วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คสช.วิจารณ์ได้ / โดย ลอย ลมบน

On November 8, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

คำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1244/2559 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าน่าสนใจ และอาจเป็นจุดเปลี่ยนบางอย่างทางการเมือง

คดีที่ว่าเป็นคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อายุ 58 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2559 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้โพสต์แสดงข้อความหัวข้อ “อีคิวต่ำไปหน่อย” ในบัญชีแฟนเพจเฟซบุ๊คชื่อ “Watana Muangsook” โดยมีข้อความอันเป็นเท็จทำนองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกนายกรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่คืนอำนาจให้ประชาชน

ความจริงขณะที่จำเลยนำเข้าข้อมูลนั้น คสช. ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญและจัดให้มีขั้นตอนการออกเสียงจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นการยึดอำนาจตลอดไป

ในการกระทำดังกล่าวจำเลยยังแสดงข้อความทำนองว่า คสช. เลือกไม่ปฏิบัติ และใช้มาตรารัฐธรรมนูญล้างผิดให้ตัวเองและคณะที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบ ทั้งที่ความจริงไม่มีใครหนีการตรวจสอบ การกระทำของจำเลยจึงทำให้เกิดความเสียหายต่อ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร และ คสช.

คดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งเป็นผู้ออกหมายเรียกจำเลยให้มารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ เหตุเกิดที่แขวงหนองบอน เขตประเวศ และแขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

จากการเปิดเผยของนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของนายวัฒนา ระบุว่า เมื่อศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องนายวัฒนา เนื่องจากเห็นว่าข้อความที่วิจารณ์ทำนองว่า คสช. อยู่ลากยาว และยังไม่มีการจัดเลือกตั้งนั้น เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต

การนำสืบชั้นพิจารณามีนายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เบิกความถึงข้อเท็จจริงในสถานการณ์ว่า ปัจจุบัน คสช. ยังคงอยู่ และยังไม่มีการจัดเลือกตั้ง ดังนั้น กรณีนี้ไม่ใช่การนำความเท็จเผยแพร่ แต่เป็นการแสดงความเห็นที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ อัยการโจทก์สามารถยื่นอุทธรณ์ผลการตัดสินได้ภายใน 30 วัน ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ หากมีการยื่นอุทธรณ์ ผลการพิจารณาจะออกมาอย่างไร

ขณะที่นายวัฒนากล่าวว่า คดีนี้ คสช. ใช้อำนาจไม่ถูกต้องตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เนื่องจากนำกำลังไปควบคุมตัวเองถึงบ้านพัก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นบรรทัดฐานให้เห็นว่าการใช้กฎหมายตามอำเภอใจจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ที่บอกไว้ตอนต้นว่าคดีนี้อาจเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. ก็เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ในหลายเรื่อง แต่ที่ผ่านมายังไม่อยากแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

เมื่อมีคำพิพากษาของศาลเป็นบรรทัดฐาน คนเหล่านี้ก็คงอุ่นใจได้อย่างหนึ่งว่าอย่างน้อยถ้าถูกแจ้งความดำเนินคดีก็ยังมีโอกาสได้รับความเป็นธรรมจากศาล เป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจ คสช. ไม่ได้ครอบคลุมไปทุกองค์กร

ที่สำคัญยังเป็นบทเรียนให้ คสช. ด้วยว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้รู้สึกรำคาญ รู้สึกว่าถูกท้าทายอำนาจ กับเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องกัน

หากรู้จักเลือกสังเคราะห์คำวิจารณ์ที่ดีเอาไปปรับใช้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่ามองทุกเรื่องเป็นการเมืองที่คอยจ้องทำลาย


You must be logged in to post a comment Login