานกับอำนาจรัฐประหารก็มีประวัติและภาพลักษณ์ว่าเป็น “คนดี” ทั้งนั้น แต่ถึงที่สุดแล้ว “คนดี” เหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย และทำถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย
นึกถึงทฤษฎีศีลธรรมของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ที่มองว่าคนที่นิสัยดี หรือที่เรามองว่าเป็น “คนดี” ไม่จำเป็นต้องทำ “สิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรม” เพราะการทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ได้ดูจากตัวผู้กระทำว่าเป็นคนเช่นไร แต่ดูว่าเขา “กระทำถูกต้องตามหลักการ” หรือไม่
คือการกระทำที่ดีหรือถูกต้องดูจากการทำตามหลักการที่ถูกต้อง ได้แก่ หลักการที่เป็นสากลและเคารพความเป็นคนเท่ากัน หรือหลักการที่เสรีและเป็นธรรมกับทุกคน เคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคนเท่าเทียมกัน
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากว่า “คนดี” ในบ้านเรามักไม่ให้ความสำคัญกับการทำตามหลักการที่ถูกต้องดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นสถานะความเป็น “คนดี” ยังถูกถือเป็น “ข้อยกเว้น” ที่จะไม่ทำตามหลักการที่ถูกต้อง นี่คือเรื่องน่าเศร้าของสังคมไทยที่เป็นสังคมอุดมศีลธรรมและคนดี
สังคมไทยเป็นสังคมที่ยึดติดใน “ตัวบุคคล” มากกว่า “หลักการสากล” หรือหลักการที่เสรีและเป็นธรรมสำหรับ “ทุกคน” เสมอกัน เป็นสังคมที่คนส่วนน้อยสามารถสวมภาพลักษณ์ของ “คนดี” เข้ามามีตำแหน่ง มีอำนาจ กินภาษีประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องมาอย่างถูกต้องตามหลักการและกติกาประชาธิปไตย แต่มาตามอำนาจรัฐประหารและระบบอุปถัมภ์
ฉะนั้นวัฒนธรรมยึดติดตัวบุคคลที่เป็น “คนดี” อำนาจเผด็จการ และระบบอุปถัมภ์ จึงไปด้วยกันอย่างกลมกลืน และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง
วัฒนธรรมทางสังคมดังกล่าวถูกผลิตและผลิตซ้ำภายใต้โครงสร้างอำนาจการปกครองที่กำหนดให้รัฐบาล หน่วยงานราชการ สร้างนโยบายประชานิยมเอาใจคนข้างบนอย่างล้นเกิน แต่การสร้างนโยบายช่วยเหลือคนข้างล่าง ชาวนา คนใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำ คนจน กลายเป็นเรื่องที่ถูกจับผิด เป็นเรื่อง “มอมเมา” ประชาชน ต้องสร้างกติกา สร้างกลไกมาควบคุมจับผิดอย่างเข้มงวด ขณะที่การสร้างนโยบายประชานิยมเอาใจคนข้างบนไม่จำเป็นต้องจริงจังกับเรื่องการตรวจสอบเลย สังคมแบบนี้จะหา “ความยุติธรรม” ได้อย่างไร อะไรคือ “ความพอเหมาะพอดี” หรือสายกลางอย่างที่พูดๆกัน
จะว่าไปพุทธศาสนาไทยย่อมมีส่วนสำคัญในการสร้าง “คนดี” ภายใต้วัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคมดังกล่าว แต่เมื่อไปสำรวจดูคำสอนของพุทธะจริงๆ กลับพบว่าพุทธะไม่ได้เน้นการสอนเรื่อง “คนดี” แบบที่พุทธไทยเน้นกัน ในเทศนาครั้งแรกและในพระสูตรจำนวนมาก พุทธะเน้นการพัฒนาคนให้แสวงหาความรู้ (พหูสูต) มีปัญญาหรือทัศนคติที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) มีความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ) แล้วการพูดที่ถูกต้อง (สัมมาวาจา) และการกระทำที่ถูกต้อง (สัมมากัมมันตะ) ก็จะเกิดตามมา
ฉะนั้นคุณสมบัติที่ดีโดยพื้นฐานของคนที่พุทธะเน้นมากก็คือ การเป็นคนใฝ่ศึกษาเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดปัญญาหรือทัศนคติที่ถูกต้อง มีความคิดที่ถูกต้องที่ส่งผลให้พูดและกระทำอย่างถูกต้อง
การใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ปัญญาและความคิดที่ถูกต้องสัมพันธ์กับความจริง หลักการที่ถูกต้องและอิสรภาพ หรือความเป็นตัวของตัวเอง เพราะการเกิดปัญญาหมายถึงการรู้เข้าใจความจริง 2 ด้านหลักๆคือ ความจริงของโลกและชีวิตและความจริงเกี่ยวกับทุกข์และความพ้นทุกข์ (อริยสัจ)
การรู้ความจริงอย่างแรกจะทำให้เราปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องของสังคม หรือทำให้เรามีทัศนคติที่ถูกต้องทางสังคม พุทธะเรียกทัศนคติเช่นนี้ว่า “โลกียสัมมาทิฐิ” หมายถึงการมีความเห็นถูกต้องในหลักการที่ดีทางโลก เช่น ในสมัยก่อนสังคมเขาเชื่อเรื่องกรรม บุญคุณของบิดามารดา เป็นต้น พุทธะก็รับรองว่าความเชื่อเช่นนั้นมีประโยชน์ต่อการทำให้สังคมสงบสุข จึงถือว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้องที่คนเราควรมี
แต่หลักการที่ถูกต้องทางโลกเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในโลกปัจจุบันหลักการที่ถูกต้องคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถ้าเรานำคำสอนของพุทธะเรื่อง “การมีความเห็นที่ถูกต้องทางโลก” (โลกียสัมมาทิฐิ) มาประยุกต์ใช้ ก็ย่อมจำเป็นที่เราต้องพัฒนาคนในสังคมให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีความเห็นที่ถูกต้องในหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการพูด การกระทำ (การแสดงออก) ที่ถูกต้องตามหลักการดังกล่าว การสอนศีลธรรมของพุทธศาสนาไทยอาจเป็นไปในทางที่ก้าวหน้าขึ้น เคารพคุณค่าสมัยใหม่มากขึ้น
ไม่ใช่การเน้นสอนคนให้เป็น “คนดี” ที่มีความหมายเบลอๆ แล้วก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมยึดติดในตัวบุคคลดังที่กล่าวมา ซึ่งทำสืบเนื่องกันมายาวนานจนฝังรากลึก
You must be logged in to post a comment Login